- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Thursday, 07 September 2023 12:29
- Hits: 2290
นักวิชาการหนุนจัดตั้ง PRO แห่งชาติตามหลัก EPR จัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างยั่งยืน
นักวิชาการระบุภาครัฐกำลังเร่งยกร่างกฎหมาย “พระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน พ.ศ. ...” โดยหนึ่งในสาระสำคัญจะมีการจัดตั้งองค์กรที่รับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์ (Producer Responsibility Organization หรือ PRO) และนำผู้ประกอบการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าของบรรจุภัณฑ์เข้ามาทำงานร่วมกัน ภายใต้หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต[1] (Extended Producer Responsibility หรือ EPR) สอดคล้องกับความพยายามของ 7 บริษัทชั้นนำที่รวมตัวกันในนามของ “เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน” หรือ “PRO-Thailand Network” นำร่องเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท คือ ขวดพลาสติก PET กล่องเครื่องดื่มยูเอชที และถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (เช่น ถุงขนม ถุงเติม ซองกาแฟ)
ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ (Circular Economy for Waste-free Thailand - CEWT) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่า “กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ยกร่าง พ.ร.บ. การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการ EPR ที่ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมรับผิดชอบจัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทาง คือ การออกแบบ การกระจายสินค้า การใช้งาน และช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว จากเดิมที่ตกอยู่กับระบบจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปัจจุบันก็ยังไม่มีทรัพยากรในด้านต่างๆ เพียงพอที่จะเก็บรวบรวม และคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อจัดการอย่างยั่งยืน ทั้งในการนำไปรีไซเคิล หรือทำเป็นพลังงานเชื้อเพลิง”
ผศ.ดร.ปเนต กล่าวว่า การจัดตั้งองค์กร PRO ภายใต้กฎหมาย EPR ฉบับนี้ มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นกลยุทธ์การดึงผู้ประกอบการ ได้แก่ เจ้าของแบรนด์สินค้า ผู้ผลิตหรือนำเข้าสินค้า ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ให้เข้ามามีบทบาทรับผิดชอบบรรจุภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการทำงานร่วมกับผู้รวบรวมและเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ไม่ให้เล็ดลอดออกไปสู่สิ่งแวดล้อมหรือถูกทิ้งในบ่อขยะ ซึ่งในระยะแรกอาจจะมีการตั้ง PRO แห่งชาติ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการ พัฒนาแผนจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน จัดให้มีระบบเก็บรวบรวม คัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วออกจากขยะมูลฝอย โดยมุ่งเน้นบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุหลัก 4 ประเภท ได้แก่ พลาสติก โลหะ แก้ว และกระดาษ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม อาทิ ขวดพลาสติก PET และ HDPE ถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนที่มีส่วนผสมของพลาสติก กล่องเครื่องดื่มยูเอชที ตลอดจนของใช้ส่วนตัว เครื่องสำอาง และบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง
“ในภาพรวม บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วใน 4 ประเภทข้างต้นนี้ น่าจะมีประมาณ 3-4 ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 10-15 ของปริมาณขยะทั้งหมดในประเทศ ดังนั้น สมมติว่าค่าใช้จ่ายอย่างต่ำในการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว คือ 1 บาทต่อกิโลกรัม หมายความว่า รัฐจะต้องใช้งบประมาณ 3-4 พันล้านบาทต่อปี มาช่วยสนับสนุนการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ การจัดตั้ง PRO จึงเป็นการสร้างกลไกให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นอีกโมเดลที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศทั่วโลก” ดร.ปเนต กล่าว
สำหรับประเทศไทย ภาคเอกชนรวมตัวกันด้วยความสมัครใจจัดตั้ง “เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน” (Packaging Recovery Organization Thailand Network) หรือ “PRO-Thailand Network” เมื่อปี 2562 และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและร่วมสร้างระบบการจัดเก็บและรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมารีไซเคิล (Recycle) หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อลดปริมาณขยะที่จะรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน มีสมาชิก 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด
จากการดำเนินโครงการนำร่องจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท ได้แก่ ขวดพลาสติก PET กล่องเครื่องดื่มยูเอชที (เช่น กล่องนม น้ำ ผลไม้ กล่องกะทิ) และถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (เช่น ถุงขนม ถุงเติม ซองกาแฟ) ในปี 2563 – 2565 PRO-Thailand Network สามารถเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วประเภทขวด PET จำนวน 25,134.15 ตัน ประเภทกล่องเครื่องดื่มยูเอชที จำนวน 180.49 ตัน ถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนใช้แล้วได้ 78.56 ตัน
[1] แนวคิดเรื่องความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตได้รับการเสนอครั้งแรกโดย Dr. Thomas Lindhqvist จากสวีเดนในปี 1992 ตั้งแต่นั้นมา EPR ได้ทำหน้าที่เป็นรากฐานในการเลือกเครื่องมือ นโยบายที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการบริหาร เศรษฐกิจ หรือข้อมูล เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ (ที่มา: วารสารสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://ej.eric.chula.ac.th/article/view/318)
A9181