- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Monday, 05 January 2015 22:20
- Hits: 7087
รีไซเคิลพลาสติกอนาคตสดใส...ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ผลิตภัณฑ์พลาสติกนับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เนื่องจากสินค้าอุปโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่มักผลิตมาจากพลาสติกหรือมีพลาสติกเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นถังขยะ เก้าอี้ ถังน้ำ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน หรือบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น อย่างไรก็ดีผลิตภัณฑ์พลาสติกส่วนใหญ่ที่ใช้ในประเทศไทยกลับเป็นพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ประกอบกับมีปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเภทบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง อาทิเช่น ขวดน้ำดื่ม ถุงหิ้ว ถุงใส่อาหาร ถุงขนมขบเคี้ยว กล่องใส่อาหาร แก้วกาแฟ ขวดแชมพู และขวดใส่สารเคมี เป็นต้น จึงก่อให้เกิดปัญหามลพิษที่มาจากขยะพลาสติก
การนำขยะพลาสติกมาแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่หรือการรีไซเคิล (Recycle) จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการลดปริมาณขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกได้เป็นอย่างดี
เพิ่มมูลค่าจากขยะพลาสติก
จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ในปี 2556 มีปริมาณขยะพลาสติกที่มาจากการบริโภคในชุมชนและการใช้งานในอุตสาหกรรมประมาณ 2.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 13.1 จากปี 2554 คิดเป็นการบริโภคพลาสติกกว่า 32.1 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งขยะพลาสติกดังกล่าวได้สร้างปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ในขณะที่การบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับพลาสติกมีราคาถูก น้ำหนักเบา มีคุณสมบัติยืดหยุ่น และทนความร้อนได้ดี จึงทำให้ถูกนำมาใช้ในการขึ้นรูปหรือเป็นส่วนประกอบสำคัญในสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายชนิดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในประเภทใช้แล้วทิ้ง จึงก่อให้เกิดปริมาณขยะพลาสติกต่อวันเป็นจำนวนมหาศาล
การรีไซเคิลจึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่มีส่วนช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและช่วยลดปริมาณขยะ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ขยะพลาสติกได้อีกด้วย โดยในปัจจุบันอุตสาหกรรมพลาสติกรีไซเคิลในประเทศไทยมีความก้าวหน้าไปมาก โดยมีการรีไซเคิลขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2556 มีการรีไซเคิลขยะพลาสติกกว่า 0.8 ล้านตัน เติบโตกว่าร้อยละ 48.8 จากปี 2554 ที่มีการรีไซเคิลขยะพลาสติกอยู่ 0.5 ล้านตัน
เนื่องด้วยพลาสติกมีหลายประเภทด้วยกัน ซึ่งแต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน อาทิ ความใส ความแข็ง หรือจุดหลอมเหลว เป็นต้น การแยกประเภทขยะพลาสติกจึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อกระบวนการรีไซเคิล อย่างไรก็ดีด้วยระบบการจัดการขยะพลาสติกของไทยในปัจจุบันที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ประกอบกับผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะ จึงก่อให้เกิดความยุ่งยากต่อการคัดแยกประเภทขยะก่อนนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาขยะพลาสติกในไทยถูกนำไปรีไซเคิลเฉลี่ยเพียงร้อยละ 34.2 ของขยะพลาสติกทั้งหมด ในขณะที่ขยะพลาสติกที่ไม่ถูกนำไปรีไซเคิลมีมากถึงร้อยละ 65.8 ของขยะพลาสติกทั้งหมด นั่นหมายความว่าขยะพลาสติกถูกนำไปรีไซเคิลอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น เพราะยังมีขยะพลาสติกอีกมากที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการคัดแยกประเภทขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลได้ และแน่นอนว่าขยะพลาสติกที่ไม่ถูกนำไปรีไซเคิลเหล่านี้จะถูกนำไปกำจัดแบบทั้งที่ถูกวิธีและไม่ถูกวิธี หรือไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมตามมา
ฝึกนิสัยแยกขยะขาย
รายได้เพิ่มจากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า กระบวนการคัดแยกประเภทขยะพลาสติก เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมพลาสติกรีไซเคิลเป็นอย่างยิ่ง โดยในปัจจุบัน "ทรัพยากรบุคคล" นับว่าเป็นตัวแปรสำคัญต่อการคัดแยกประเภทขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งผู้บริโภค พนักงานเทศบาล ผู้รับซื้อขยะตามชุมชน หรือแม้แต่คนเก็บขยะ เป็นต้น โดยเฉพาะผู้รับซื้อขยะตามชุมชนรายเล็กและคนเก็บขยะที่จะต้องแยกประเภทขยะพลาสติกก่อนนำส่งและจำหน่ายให้แก่ร้านรับซื้อของเก่า อาทิ ขวดน้ำใส, ขวดน้ำขุ่น, ขวดน้ำเกลือ, ถุงพลาสติก, ถุงดำ, ถุงปุ๋ย, ท่อ PVC และสายไฟ เป็นต้น โดยร้านรับซื้อของเก่าอาจจะต้องทำการคัดแยกประเภทพลาสติกอีกครั้ง เพื่อทำการจัดเก็บหรือเตรียมจัดส่งให้แก่โรงงานพลาสติกรีไซเคิลต่อไป ซึ่งหากคนที่ทำการคัดแยกขยะไม่มีความเชี่ยวชาญมากเพียงพอ ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพวัตถุดิบในกระบวนการรีไซเคิล
หากพิจารณาถึงกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกโดยภาพรวมในไทย จะพบว่าโรงงานพลาสติกรีไซเคิลในไทยส่วนใหญ่จะจัดหาหรือรับซื้อขยะพลาสติกที่แยกประเภทเรียบร้อยแล้วมาจากร้านรับซื้อของเก่ารายใหญ่ เนื่องจากร้านรับซื้อของเก่ารายใหญ่จะสามารถจัดส่งขยะพลาสติกในปริมาณมากได้ นอกจากนี้ร้านรับซื้อของเก่ารายใหญ่จะมีความน่าเชื่อถือในคุณภาพการคัดแยกประเภทขยะพลาสติก
ทั้งนี้ ร้านรับซื้อของเก่าจะทำการรับซื้อขยะพลาสติกมาจากผู้บริโภคโดยตรง ซาเล้ง หรือรถรับซื้อขยะตามชุมชนขนาดเล็ก หรือคนเก็บขยะอีกทอดหนึ่ง หลังจากนั้นโรงงานพลาสติกรีไซเคิลจะทำการบด หรือย่อยขยะพลาสติกเหล่านั้นตามประเภทต่างๆ และทำการล้างทำความสะอาด แล้วจึงหลอม รีด และตัดเป็นเม็ดพลาสติกเพื่อจัดจำหน่ายให้แก่โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งในแต่ละกระบวนการรีไซเคิลดังกล่าวจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่ขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่อง โดยจากการประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า การแปรรูปขยะพลาสติกเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่ขยะพลาสติกมากถึงร้อยละ 126.8-147.4
ทั้งนี้ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสามารถประหยัดต้นทุนวัตถุดิบจากการผสมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลกับเม็ดพลาสติกใหม่ซึ่งยังคงรักษาคุณสมบัติทางกายภาพไว้ได้ เนื่องจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจะมีราคาถูกกว่าเม็ดพลาสติกใหม่ที่ผลิตจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ราคามักผันผวนไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลก
สำหรับ อุตสาหกรรมพลาสติกรีไซเคิลของไทยในปัจจุบัน มีทั้งกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจแบบครบวงจรตั้งแต่รับซื้อขยะพลาสติกเพื่อเข้ากระบวนการบดหรือย่อยไปจนถึงกระบวนการหลอมและตัดเม็ดพลาสติก และกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กที่ดำเนินธุรกิจในกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งเพียงอย่างเดียว อาทิ ธุรกิจรับซื้อ-ขายขยะพลาสติก ธุรกิจบดหรือย่อยพลาสติก ธุรกิจหลอมและตัดเม็ดพลาสติกรีไซเคิล เป็นต้น ซึ่งธุรกิจรายเล็กเหล่านี้จะใช้เครื่องจักรน้อยชิ้นและใช้เงินลงทุนน้อย
เพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน การมีโกดังขนาดใหญ่สำหรับการจัดเก็บและการใช้เครื่องจักรในการบีบอัดพลาสติกให้แน่นจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสามารถอำนวยความสะดวกในการขนส่งและเป็นการประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บขยะพลาสติกในโกดังสินค้าเนื่องจากพลาสติกมีน้ำหนักเบา ขนาดใหญ่ และมีรูปร่างที่หลากหลาย นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการต่างๆ สามารถวางแผนดำเนินธุรกิจได้เป็นอย่างดี โดยสามารถเก็บสินค้าไว้จำหน่ายในช่วงที่พลาสติกมีราคาดี
รีไซเคิลพลาสติก สูงแตะระดับ 40%
เนื่องด้วยเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสามารถนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกใหม่ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นของเล่นเด็ก, ขวดสารเคมี, ขวดน้ำยาซักล้าง, ถังน้ำ, เฟอร์นิเจอร์, ชิ้นส่วนรถยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่การนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจากขวด PET ไปผสมกับเส้นใยโพลีเอสเตอร์ เพื่อเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการการทำเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า เป็นต้น ประกอบกับความต้องการลดต้นทุนการผลิตของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น รวมทั้งกระแสนิยมการสนับสนุนการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่เพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก (Corporate Social Responsibility : CSR) ทำให้ความต้องการเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในไทยมีอัตราการเติบโตสูงในปัจจุบัน
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2557 มูลค่าตลาดเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 23,560 ล้านบาท ขยายตัวกว่าร้อยละ 14.7 จากปี 2556 โดยได้รับแรงผลักดันหลักจากปริมาณการรีไซเคิลขยะพลาสติกที่มีสูงขึ้นจากความต้องการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลในอุตสาหกรรมต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น
