- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Wednesday, 09 March 2022 16:42
- Hits: 6546
‘From Pieces to Business’ เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็น Business Model
บพข. ร่วมกับ สถาบันพลาสติก บริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด PPP plastics และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประกวดแผนธุรกิจ สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นำร่องใช้ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน
ขยะพลาสติกนั้นเป็นปัญหาที่เราพบเจอมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพชั้นในซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง ส่งผลให้เกิดการสร้างขยะในปริมาณสูงตามมาด้วย ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะพลาสติกประเภทบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียว 1.91 ล้านตัน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 0.35 ล้านตัน ที่เหลืออีก 1.56 ล้านตันอยู่ในบ่อขยะและหลุดรอดลงสู่สิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา การนำขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบรีไซเคิล และการเพิ่มอัตราการนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นับว่าเป็นการจัดการปัญหาขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
โครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน เป็นงานวิจัยที่เกิดจากการผลักดันและสนับสนุนทุนวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ สถาบันพลาสติก บริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด PPP plastics และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนารูปแบบโมเดลทางธุรกิจแบบใหม่ เริ่มจากการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง การจัดเก็บและแยกประเภท (Sorting & Bailing) และการนำไปใช้ประโยชน์ โดยรีไซเคิลหรือใช้เป็นพลังงานอย่างครบวงจร สำหรับบรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เหลือจากการใช้อุปโภคบริโภคแล้ว เพื่อเพิ่มอัตราการนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์ และป้องกันขยะพลาสติกหลุดไปสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวยึดหลัก 3P ของ Business Model คือ Profit หรือผลกำไรที่ทำให้ทุกภาคส่วนอยู่ได้ ต่อมาคือ People คนและสังคมอยู่ได้ ซึ่งธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังกลุ่มนี้ได้ สุดท้ายคือ Planet ธุรกิจจะช่วยสร้างประโยชน์และสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้โลกอยู่ได้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ล่าสุด บพข. ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้จัดนิทรรศการ “Let’s Close the Loop” การจัดการขยะและขยะพลาสติกตามแนวคิดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคธุรกิจในการจัดการพลาสติกอย่างครบวงจร โดยจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 – 6 มีนาคม 2565 ณ โซน Living Hall ชั้น 3 สยามพารากอน โดยในงานมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่มาจากการรีไซเคิล การจัดเสวนาให้ความรู้ประชาชนในการจัดการขยะที่ถูกต้อง และการจัดประกวดแผนธุรกิจสำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้หัวข้อ “From Pieces to Business” ในรอบชิงชนะเลิศ โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อพัฒนาแบบแผนธุรกิจสำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน (เขตปทุมวัน) โดยการสนับสนุนจาก บพข. ซึ่งได้มีการดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันมีความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์พลาสติกในประเทศไทยและการจัดการที่ถูกต้องจนครบวงจร ตลอดจนการให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาแผนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการจัดการขยะที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และหลักการและแนวทางเบื้องต้นในการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ รวมถึงการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันนำไปต่อยอดและพัฒนาแนวคิดแผนธุรกิจที่เป็นไปได้จริงในการจัดการพลาสติก โดยได้เปิดโอกาสให้ทั้งนักศึกษาและภาคธุรกิจทุกระดับสามารถส่งโมเดลธุรกิจเพื่อเข้าร่วมประกวด
นางสาวนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า สยามพิวรรธน์มีปณิธานที่แน่วแน่ในการดำเนินงานในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เรามีการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ อยู่เสมอเพื่อให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความรู้ที่จะเกิดขึ้นในการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง นอกจากการให้ความรู้แล้ว สยามพิวรรธน์เองก็ยังมีการบริหารจัดการที่หลังบ้านของเราอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดบุคลากรที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราทำการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง เพื่อให้มีปริมาณขยะที่ต้องถูกเอาไปฝังกลบน้อยลง เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระบบ Circular Economy คือการทำให้เกิด Up cycling ในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากขยะและขยะพลาสติกมากขึ้น กิจกรรม Let’s Close the Loop ในวันนี้เป็นสิ่งที่เราจะช่วยกันให้มีความรู้ในการจัดการขยะที่ถูกต้องและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ถ้าเราทุกคนตระหนักรู้และมีการบริหารจัดการขยะที่ถูกต้อง ระบบนิเวศน์เราจะดีขึ้น สิ่งแวดล้อมที่เราจะส่งต่อให้ลูกหลานก็จะเป็นสิ่งแวดล้อมที่สะอาดขึ้น สิ่งที่ผู้เขาร่วมประกวดคิดมานั้นจะเป็นสิ่งที่เราจะนำไปสานต่อเพื่อสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อให้การรวบรวมขยะที่เราใช้อยู่ในทุกมีวงจรที่สมบูรณ์ขึ้น และมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น
นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า สถาบันพลาสติกได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก บพข. ให้ดำเนินโครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจสำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน อันเป็นโครงการหนึ่งที่จะสนองตอบต่อวาระแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับทางด้าน BCG ของประเทศไทย สำหรับการพัฒนาแผนธุรกิจในโครงการนี้ สถาบันพลาสติกได้ร่วมมือกับ PPP plastics บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำแผนธุรกิจให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ โดยมีการพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ รวมถึงการสอดแทรกพฤติกรรมที่จะสามารถช่วยให้เกิดการคัดแยกและการนำขยะพลาสติกกลับสู่ระบบได้มากขึ้น และเชื่อมโยงข้อมูลทั้งใน Value Chain ด้วยระบบ Digital Platform ทั้งนี้ตามแผนการดำเนินงานของโครงการ กิจกรรม “From Pieces to Business” ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญในโครงการในการเปิดรับแนวคิดต่างๆ ในการบริหารจัดการขยะ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการต่างๆ ในพื้นที่ และผลงานจากการประกวดในวันนี้จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบเพื่อให้เราเห็นว่า ทุกภาคส่วนใน Value Chain มีความสำคัญที่จะสนับสนุนในการบริหารจัดการขยะให้เกิดเป็นผล และสามารถสร้างความยั่งยืนได้
นายวีระ ยังได้กล่าวต่อว่า พลาสติกยังมีความจำเป็นในชีวิตประจำวันของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง COVID-19 เราได้ใช้ประโยชน์จากพลาสติกเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นพลาสติกนั้นมีประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาทางด้านขยะอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาหลักก็คือการบริหารจัดการให้ถูกต้องถูกวิธี จะสามารช่วยให้ทุกๆ อย่างถูกดึงกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงขอย้ำว่าที่จริงแล้วพลาสติกนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และเป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่เราต้องตระหนักและเข้าใจว่าคุณค่าของพลาสติกคืออะไร ซึ่งถ้าเราตระหนักถึงคุณค่าได้แล้ว เราอยากจะใช้พลาสติกให้คุ้มค่ามากที่สุด และสิ่งนี้จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนและก่อประโยชน์ต่างๆ เกิดขึ้นมา
