- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Monday, 11 April 2022 17:04
- Hits: 6150
‘ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ’ ชูความสำเร็จ 9 ปี
สร้างครู-ศูนย์เรียนรู้ ขยายผล ‘โคก หนอง นา โมเดล’ ครอบคลุม 7 จังหวัดในลุ่มน้ำป่าสัก
สรุปผลการเดินทาง 9 ปี ของโครงการ “ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ” ที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 - พ.ศ. 2565 สัมฤทธิ์ผลในการสร้าง “ครู-ศูนย์เรียนรู้” ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ ภายใต้แนวคิด “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และยกระดับการพัฒนาชีวิตและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมในด้านการจัดการน้ำไปกว่า 1,700 คน และมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ แล้วกว่า 79,500 คน
โครงการ “ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ” (โครงการฯ) เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ด้วยงบประมาณสนับสนุนประมาณ 50 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์การดำเนินงานเพื่อสร้าง “ครูพาทำ” พัฒนาคู่มือและตำรา สร้างศูนย์เรียนรู้ ตลอดจนอบรมผู้สนใจให้เกิด “คนมีใจ” ที่จะนำศาสตร์พระราชาไปลงมือปฏิบัติและเผยแพร่องค์ความรู้นี้ออกไปในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง โดยมีขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัดในลุ่มน้ำป่าสัก ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย และพระนครศรีอยุธยา
โดยงานสรุปผลจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก จังหวัดลพบุรี โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ตัวแทนจากภาครัฐ และเครือข่ายจากในลุ่มน้ำป่าสักเข้าร่วมงาน พร้อมนำผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปของเครือข่ายลุ่มน้ำป่าสักร่วมออกร้าน และจัดอบรมฐานการเรียนรู้ต่างๆ
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เชฟรอนได้รู้จักและทำงานร่วมกับทางอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) นับตั้งแต่โครงการแรกคือ ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ซึ่งมุ่งเน้นการสื่อสาร เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดความสนใจในแนวทางศาสตร์พระราชาแก่สาธารณชนในวงกว้าง ผ่านกิจกรรมรณรงค์และการผลิตสื่อความรู้ ในขณะที่การขับเคลื่อนในภาคปฏิบัติก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เกิดการขยายตัวต่อไปโดยเร็ว จึงเกิดเป็นโครงการ ‘ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ’ ที่เชฟรอนให้การสนับสนุนควบคู่กันไป เหมือนโครงการพี่โครงการน้อง โดยที่โครงการนี้ เราเน้นเรื่องการฝึกอบรม สร้างครู สร้างพื้นที่ต้นแบบ โคก หนอง นา ให้กระจายไปทั่วทั้งลุ่มน้ำ เพื่อคนที่สนใจเข้าถึงได้โดยง่าย สามารถดูตัวอย่างความสำเร็จในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงได้ และสร้างศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้ต่อไป
“โดยหลังดำเนินงานมา 9 ปี โครงการฯ สามารถสร้างตัวอย่างความสำเร็จในลุ่มน้ำป่าสักจำนวนทั้งสิ้น 147 พื้นที่ สร้างครูพาทำจำนวน 155 คน และเกิดศูนย์เรียนรู้จำนวน 10 ศูนย์ทั้งในลุ่มน้ำป่าสักและนอกลุ่มน้ำ นับเป็นความภาคภูมิใจของเชฟรอนที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาเพื่อพัฒนาสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต”
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “เราเริ่มที่ ‘ลุ่มน้ำป่าสัก’ เพราะเป็นลุ่มที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยที่สุด เนื่องจากบริหารจัดการได้ยากที่สุด เนื้อหาของโครงการ ‘ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ’ จึงเน้นที่การสร้างคนให้มีความเข้าใจ ทั้งหลักคิดในการบริหารจัดการลุ่มน้ำและวิธีการลงมือปฏิบัติ ภายใต้ปรัชญาของความพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อเรียนรู้และพัฒนาแล้ว ก็ค่อยๆ ยกระดับไปสร้างพื้นที่ต้นแบบ และศูนย์เรียนรู้ นอกจากนี้ โครงการนี้ฯ ยังช่วยหนุนเสริมให้โครงการแรกมีพลังในการสื่อสารได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น จากการสร้างตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ โดยตลอด 9 ปีที่ผ่านมา มีคนมีใจเกิดขึ้นมามากมาย ทั้งประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งสามารถยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ได้ถึง 10 ศูนย์ ขยายผลไปสู่ประชาชนในทุกลุ่มน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ รวมถึงผู้คนในต่างประเทศก็เริ่มมาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ต้องเผชิญวิกฤต คนจะเห็นคุณค่าของความมั่นคงทางอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ ป่า ที่จะช่วยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ หลังจากนี้ ก็เชื่อว่ากิจกรรมต่างๆ ของโครงการฯ จะดำเนินต่อไปจากคนมีใจที่ได้ถูกสร้างขึ้น และขับเคลื่อนขยายผลไปอย่างต่อเนื่องจากศูนย์เหล่านี้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่รุ่นต่อรุ่นให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง”
นายอุดม อุทะเสน ผู้นำชุมชนกลุ่มบ้านทุ่งเทิง ต.โป่ง อ.ด่านซ้าย จ.เลย ตัวแทนพื้นที่ จ.เลย กล่าวว่า “ครอบครัวทำการเกษตร เริ่มจากภรรยาไปร่วมอบรมที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก จ.ลพบุรี ของโครงการฯ ในปี 2562 แล้วกลับมาลงมือทำทันที ผมก็ช่วยเขาทำด้วย จนได้มีโอกาสไปร่วมอบรมด้วยตัวเอง ที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก จังหวัดลพบุรี ของโครงการฯ ในขณะนั้น มีคนทุ่งเทิงจำนวนหนึ่งที่เข้าอบรมก็นำความรู้ที่ได้มาปรับแนวทางการทำเกษตรแบบโคก หนอง นา ตอนแรกๆ ชาวบ้านแถวนั้นหาว่าบ้า ทำแบบนี้จะไม่มีเงินใช้หนี้แน่นอน แต่เราก็ยังทำต่อไปเรื่อยๆ ลงมือขุดคลองไส้ไก่ และปลูกพืชผักไว้กินในพื้นที่ จนมีผลผลิต มีน้ำใช้ คนก็เข้าไปเก็บของกินจากสวนของเรา ซึ่งเราก็ประกาศให้เข้ามาเก็บกินได้เลย ปัจจุบันนี้ บ้านทุ่งเทิงสามารถขยายผลการทำโคก หนอง นา ได้ถึง 30 แปลง และคนในหมู่บ้านประมาณ 70 ครัวเรือนก็หันมาปลูกพืชผลกินเอง ทำให้พึ่งพาตนเองได้ ยามมีวิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมา นอกจากเราอยู่รอดได้แล้ว ยังแบ่งปันผลผลิตไปช่วยผู้อื่นได้ด้วย ส่วนคนในหมู่บ้านที่หันมาปลูกพืชกินเอง ก็มีรายจ่ายที่ลดลง หนี้สินลดลง เกิดการแบ่งปันมากขึ้น คราววิกฤตโรคระบาด ผมก็ช่วยทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมเครือข่ายรวบรวมข้าวสารอาหารแห้งจากคนในหมู่บ้าน ทำเป็นถุงยังชีพ เพื่อแจกจ่ายให้กับคนที่ต้องกักตัวด้วย”
นางสาวทัศนีย์ สีมาวงษ์ เจ้าของสวนนกน้อย 1 ไร่ 4 พอ ต.ส้มป่อย อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ ตัวแทนจาก จ.ชัยภูมิ เล่าว่า “เดิมมีอาชีพเป็นครูอยู่ในครอบครัวเกษตรกร สาเหตุที่เข้ามาเครือข่ายนี้ เนื่องจากป่วยเป็นไทรอยด์เป็นพิษ ตอนป่วยหนักรอในห้องฉุกเฉินก็คิดว่าความตายอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้วก้อย และคิดถึงการมีสุขภาพที่ดี เมื่อกลับมารักษาตัวที่บ้าน ได้กินแต่อาหารปลอดสารเคมี เพียง 4 เดือน อาการป่วยก็หาย จึงตัดสินใจเข้าร่วมอบรมที่ฐานธรรมธุรกิจ สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ และศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม จ.ชัยภูมิ หลังหมอนิค (นพ. นรุตม์ อภิชาตอำมฤต ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม) ชักชวนมาก่อนหน้านี้ถึงห้าครั้ง พอกลับมาก็รู้สึกว่านี่คือชีวิตที่โหยหา เลยร่วมขับเคลื่อนกับหมอนิคปลูกผักปลอดสาร จากบ้าน วัด โรงเรียน สู่ชมุชน เป็นจิตอาสาให้กับเครือข่ายชัยภูมิ และร่วมเอามื้อสามัคคีในพื้นที่ต่างๆ ตอนนี้ลาออกจากการเป็นครูได้สามปีแล้ว มาทำตามศาสตร์พระราชาในพื้นที่ 1 ไร่ ทำคนเดียว เพื่อให้คนเห็นเป็นตัวอย่างว่า ทำอย่างไรให้รอดโดยไม่ต้องใช้สารเคมีเลย จากชาวบ้านที่เคยหาว่าบ้า ก็มาขอของจากสวนเรากิน เราก็แจกบ้าง ขายราคาถูกบ้าง ทุกวันนี้ มีคนเข้ามาถามไถ่สนใจทำตาม ส่วนพ่อแม่จากที่ไม่เห็นด้วย แม่เองก็หันมาปลูกผักอินทรีย์ ขณะที่พ่อถึงแม้ยังไม่เปลี่ยนวิธีการทำเกษตรเชิงเดี่ยวแบบเคมี แต่หันมากินผลผลิตของเรา สุขภาพของคนในครอบครัวก็ดีขึ้น ตอนนี้มีพื้นที่อีกแปลงขนาด 4 ไร่ เพิ่งเริ่มขุดหนอง ยังทำโคกไม่เสร็จ ก็เจอน้ำท่วมปีที่แล้ว ถึงแม้พื้นที่จะโดนน้ำท่วมบางส่วน แต่เราไม่ร่วง เพราะปลูกพืชไว้กินแล้ว เหตุการณ์นี้ทำให้ได้เรียนรู้ว่าจะต้องทำที่อยู่อาศัยแบบไหน และควรปลูกผักอะไร วิกฤตที่พบเจอไม่ทำให้เราเครียด ไม่ทุกข์ กลับสนุกด้วยซ้ำ มีเครือข่ายคอยช่วยเหลือกัน ได้เป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ พบเจอความสุขของชีวิต”
A4363