WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บทเรียนจาก'แม่เมาะ' แม้'ชัยชนะ'แต่ก็'สูญเสีย'


    นับเป็นบทเรียนครั้งประวัติศาสตร์ สำหรับความสูญเสียที่เกิดกับชาวบ้านแม่เมาะ จ.ลำปาง และผลกระทบที่เกิดกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายหลังจากมีการเรียกร้องและการต่อสู้คดีมายาวนานกว่า 10 ปี

    เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำตัดสิน

     เป็นคำตัดสินกรณีที่ชาวบ้านเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ยื่นฟ้องศาลปกครอง กล่าวหาว่า กฟผ.ในฐานะเป็นผู้ถือประทานบัตรการทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ละเลยไม่ปฏิบัติตามวิธีการทำเหมืองแร่ และเงื่อนไขท้ายประทานบัตร รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมืองแร่ แผนผังโครงการ และเงื่อนไขท้ายประทานบัตรหลายประการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จนก่อให้เกิดมลพิษ และทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับอันตรายต่อชีวิต สุขภาพอนามัย และทรัพย์สินเสียหาย 

คดีนี้ชาวบ้านแม่เมาะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่เมื่อปี 2546 

วันที่ 4 มีนาคม 2552 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำพิพากษาให้ฝ่ายชาวบ้านชนะคดี แต่ กฟผ. ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

การต่อสู้คดีดำเนินมาถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลปกครองเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด สรุปได้ว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กฟผ.ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม

คำพิพากษาดังกล่าวถือเป็นที่สุด กฟผ.ต้องดำเนินการตามคำพิพากษาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

หมายความว่า กฟผ.ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้

อย่างไรก็ตาม คดีที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์นั้น ไม่มีเรื่องการเยียวยา

กลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ได้เรียกร้องค่าเสียหายจาก กฟผ.อีกหลายคดี โดยเฉพาะคดีที่ชาวบ้านกลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ นำโดย นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ต่อสู้มานานกว่า 10 ปี เพื่อให้ กฟผ.จ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะของ กฟผ. แพร่กระจายสารพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากระทบชาวบ้าน สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม จำนวน 131 คนที่เหลือในปัจจุบัน หลังจากล้มตายลงไป โดยเรียกร้องค่าเสียหาย 1,086 ล้านบาท ซึ่งศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 นี้เวลา 14.00 น. ณ ศาลปกครองเชียงใหม่ 

นางมะลิวรรณกล่าวว่า ต่างคนต่างใจจดจ่อว่าผลพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดจะออกมาเป็นอย่างไร ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเป็นปีที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้า ได้ฟ้องร้อง กฟผ.หลายคน ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 19 ราย ใช้เวลาฟ้องร้องกว่า 10 ปี

ถึงแม้ศาลปกครองเชียงใหม่เป็นศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้ กฟผ.จ่ายเงินเยียวยา แต่มีการยื่นอุทธรณ์ต่อ ทำให้คดียืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.จะเร่งดำเนินการตามคำสั่งศาลภายในระยะเวลา 90 วันตามกำหนด คือ การดำเนินกิจการเหมือง กฟผ.คำนึงถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด

สำหรับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตรการบางมาตรการในการดูแลสิ่งแวดล้อม ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว เนื่องจากบางมาตรการมีแนวทางดำเนินการได้ดีกว่ามาตรการเดิม อาทิ การทำม่านน้ำเพื่อลดฝุ่นละลอง มีมาตรการที่ดีกว่า คือ การปลูกต้นสนเป็นกำแพงธรรมชาติ ต้นสนเหล่านั้นมีความสูงมากกว่าม่านน้ำ ม่านน้ำอาจไม่มีความจำเป็น ทาง กฟผ.ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองตลอดเวลา และยังบำบัดน้ำเสีย จากที่จะใช้แบคทีเรียบริเวณรากของต้นกกย่อยซัลเฟสปนเปื้อนในน้ำ พบว่าสามารถใช้จุลินทรีย์ประเภทไม่ใช้ออกซิเจนหรืออนาเอโรบิคย่อยได้ดีกว่า

นายสุนชัยกล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา กฟผ.ไม่ได้ละเลยการดูแลสิ่งแวดล้อม อีกทั้งพยายามปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ตามข้อมูล ข้อเท็จจริง และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป กฟผ.ยินดีที่มีข้อยุติในประเด็นปัญหาต่างๆ และคิดว่าน่าจะทำให้เกิดบรรยากาศของความเข้าใจอันดีระหว่างชุมชนบางส่วนที่ยังมีความวิตกกังวลกับการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า กฟผ. โดย กฟผ.ถือว่าชุมชนแม่เมาะเป็นเพื่อนบ้านของเรา

ทางด้าน น.ส.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต้องตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติตามที่ระบุในอีไอเอหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าจะไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ ถือเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่น่าตกใจ ไม่เฉพาะกรณีของโรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะเท่านั้น โครงการอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกหลายโครงการในประเทศไทยก็แทบจะตรวจสอบกันไม่ได้เลยว่ามีการปฏิบัติตามข้อตกลงในอีไอเอหรือไม่ จะมีก็แต่เจ้าของโครงการเขียนรายงานเสนอ สผ. หรือคณะกรรมการผู้ชำนาญ (คชก.) รับรู้เท่านั้น ประชาชนหรือผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงในพื้นที่ของโครงการนั้นจะไม่มีโอกาสได้รับรู้หรือตรวจสอบได้เลย

"ประเด็นที่อยากจะให้เกิดขึ้นในตอนนี้ คือ กระบวนการตรวจสอบอีไอเอ ว่าหลังจากโครงการเกิดขึ้นแล้ว เจ้าของโครงการได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดหรือไม่ เรื่องนี้ภาครัฐที่รับผิดชอบต้องเข้มแข็งมากกว่านี้" น.ส.อาภากล่าว

ส่วนการเยียวยาตามที่ชาวบ้านแม่เมาะฟ้องร้องนั้น คงต้องรอถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำตัดสินออกมาอย่างไร?

แต่ไม่ว่าผลคดีจะออกมาเช่นไร ก็ไม่คุ้มกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นอยู่ดี 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!