- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Monday, 10 April 2023 17:35
- Hits: 1728
ฟังคำอธิบายผ่านมุมมอง ‘สถาปัตยกรรม’ จากนักวิชาการธรรมศาสตร์ เหตุใดกรุงเทพฯ ถึง ‘ร้อนซ้ำร้อน’
องศาร้อนทุบประวัติศาสตร์ในขณะนี้ กำลังทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว เข้าใกล้มาประชิดตัวจนทุกคนได้รับผลกระทบ
‘จุดที่โลกมิอาจหวนคืน’ คือความกังวลของสหประชาชาติ (UN) หากนานาประเทศไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส
สำหรับประเทศไทย แน่นอนว่าย่อมไม่อาจยืนอยู่เหนือผลกระทบนี้ไปได้ สื่อมวลชนจำกัดความว่า ‘ร้อนบรรลัยกัลป์’ เมื่อพบว่าระดับอุณหภูมิความร้อน Feels Like Temperature คาดการณ์ในพื้นที่ ‘ภาคกลาง’ ของวันที่ 6 เม.ย. 2566 พุ่งสูงทะลุ 50 องศา
นอกเหนือจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูง และมากไปกว่าการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ พบว่า ‘ความร้อน’ ยังถูกเสริมแรงจากเงื่อนไขอื่นที่เข้ามาสำทับ เรียกได้ว่า ‘ร้อนซ้ำร้อน’ หรือร้อนรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น
มีคำอธิบายผ่านมุมมองของสถาปัตยกรรม-การออกแบบตึกรามบ้านช่องและเมือง สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีอุณหภูมิสูงและความร้อนสะสม เนื่องจาก กทม. เต็มไปด้วยอาคารสูงและมีพื้นที่ดาดแข็งจำนวนมาก อาทิ หลังคาบ้าน พื้นถนนคอนกรีต พื้นยางมะตอย ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีคุณสมบัติ ‘สะท้อนความร้อน’
เช่นเดียวกับ ‘กระจก’ ที่ติดตั้งอยู่ตามอาคารใหญ่ในเมือง ก็เป็นปัจจัยในการสะท้อนความร้อนเช่นกัน โดย ‘พื้นที่ดาดแข็ง’ ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ จะมีค่าสะท้อนความร้อนที่ไม่เท่ากัน
ยังไม่นับการมีพื้นที่สีเขียวน้อย (Green Area) จนทำให้อุณหภูมิสะสมสูง เพราะไม่มีต้นไม้เป็นตัวดูดซับความร้อน
ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อธิบายว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นที่มีการวัดคลื่นความร้อนของ กทม. ผ่านภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าบริเวณ ‘รันเวย์ของสนามบิน’ ซึ่งเป็นคอนกรีตขนาดใหญ่ เป็นหนึ่งในพื้นที่ในเมืองมีความร้อนสะสมอยู่ นั่นเพราะพื้นที่ดังกล่าวไม่มีตัวดูดซึมความร้อน และอยู่ในที่โล่งแจ้งขนาดใหญ่ เมื่อแดดกระทบลงมา ความร้อนจะสะสมขึ้นมาทันที บางประเทศได้มีความพยายามดีไซน์เพื่อให้มีลดพื้นที่แบบนี้ เช่น ตัวอย่างจากการพยายามลดพื้นที่ดาดแข็งของสนามบินชางงี (Changi Airport) ประเทศสิงคโปร์ โดยพื้นที่ของสนามบินถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่สีเขียว เพื่อไม่ให้ความร้อนสะสมและกระจายตัวออกไปสู่พื้นที่เมืองใกล้เคียง
ปรากฏการณ์การสะสมความร้อนในเมือง ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศท้องถิ่น (Micro Climate) ที่เราเรียกพื้นที่เช่นนี้ว่า Urban Heat Island - เกาะความร้อนเมือง ส่งผลต่อความกดอากาศและการเคลื่อนที่ของมวลอากาศหรือลมในเมืองนั่นเอง
ในลักษณะเดียวกัน พื้นที่ในเมืองสามารถลดความร้อนได้ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น การปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ Softscape ลดขนาดพื้นที่ลานคอนกรีต หรือการปลูกต้นไม้บนตึก (Green Roof) ซึ่งหากมองในแง่ของความชื้นนั้น ต้นไม้จะดูดน้ำ ทำให้ในเมืองมีความชื้นที่ช่วยลดอุณหภูมิในเมืองได้อีกด้วย
