- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Thursday, 24 March 2022 15:03
- Hits: 6014
‘สมาคมเพื่อนชุมชน’ เดินหน้าแผนปฏิบัติการฟื้นฟูคลองน้ำหู
ร่วมมือท้องถิ่นวางแนวทางดึงเทคโนโลยีจัดการระบบน้ำเสีย
“สมาคมเพื่อนชุมชน” เดินหน้าขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูคลองน้ำหู เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงปฏิบัติการ ใน “การพัฒนาศักยภาพทีมงานส่งเสริมการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการจัดการสิ่งแวดล้อม” หนุนท้องถิ่น ภาคประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียตามแผน 5 ปี (2564 – 2569) ดันเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำผิวดินและคลองสาธารณะใน จ.ระยอง มุ่งสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
นายมนชัย รักสุจริต ผู้จัดการสมาคมเพื่อนชุมชน ก่อตั้งจากความร่วมมือของ 5 ผู้ประกอบการในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง (กลุ่ม ปตท. เอสซีจี บีแอลซีพี กลุ่ม บ. ดาวประเทศไทย และจีพีเอสซี) ปัจจุบันมีสมาชิก รวม 17 กลุ่มบริษัท เปิดเผยว่า สมาคมเพื่อนชุมชน ได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพทีมงานส่งเสริมการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการจัดการสิ่งแวดล้อม” ภายใต้โครงการบูรณาการการจัดการน้ำเสีย (คลองน้ำหู) เพื่อส่งเสริมการจัดการน้ำเสียจากชุมชนก่อนปล่อยสู่คลองสาธารณะ เป็นโครงการนำร่องในการฟื้นฟูระบบนิเวศโดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแนวทาง และแผนการทำงานพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ โดยมีหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วม อาทิ เทศมนตรีตำบลทับมา อ.เมือง จ.ระยอง ประธานชุมชนหมู่ 3 ต.ทับมา คณะกรรมการชุมชนหมู่บ้านโมเดิร์นซิตี้ หมู่บ้านกรุงไทย และชุมชนโดยรอบเข้าร่วม บริเวณอาคารศูนย์การเรียนรู้ หมู่บ้านโมเดิร์นซีตี้ จ.ระยอง
“กิจกรรมดังกล่าวทางสมาคมได้ร่วมขับเคลื่อนการทำงานกับคณะทำงานติดตามคุณภาพน้ำในคลองน้ำหู โดยมีทีมวิทยากร จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้เข้ามาฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม เพื่อให้เกิดแนวทางการปฏิบัติและการวางกรอบการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา ภายใต้แผนงานในระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2564 – 2569 เพื่อผลักดันให้ จ.ระยอง ก้าวไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต่อไป” นายมนชัย กล่าว
ทั้งนี้สมาคมเพื่อนชุมชนและ จ.ระยอง มีเป้าหมายที่จะยกระดับให้จังหวัดเป็นเมืองเชิงนิเวศ ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ปัญหาการบริหารจัดการของเสียในทุกมิติ ทั้งด้านมลพิษ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการน้ำเสียและขยะทั้งระบบ โดยจะต้องมีการบูรณาการความร่วมมือไปสู่แนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการดำเนินงานโครงการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งเพื่อการฟื้นฟูลำคลองสาธารณะ และการบริหารจัดการน้ำผิวดิน ที่จะเป็นต้นแบบนำไปสู่การแก้ไขปัญหาคลองสาธารณะในพื้นที่ของ จ.ระยอง และพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป
A3801