- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Tuesday, 19 May 2015 09:14
- Hits: 3355
ปตท. เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เปิด 'โครงการป่าในกรุง' พื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ของคนกรุง
ณ โครงการป่าในกรุง ถนนสุขาภิบาล 2 เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด ‘โครงการป่าในกรุง’ ในการนี้ ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการ และภาพรวมของโครงการป่าในกรุง โดยมีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จและถวายรายงาน
ดร.ไพรินทร์ เปิดเผยว่า ห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ปตท. ได้อาสาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ ทั่วภูมิภาคของประเทศ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งสามารถบรรลุถึงเป้าหมายเป็นอย่างดี แต่เมื่อมาทบทวนดูก็พบว่ามีสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ตัวมากแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ นั่นก็คือ การสร้างป่าให้กับคนกรุงเทพ จึงได้เริ่มสร้างสรรค์พื้นที่ของ ปตท. กว่า 12 ไร่ บนถนนสุขาภิบาล 2 เขตประเวศ พัฒนาเพื่อให้เป็นป่าธรรมชาติ ที่มีแนวคิดแตกต่างจากสวนสาธารณะอย่างสิ้นเชิง และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อ “โครงการป่าในกรุง”
“โครงการป่าในกรุง” ถูกพัฒนาโดยแบ่งสัดส่วนเป็นพื้นที่ป่า 75 % พื้นที่เอนกประสงค์ 15 % และแหล่งน้ำ 10 % พื้นที่ปลูกป่าธรรมชาติให้มีต้นไม้หลายระดับชั้นเรือนยอด รวบรวมพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของกรุงเทพ และการจำลองสังคมพืชแบบต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยพันธุ์ไม้กว่า 250 ชนิด ปลูกขึ้นหนาแน่นอย่างเป็นธรรมชาติ และด้วยความเป็นธรรมชาตินี้ การเข้าชมพื้นที่ป่าต้องให้รบกวนผืนป่าน้อยที่สุด จึงสร้างเส้นทางชมเรือนยอด เชื่อมต่อกับหอชมป่า ที่ให้มุมมองผ่านเรือนยอดต้นไม้ เชื่อว่าจะเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่จะให้ความรู้ และสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือนไปพร้อมกัน
นอกจากนี้ ยังมีอาคารประหยัดพลังงาน ภายในจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเจ้าฟ้านักอนุรักษ์ รวมไปถึงการถ่ายทอดสภาพแวดล้อมของเมืองกรุง เมล็ดพันธุ์และสภาพป่าดั้งเดิมของกรุงเทพฯ และเรื่องราวของโครงการป่าในกรุง ผ่านรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจ
ปตท. มุ่งหวังว่า โครงการป่าในกรุง จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นให้คนเมืองหลวง ได้รับรู้ถึงความสำคัญ และร่วมมือร่วมใจในการรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน ดร.ไพรินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ โครงการป่าในกรุงได้เข้าร่วมประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ในโครงการสนับสนุนกิจการลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Supporting Scheme : LESS) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยในปี 2558 นี้ ป่ามีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ 68.24 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และปลดปล่อยออกซิเจน 54.59 ตันออกซิเจน