- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Friday, 17 March 2023 15:46
- Hits: 1877
ภาคธุรกิจไทย TBCSD และ TEI ร่วมสนับสนุน ส่งเสริมและขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5 เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ผนึกกำลังร่วมกับภาครัฐและองค์กรสมาชิกที่เป็นภาคธุรกิจไทยชั้นแนวหน้าของประเทศไทยที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้จัดงานสัมมนาวิชาการ “บทบาทภาคธุรกิจไทย TBCSD ในการร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5” ณ ห้องประชุมสวนสน ชั้น 6 บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) อาคาร ENCO B กรุงเทพฯ และ ผ่านทาง Facebook Live เพจของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 ของประเทศ และแนวทางการบริหารจัดการแบบบูรณาการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งการนำเสนอบทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากกลุ่ม TBCSD ที่จะนำไปขับเคลื่อนและเสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยงานในวันนี้ได้รับเกียรติจาก นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหารองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) มากล่าวต้อนรับ และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) มากล่าวเปิดงานและกล่าวว่า “องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) มีความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ (Country Issue) ซึ่งปัญหา PM2.5 ถือได้ว่าเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา TBCSD ได้เดินหน้าขับเคลื่อนงานเพื่อร่วมแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการประชุมหารือกันทั้งภายในสมาชิกเอง กับองค์กรพันธมิตรและภาคส่วนนๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้และสร้างความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงและแนวทางที่เป็นไปได้ในการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบของปัญหาในด้านต่างๆ รวมทั้ง ได้มีการกำหนดมาตรการที่สมาชิก TBCSD ดำเนินการเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา PM2.5 ผ่านมาตรการ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1) มาตรการที่สมาชิกดำเนินการเองโดยสมัครใจ ได้แก่ การตรวจเช็คสภาพรถและเครื่องยนต์อยู่เสมอ การบรรทุกและขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ และการมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ 2) มาตรการที่ขอความร่วมมือจากสมาชิกในช่วงวิกฤต สมาชิก TBCSD เลือกใช้น้ำมันที่เป็น Bio-based หรือ ก๊าซธรรมชาติ (CNG) หรือน้ำมันที่มีสารกำมะถันต่ำ (ไม่เกิน 10 ppm) หรือ ตามมาตรฐาน Euro 5 การเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้า ลดการนำรถบรรทุกดีเซลขนาดใหญ่เข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ลดการใช้รถใช้ถนน และส่งเสริมการทำเกษตรที่ไม่เผาชีวมวล และ 3) การสร้างการรับรู้แก่พนักงานขององค์กรและประชาชนทั่วไป (เพื่อสร้างแนวร่วมในการแก้ไขปัญหา) การสร้างการรับรู้ถึงปัญหาผลกระทบของฝุ่น PM2.5 และวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดย การประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกและใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ ซึ่งสามารถส่งข้อมูลถึงคนได้ในวงกว้างและรวดเร็ว เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา PM2.5 นอกจากนี้ TBCSD ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นธุรกิจเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยังได้มีการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และลดผลกระทบในทุกด้าน อันเป็นการแสดงถึงพลังจากการรวมตัวขององค์กรภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยผลักดันให้สังคมไทยให้เกิดความยั่งยืน ในทุกมิติทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม”
ภายในช่วงการเสวนา หัวข้อ “บทบาทภาครัฐและภาคเอกชนไทย TBCSD ในการร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5” โดยผู้บริหารทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนชั้นนำ มาร่วมเป็นวิทยากรเพื่อร่วมนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวม บทบาทภาครัฐและภาคเอกชนไทย TBCSD ในการร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5 และต้นทุนของสังคมไทยจากมลพิษทางอากาศและแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยความร่วมมือจากภาคธุรกิจไทย รวมทั้ง การสื่อสารข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ของประชาชน ดังนี้