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์ นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โจทย์ที่เรากำลังมองกันอยู่คือการที่จะปิด Loop การจัดการขยะพลาสติกที่อยู่บริเวณตัวเมือง หากมองมาที่ประเทศไทย ถามว่าตรงไหนคือพื้นที่เมือง ตรงไหนที่มีประชากรและการจราจรหนาแน่น เชื่อว่า 1 ใน 4 ที่คนพูดถึง คือพื้นที่ที่อยู่รอบๆ เขตปทุมวัน ซึ่งเป็นหัวใจของจุดที่นักท่องเที่ยวจะต้องมาเช็คอิน มาช้อปปิ้ง และใช้ชีวิตอยู่ตรงนี้ ซึ่งเป้าหมายของการทำงานวิจัยของเราในครั้งนี้คือการได้ Business Model สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติก แต่ถ้า Business Model นี้ถูกคิดบนพื้นฐานของนักวิชาการ มันจะค่อนข้างเป็น Top Down แต่สิ่งที่เราอยากได้คือการมีส่วนร่วมของทุกคน การที่จะ Empower และเป็นเจ้าของ Business Model ร่วมกัน ดังนั้นโครงการนี้จึงประกอบด้วย 4 ภาคส่วนที่ทำงานร่วมกัน โดยภาคส่วนแรกคือ บพข. ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญ ที่ให้การสนับสนุนและขับเคลื่อนในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้าน Circular Economy ภาคส่วนที่สองคือภาคเอกชน ซึ่งมีความสำคัญมากๆ เนื่องจากอุตสาหกรรมในเชิงของพลาสติกที่เชื่อมโยงมาตั้งแต่ Petrochemical Base นั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 10% ของ GDP ของประเทศไทย ดังนั้นเราจึงต้องมีกลุ่มบริษัทต่างๆ ชั้นนำของประเทศ อย่างเช่น PPP plastics ที่มาร่วมนิทรรศการและมาร่วมงานกับเรา ภาคส่วนที่สามคือสถาบันวิชาการ ได้แก่ สถาบันพลาสติก ซึ่งได้รับทุนจาก บพข. และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกันและนำเอาองค์ความรู้มาแลกเปลี่ยนกัน ภาคส่วนสุดท้ายคือภาครัฐ ได้แก่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และเขตปทุมวัน ซึ่งเป็นจะผู้ที่ทำหน้าที่ในเชิงการส่งเสริม สร้างความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการขยะที่ถูกต้อง ดังนั้น idea ต่างๆ ที่ผู้เข้าประกวดได้นำเสนอมาจะถูกส่งต่อไปถึงกลุ่มคนในทั้ง 4 ภาคส่วนซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานจริงที่มาร่วมงานในวันนี้ เพราะฉะนั้นการประกวด Business Model ในวันนี้จึงเป็นการรวมคนที่มีใจที่จะทำงานด้านนี้จริงๆ มาอยู่ในพื้นที่เดียวกันเพื่อช่วยกันผลักดันให้เกิดโมเดลการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ
รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า บพข. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio Economy, Circular Economy, Green Economy) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติปี 2564 – 2570 และสอดคล้องกับ(ร่าง)แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ด้วย โดย Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ถือเป็น cross cutting ที่สามารถช่วยทุกๆ อุตสาหกรรม ซึ่ง 3 สาขาหลักที่ประเทศตั้งเป้าขับเคลื่อนคือ พลาสติกบรรจุภัณฑ์ เกษตรและอาหาร และวัสดุก่อสร้าง โดยในส่วนของพลาสติกเราได้ทราบจาก PPP plastics ว่ามีการขับเคลื่อนเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เช่น ชุมชนวังหว้า จังหวัดระยอง และคลองเคยซึ่งเป็นอาคารสำนักงาน ที่ประสบความสำเร็จ แต่เรื่องที่ท้าทายคือชุมชนเมืองมีห้างสรรพสินค้า พื้นที่มหาวิทยาลัย มีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ที่เรียกว่า “ปทุมวันโมเดล” โดยมีความร่วมมือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และเขตปทุมวัน ที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อน เราอยากจะหา Business Model ที่จะเป็นตัวแทน เอามาใช้ประโยชน์ และจะได้ขยายผลไปยังชุมชนเมืองอื่นๆ ของประเทศไทย และหวังว่าสถาบันพลาสติกพร้อมกับหน่วยงานภาคีจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งวันนี้รู้สึกดีใจที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่ให้แนวคิดของ Business Model และจากที่ได้นั่งอ่านแผนธุรกิจของแต่ละทีมก็รู้สึกชื่นชม และหวังอยากให้ประสบความสำเร็จ และทำให้เกิดแบบแผนธุรกิจที่จะใช้ประโยชน์ในตัวเมืองชั้นในได้
จากความพยายามของ บพข. และภาคีเครือข่ายในการสร้าง Business Model นั้น เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร เมื่อสิ้นสุดโครงการคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 2,190 ตัน/ปี พร้อมกับทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 10.95 ล้านบาท/ปี จากการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะจากต้นทาง และการเพิ่มศักยภาพศูนย์คัดแยก (Sorting & Bailing Hub) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดวัฏจักรทางธุรกิจนี้ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม จะสามารถนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมด้านการจัดการขยะพลาสติกของประเทศได้อย่างยั่งยืน
A3308