นอกจากนี้ ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในปี 2558 อุตสาหกรรมรีไซเคิลจะยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการที่มีกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาลงทุนทำธุรกิจรีไซเคิลในไทยมากขึ้นทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าวจะมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านระบบการจัดการขยะรีไซเคิล โดยเฉพาะขั้นตอนการคัดแยกขยะ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญต่อการนำขยะพลาสติกที่มีเป็นจำนวนมากในชุมชนมาคัดแยกตามประเภทการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุดต่อขยะพลาสติก และยังส่งผลดีต่อคุณภาพการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกใหม่อีกด้วย
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2558 จะมีสัดส่วนการนำขยะพลาสติกไปรีไซเคิลเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 37.9 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 40.0 ของปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมด และน่าจะส่งผลให้ตลาดเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในไทยมีมูลค่าสูงถึง 27,520-28,900 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 16.8-22.7 จากปี 2557 อย่างไรก็ดี สัดส่วนการรีไซเคิลขยะพลาสติกดังกล่าวยังเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนการรีไซเคิลขยะพลาสติกสูงถึงร้อยละ 90.0 ของปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมด
ทั้งนี้ มองว่า ตลาดเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในไทยจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ในอีกระยะ 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากยังมีโอกาสนำขยะพลาสติกในชุมชนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อีกมาก และเมื่อพิจารณาถึงปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลในปัจจุบัน พบว่าปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันจะมีสัดส่วนผสมที่เหมาะสมประมาณร้อยละ 35.0-40.0 ของการใช้เม็ดพลาสติกทั้งหมด เพื่อคงคุณสมบัติทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ไว้
ดังนั้น หากในกรณีที่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลอยู่ในสัดส่วนดังกล่าว ประกอบกับหากมีการพัฒนาระบบการจัดการขยะในชุมชนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถเพิ่มปริมาณการรีไซเคิลขยะพลาสติกเป็นสัดส่วนร้อยละ 70.0-75.0 ของปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตลาดเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจะมีมูลค่าสูงถึง 50,170-57,300 ล้านบาท
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่า หากสามารถเพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิลขยะพลาสติกที่มีอยู่เป็นจำนวนมากให้สูงขึ้นได้ อุตสาหกรรมพลาสติกรีไซเคิลในประเทศไทยก็ยังสามารถพัฒนาไปได้อีกมากเช่นกัน เนื่องจากความต้องการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลยังเติบโตได้ดี เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ประเทศไทยในปัจจุบันยังเผชิญกับปัญหาการคัดแยกขยะจากคนในชุมชน ระบบการจัดการขยะโดยรวม รวมถึงไม่มีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการคัดแยกประเภทขยะพลาสติกในอุตสาหกรรมพลาสติกรีไซเคิลอย่างเพียงพอ จึงเกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกรีไซเคิล
ดังนั้น ทางรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มการสนับสนุนการจัดการระบบขยะชุมชนอย่างจริงจัง รวมถึงส่งเสริมให้คนในชุมชนร่วมมือกันคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โดยเฉพาะการส่งเสริมผ่านระบบการศึกษาของเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีใจรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ในปัจจุบันทางสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIPMES ได้มีโครงการจัดตั้งธนาคารขยะและร้านค้า "0 บาท" โดยนำร่องในบางชุมชนในกรุงเทพฯ โดยประชาชนในชุมชนสามารถนำขยะมาฝากไว้กับธนาคารขยะชุมชน และสามารถนำเงินจากธนาคารขยะดังกล่าวไปแลกเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคในร้าน 0 บาทได้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนในชุมชนคัดแยกขยะ และยังช่วยลดปริมาณขยะในชุมชนและส่งเสริมการรีไซเคิลขยะ เนื่องจากชุมชนสามารถนำขยะที่มีไปผลิตผลิตภัณฑ์รีไซเคิล เป็นการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง