- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Saturday, 20 June 2015 18:45
- Hits: 2796
ซีพีเอฟ คว้ารางวัล ESG 100 Company จากสถาบันไทยพัฒน์
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้รับรางวัล ESG 100 Company จากสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะองค์กรที่มีผลดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จำนวน 100 บริษัท หรือกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ซึ่งเป็นการจัดอันดับหลักทรัพย์ด้านการพัฒนาความยั่งยืนทางธุรกิจเป็นครั้งแรกของประเทศ ด้วยการประเมินข้อมูลด้านความยั่งยืนของหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน 567 บริษัท โดย นายวีรชัย รัตนบานชื่น รองประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ รับมอบประกาศนียบัตร ESG 100 Company จาก ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ณ ห้องบอร์ดรูม อาคาร ซีพีทาวเวอร์ ถนนสีลม กรุงเทพฯ
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า รางวัล ESG100 เป็นรางวัลที่สถาบันไทยพัฒน์ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ โดยคัดเลือก 100 บริษัทหลักทรัพย์ให้เป็น Universe ของ ESG โดยหลักเกณฑ์ที่ใช้ทำการคัดเลือกมาจากแหล่งข้อมูล 6 แห่ง อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และเกณฑ์ของสถาบันไทยพัฒน์ ฯลฯ ซึ่งพิจารณาการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยสถาบันฯ เข้าไปวิเคราะห์เพิ่มเติมสายโซ่คุณค่า มุมมองของผู้มีส่วนได้เสีย และการดำเนินงานในระยะยาว ซึ่งล้วนตอบโจทย์ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ในส่วน Operation ของซีพีเอฟมีความหลากหลาย ดังนั้นการที่ซีพีเอฟได้เน้นการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน การดำเนินงานกับผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะส่วนที่เป็น Supply Chain ทำให้เกิดความโดดเด่น ได้รับการยอมรับจากสังคม สำหรับในส่วนของธรรมาภิบาล คะแนนที่ซีพีเอฟได้รับกถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างโดดเด่น ทำให้ซีพีเอฟจัดอยู่ในลำดับต้น ๆ ในธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร” ดร. พิพัฒน์ กล่าว
ด้านนายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า การที่ซีพีเอฟได้รับรางวัล ESG 100 Company จากสถาบันไทยพัฒน์ ถือเป็นเครื่องพิสูจน์การดำเนินงานด้านซีเอสอาร์ที่โดดเด่น ซึ่งซีพีเอฟได้ดำเนินงานซีเอสอาร์สู่ความยั่งยืน โดยมีโรดแมปที่ชัดเจนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา และได้ดำเนินงานตามแนวทางนี้มาตลอด โดยให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล นอกจากนี้การได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารและพนักงานทั้งองค์กร ทำให้แนวทางการปฏิบัติงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืนเป็นที่ยอมรับและมีมาตรฐานในระดับสากล
สำหรับ องค์ประกอบที่สำคัญในการขับเคลื่อนซีเอสอาร์สู่ความยั่งยืน คือทุกเรื่องจะต้องมาจากภายในและต้องเกิดการยอมรับก่อนจึงจะเกิดแรงสนับสนุน ซึ่งจะทำให้สามารถเดินไปด้วยกันทั้งองคาพยพ ดังนั้นถ้าเราทำให้ความสำคัญแต่เพียงการทำซีเอสอาร์กับสังคมภายนอกโดยไม่สนใจและได้รับการสนับสนุนจากภายใน คงไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ดังเช่นปัจจุบันนี้
นอกจากนี้การให้ความรู้กับพนักงานที่เป็น CSR Reader ถึงแนวคิดและกระบวนการทำซีเอสอาร์ที่เป็นระบบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจซีเอสอาร์ที่ถูกต้อง และดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันเป็นสิ่งที่สำคัญ ในขณะเดียวกันต้องมีการวางแผนและกลยุทธ์ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดพลังร่วมในการดำเนินงานด้านซีเอสอาร์