การออกแบบตึก-อาคาร ก็สามารถช่วยลดความร้อนได้ เช่น การยื่นของชั้นบนทำให้เกิดเงา ในเวลากลางวัน พระอาทิตย์จะอยู่บนศีรษะ ซึ่งจะช่วยคนที่อยู่ชั้นล่างของตึกได้ ฉะนั้นต้องสร้างเงาให้เยอะที่สุดให้กับตัวอาคาร เช่น การติดตั้งแผ่นระแนง (Shading Fin) ซึ่งมีลักษณะเป็นแผงผนังแบนคล้ายระแนง สามารถเลือกความถี่ในการติดตั้งได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ โดย Shading Fin สามารถช่วยกรองแสง ทำให้เกิดเงา รวมถึงบังไม่ให้แดดตกเข้าไปที่ผนังหรือกระจก
อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยได้คือ ‘ช่องว่างระหว่างอาคาร’ เพราะช่องว่างระยะห่างของอาคารที่เพียงพอ มีผลต่อการเคลื่อนที่ของอากาศ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากผังเมืองในกรุงเทพฯ เรื่องนี้อาจความท้าทายในปัจจุบัน เนื่องจากผังเมือง กทม. เน้นการใช้ประโยชน์จากที่ดิน แต่ยังให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองที่ดีไม่มากนัก รวมถึงกฎหมายควบคุมอาคารที่ยังการขาดมุมมองในภาพรวม เช่น การควบคุมอาคารในระดับย่านที่ชัดเจน
“ปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้คืออุณหภูมิโลก แต่เรื่องที่คุมได้คือเรื่องการออกแบบอาคาร ย่าน และผังเมืองที่ยังไม่ค่อยมีการคำนึงถึงเรื่องสภาพแวดล้อมกายภาพชีวภาพ (biophysical) สภาพธรรมชาติของพื้นที่ ซึ่งตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันกฎหมายผังเมืองไทยค่อนข้างให้มิติทางด้านสังคมเป็นหลัก สังคมคือเศรษฐกิจนำ แต่ประเด็นทางด้าน biophysical ยังไม่ถูกนำมาประยุกต์ในการออกแบบกฎหมายผังเมือง อีกประเด็นที่สำคัญคือต้องยอมรับว่าการพัฒนาเมืองในประเทศเราค่อยๆ พัฒนามา มีตึกยุคเก่าก่อนที่จะมีกฎหมายผังเมืองและกฏหมายอาคาร ย่อมส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของเมืองในปัจจุบันเช่นกัน” ผศ.อาสาฬห์ กล่าว
ผศ.อาสาฬห์ เสนอว่าในระดับเมืองสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ ซึ่งในกฎหมายสิ่งแวดล้อม และกฎหมายอาคาร หากต้องการพัฒนาพื้นที่ กำหนดให้ต้องมีพื้นที่สีเขียวประกอบในพื้นที่ด้วย อย่างเช่นในประเทศสิงคโปร์ ที่ดิน 1 แปลง กำหนดให้ 3 เมตรรอบที่ดินจะต้องเป็นพื้นที่สีเขียว
แม้ กทม. จะมีพื้นที่ส่วนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวในเมืองไม่มากนัก แต่หากรวมพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่บริเวณชานเมือง อย่างเช่น เขตหนองจอก มีนบุรี บางขุนเทียน ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 10% ของพื้นที่กว่า 1,500 ตารางกิโลเมตรแล้ว ก็นับว่ามีคเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อสภาพแวดล้อม และอุณหภูมิของเมืองเช่นกัน
“เราต้องทำยังไงให้คนเห็นความสำคัญของการมีพื้นที่สีเขียว ให้คนผลักดันการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยที่ไม่ต้องให้กฎหมายสั่ง พื้นที่สีเขียวไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่รกร้าง ต้นไม้ขึ้นเองตามธรรมชาติ ก็เป็นสีเขียว การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่พักอาศัยก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน แต่พื้นที่สีเขียวไม่ได้ช่วยลดความร้อนหรือลดอุณหภูมิได้ทั้งหมด เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น” ผศ.อาสาฬห์ กล่าว
A4360