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า “รัฐบาลได้มีการกำหนดนโยบายและขับเคลื่อน การดำเนินงานการแก้ไขปัญหา PM2.5 ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และได้กำชับให้ทุกหน่วยงานบูรณาการและเข้มงวดการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” ซึ่งปีนี้ ให้มีการมุ่งเน้นลดมลพิษที่แหล่งกำเนิดหลักใน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่เมือง 2.พื้นที่ป่า และ 3. พื้นที่เกษตรกรรม ควบคู่ไปกับมาตรการติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ การยกระดับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน และการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อลดผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดน รวมถึงติดตามและประเมินสถานการณ์ ซึ่งจะมีการยกระดับมาตรการเมื่อสถานการณ์อยู่ในระดับวิกฤต ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ จะนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณายกระดับปฏิบัติการตามมาตรการเร่งด่วน และมาตรการระยะยาวตามที่ได้เสนอ และขอให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพในมาตรการที่กำหนดร่วมกันให้เป็นผล เพื่อป้องกันและลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในสถานการณ์วิกฤต และช่วยบรรเทาสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน”
นายกิตติพันธ์ จันทาศรี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมโครงการพระราชดำริการจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า “กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดเกษตรกรมากที่สุด โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล โดยมีบทบาทภารกิจที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องส่งเสริมการปลูกพืชเป็นหลัก และมีส่วนในการขับเคลื่อนงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM2.5 โดยส่งเสริมการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์และใช้เครื่องจักรกลการเกษตรหรือเทคโนโลยีอื่นที่เหมาะสมเพื่อทดแทนการเผา โดยกำหนดแนวทางให้ทุกสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ กำกับดูแลพื้นที่การเกษตรไม่ให้มีการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างเข้มงวด และดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้ มาตรการที่ 1 เร่งสร้างการรับรู้ รณรงค์ และประชาสัมพันธ์ มาตรการที่ 2 เตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง มาตรการที่ 3 การส่งเสริมและสร้างเครือข่ายในการงดเผาในพื้นที่เกษตรกรรม หยุดเผาได้ 5 ดี.....อากาศดี....สุขภาพดี....คุณภาพดินดี....รายได้ดี...และสิ่งแวดล้อมดี “เกษตรกรยุคใหม่ ร่วมใจหยุดเผากันครับ”
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “ด้วยสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (ฝุ่น PM2.5) ในปัจจุบัน ส่งผลอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สสส. จึงยกระดับปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นประเด็นเร่งด่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและขับเคลื่อนการแก้ไขผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) พลังสังคม หนุนเสริมการแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาคกับเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ (สภน.) และนำแนวคิดเขตควบคุมมลพิษต่ำ Low Emission Zone มาใช้ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร 2) พลังวิชาการ พัฒนาความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม ข้อเสนอทางวิชาการกับศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) 3) พลังนโยบาย ผลักดันให้เกิดกฎหมายอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพกับเครือข่ายอากาศประเทศไทย และนโยบายการบริหารจัดการเชื้อเพลิง (Burn Check) กับกรมควบคุมมลพิษ 4) การสื่อสารสังคม สร้างองค์ความรู้เพื่อตระหนักถึงปัญหาสุขภาพในพื้นที่เสี่ยง (ห้องเรียนสู้ฝุ่น) กับ กทม. อบจ. สพฐ. กว่า 120 โรงเรียนทั่วประเทศ แต่ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย สสส. ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพียงลำพัง ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ต้องร่วมมือกัน จึงจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นค่านิยมและพฤติกรรมใหม่ได้ โดยมีเป้าหมายที่จะหายใจอากาศสะอาด”
รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก ทำให้ครัวเรือนไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายจากการรักษาอาการป่วย สูญเสียโอกาสในการทำงาน และอื่นๆ งานวิจัยพบว่า มูลค่าความเสียหายจาก PM2.5 ต่อครัวเรือนไทยในปี 2562 สูงถึง 2.173 ล้านบาท โดยกรุงเทพฯ พบมูลค่าความเสียหายมากที่สุดถึง 4.36 แสนล้านบาท งานศึกษายังพบว่ามลพิษทางอากาศก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบกับธุรกิจ เช่น ผลิตภาพของพนักงานลดลงทั้งในสำนักงานและกลางแจ้ง ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงในวันที่มลพิษทางอากาศสูง เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนของสังคมไทยจาก PM2.5 ควรมีมาตรการ ดังนี้ ในภาคยานยนต์ : 1) ควรปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่เพื่อระบายสต็อครถเก่าและเพิ่มมาตรการเข้มงวดกับรถเก่า; 2) ในภาคเกษตร ควรเพิ่มมาตรการลดเผาในข้าวและข้าวโพด; ส่งเสริมตลาดเช่าบริการเครื่องจักรกลการเกษตร; สนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ในภาคป่าไม้ ควรให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขพร้อมความรู้ในการทำวนเกษตรแทนการปลูกพืชไร่ สำหรับภาคอุตสาหกรรม ควรเร่งติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดมลพิษที่ปลายปล่องทุกโรงงาน และพัฒนาระบบฐานข้อมูลการปล่อยมลพิษของทุกโรงงานในพื้นที่ให้ชุมชนเข้าถึงได้”
นายจักรวาล เพิ่มญาณวรรธนะ ผู้ชำนาญการฝ่ายแผนกลยุทธ์และความยั่งยืน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “สถานการณ์ของฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว IRPC ตระหนักถึงความสำคัญและความรุนแรงของปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดมาตรการทั้งในระดับการเฝ้าระวัง อาทิ มีการรายงานคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของไออาร์พีซี จังหวัดระยอง ผ่าน application IRPC Air สำหรับชุมชนและพนักงานโดยรอบเขตประกอบการฯ มีการแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยงต่อสุขภาพ และอนุญาตให้พนักงาน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง สามารถ work from home ได้ นอกจากนี้ มาตรการระยะยาว บริษัทฯ ได้ปรับเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงสะอาด เพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อเป็นแหล่งดูดซับมลพิษทางอากาศ รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศ ส่งมอบอากาศที่บริสุทธิ์ให้แก่สังคม เพราะ IRPC เชื่อมั่นว่าการเข้าถึงอากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ บริษัทฯ พร้อมสนับสนุนความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับปณิธานการดำเนินธุรกิจของ IRPC ที่มุ่งมั่นสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”
นายชูโชค ศิวะคุณากร Head of Environmental Social Governance and Business Stakeholder Engagement บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่กลายเป็นปัญหาในวงกว้างของประเทศไทยที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหา ซึ่ง SCG ในฐานะของตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ตระหนักถึงปัญหาในจุดนี้ โดยในปัจจุบันผลกระทบที่เกิดจากอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ได้แก่ ของเสียที่เกิดจากกระบวนการทำงาน เช่น วัสดุเหลือใช้จากงานก่อสร้าง หรือ ช่องว่างเกี่ยวกับมาตรฐานการก่อสร้าง โดยเฉพาะในกลุ่มกลาง – เล็ก ซึ่งในส่วนนี้ SCG มองว่าการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และ ดิจิทัล ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง จะสามารถช่วยบรรเทา หรือ ลดปัญหาดังกล่าวได้ เช่น เลือกการก่อสร้างแบบนอกหน่วยงานให้มากกว่าทำงานในที่, การทำงานแบบ Modularity ที่ช่วยในเรื่องระยะเวลา และ คุณภาพของงาน, การนำ BIM เข้ามาช่วยในการเชื่อมโยงการทำงานตลอดกระบวนการ, การนำนวัตกรรม 3D Printing มาใช้เพื่อลดเศษวัสดุ และ สุดท้าย คือ การยกระดับความรู้ ความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วนในกระบวนการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ผู้ควบคุมงาน หรือ วิศวกร เป็นต้น เพราะนอกจากจะได้ร่วมยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยแล้ว เรายังสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและดูแลโลกของเราได้อีกด้วย”
จากนั้น ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้มีการนำเสนอบทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากกลุ่ม TBCSD ที่จะนำไปขับเคลื่อนและเสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคทรัพยากร ภาคคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน อันนำไปสู่การผลักดันนโยบายที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการจัดการ PM2.5 ของประเทศต่อไป
และท้ายสุดหลังจากจบงานในครั้งนี้ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จะดำเนินการสรุปผลข้อมูลภาพรวมของงานฯ เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการร่วมผลักดันนโยบายที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดการ PM2.5 ของประเทศ
A3666