- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Wednesday, 24 May 2023 15:54
- Hits: 1324
ประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างร่วมเดินหน้าเป็นศูนย์กลางอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน
- การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้จากป่าธรรมชาติในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงไปยังประเทศจีนลดลงจากการสูญเสียทรัพยากร และภาครัฐมีมาตรการควบคุมการตัดไม้
- ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่สนใจถึงปัญหาความรุนแรง ผลกระทบและความเสียหายของอาชญากรรมป่าไม้
- ความร่วมมือกัน เทคโนโลยีการตรวจจับ และการบังคับใช้กฎหมาย ช่วยจำกัดการลักลอบตัดไม้ แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการลดอาชญากรรมาป่าไม้ตามแนวชายแดน
- การอนุรักษ์และการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนมีความสำคัญต่อการบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
กรุงเทพ, ประเทศไทย: ในปัจจุบันภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนผ่าน จากพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการลักลอบตัดไม้และการค้าไม้ผิดกฎหมายสู่ยุคของการค้าป่าไม้อย่างยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นก้าวสำคัญในการอนุรักษ์ระบบนิเวศของป่าไม้ การป้องกันสัตว์ป่าจากการรุกราน และการบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
ในอดีตการค้าผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ไปยังประเทศจีนมีบทบาทสำคัญต่อการลักลอบตัดไม้ภูมิภาคนี้อย่างมาก แต่ในช่วง 2-3 ปีหลังการส่งออกผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ไปยังประเทศจีนลดลงต่อเนื่อง จากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดประกอบกับจำนวนป่าไม้ที่ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 จากที่เคยมีอยู่ ขณะที่ประเทศไทยและเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วสู่การเป็นศูนย์กลางของการค้าผลิตภัณฑ์ป่าไม้อย่างถูกกฎหมายระดับโลก
"การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกำลังส่งผลดีต่อการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการค้าไม้ในภูมิภาคนี้ และสร้างโอกาสให้เกิดการปรับเปลี่ยนของการค้าไม้และการอนุรักษ์ป่าไม้ในภูมิภาค" อะกิโกะ อิโนะกูจิ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวและเพิ่มเติมว่า
"อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังมีความท้าทายที่มากมาย เช่น การยกระดับระบบการติดตามตรวจสอบของอุตสาหกรรมการค้าป่าไม้และการทำงานร่วมกับเกษตรกรรายย่อยที่ประกอบธุรกิจขายผลิตภัณฑ์และเส้นใยที่ได้จากป่าไม้ในภูมิภาค"
หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญอีกประการ คือ การรับรู้ของประชาชนต่อการลักลอบตัดไม้และอาชญากรรมป่าไม้ โดยผลสำรวจความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติ (KAP: Knowledge, Attitude, and Practice) พบว่า 50% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของอาชญากรรมป่าไม้ และไม่รับรู้ถึงความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้น
“ความไม่รู้เหล่านี้ส่งผลให้ประชาชนไม่ใส่ใจที่จะมีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์ป่าไม้ และขัดขวางการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า” แคทรีนา บอร์โรมิโอ เจ้าหน้าที่โครงการและการสื่อสาร โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวและขยายความว่า ด้วยสาเหตุนี้ ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับป่าไม้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 90 ก่อให้เกิดความกดดันต่อการอนุรักษ์ป่าไม้ในภูมิภาคนี้อย่างมาก
แคมเปญการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในประเทศจีนและประเทศไทย (Behavior change campaigns) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศของสหประชาชาติ (UN Decade of Ecosystem Restoration) และกรมป่าไม้ทั้งสองประเทศ ได้เริ่มดำเนินการเพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่บุคคลากรที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และป้องกันระบบนิเวศของป่าไม้
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุรักษ์และต่อสู้กับอาชญากรรมป่าไม้ที่เกิดขึ้น ความเข้มงวดกับการดำเนินนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยีการตรวจสอบป่าไม้และพื้นดินขั้นสูง ที่นำกล้องตรวจจับและโดรนประสิทธิภาพสูงมาใช้เพื่อการเฝ้าระวังและตรวจสอบพื้นที่ป่า ให้ผลลัพธ์ที่ดีในการป้องกันการลักลอบตัดไม้ และอาชญากรรมป่าไม้
ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการใช้เครื่องมือและนวัตกรรมต่างๆ ในการต่อสู้กับการลักลอบตัดไม้และการค้าไม้ที่ผิดกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น:
- Pitak Prai แอปพลิเคชันที่ส่งการแจ้งเตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมการบุกรุกในพื้นที่ที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเกิดการกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงการแจ้งเตือนและติดตามสถานการณ์ไฟป่า
- e-TREE แพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นโซลูชันที่ยกระดับการติดตามและตรวจสอบการบริหารจัดการป่าไม้
- NCAPS เป็นเครื่องมือควบคุมระยะไกลที่ใช้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ในการลาดตระเวนและตรวจจับพฤติกรรมที่ต้องสงสัยและการลักลอบตัดไม้
เนื่องจากการลักลอบตัดไม้มักเกิดขึ้นตามแนวตะเข็บชายแดน จึงจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศในการติดตามตรวจสอบ แก้ไขปัญหา และจับกุมผู้กระทำผิด ตัวอย่างของการร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เช่น ความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทย และความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาและสปป.ลาว สามารถส่งเสริมการแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ได้เป็นอย่างดี
“ความร่วมมือระหว่างไทยและกัมพูชาได้พิสูจน์ว่า มีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมการค้าไม้ผิดกฎหมาย รวมถึงการตรวจสอบสถานการณ์ป่าไม้แบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับไม้ที่มีมูลค่าสูงเช่นไม้พะยูง” ดานี่ ซีอานี่ รองผู้อำนวยการ สำนักงานป่าไม้กัมพูชา กล่าว
อ้อมจิตร เสนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ส่วนส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าววถึง ความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการอนุรักษ์และตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้ตามแนวตะเข็บชายแดน ว่า "ปัจจุบันเราสามารถแบ่งปันฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ในการต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์ป่า และการอาชญากรรมป่าไม้บริเวณแนวตะเข็บชายแดน”
การจัดสรรงบประมาณในการลงทุนเพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้และการส่งเสริมการค้าไม้อย่างยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ กลุ่มประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่างกำลังศึกษาการใช้ประโยชน์จากการจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการผ่านการทำข้อตกลงพหุภาคีและตลาดค้าคาร์บอนเครดิต ธนาคารและสถาบันการเงินชั้นนำสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการนี้ โดยการสนับสนุนทางการเงินตามเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน (SDGs)
ท้ายที่สุด การอนุรักษ์ป่าไม้และการส่งเสริมการค้าไม้อย่างยั่งยืน ต้องการแนวทางที่ชัดเจนและครอบคลุม ในการดูแลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การบริหารจัดการป่าไม้ การขนส่ง การออกใบอนุญาตรับรอง การตลาด ตลอดจนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างเป็นด่านหน้าในการประยุกต์การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว เพื่อปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าป่าไม้อย่างยั่งยืนในอนาคต
เกี่ยวกับ UN-REDD
UN-REDD เป็น โครงการความร่วมมือแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา โครงการนี้เป็นโครงการหลัก ของ UN knowledge and advisory platform เกี่ยวกับการแก้ปัญหาป่าไม้เพื่อรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เกี่ยวกับ UN Decade of Ecosystem Restoration
UN Decade of Ecosystem Restoration หรือ ทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศของสหประชาชาติ 2021-2030 นำโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และพันธมิตร ครอบคลุมการทำงานเกี่ยวกับระบบนิเวศบนบก ตลอดจนระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล เพื่อเรียกร้องให้เกิดดำเนินการทั่วโลก
ทั้งการสนับสนุนทางจากภาครัฐ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และกลไกการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อยกระดับการฟื้นฟูระบบนิเวศ UN Decade of Ecosystem Restoration และ โครงการ UN REDD ได้ร่วมกันเป็นผู้นำในการรณรงค์โครงการ “Forest for Life” หรือ โครงการป่าเพื่อชีวิต