- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Monday, 14 February 2022 07:56
- Hits: 8937
2 กระทรวงถกด่วน ติดตามการแก้ปัญหาน้ำมันรั่วไหลกลางทะเลมาบตาพุด สกัดน้ำมันรั่วซ้ำรอยไม่ให้ถึงชายฝั่ง
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม เรียกประชุมด่วนติดตามการแก้ไขปัญหากรณีน้ำมันรั่วไหลกลางทะเล พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องห้ามให้คราบน้ำมันขึ้นสู่ชายหาดอย่างเด็ดขาด
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหามาตรการเพื่อรองรับและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก รวมถึงเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งกำลังพิจารณาว่าจะมีการนำสาร Dispersant (สารที่ใช้ในการกำจัดคราบน้ำมัน) มาใช้เพิ่มในการขจัดคราบน้ำมันหรือไม่
ขณะเดียวกันขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการทำงานของท่อที่อยู่ใต้ทะเล และท่อที่อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้ว่ามีที่ไหนบ้าง อย่างไรก็ตาม ได้มีการหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือถึงมาตรการและแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีกในอนาคต
พร้อมทั้งได้กำชับในเรื่องของการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขี้นด้วย โดยบริษัท ได้ยืนยันว่าพร้อมที่จะรับผิดชอบทั้งหมด
“ผมขอให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลป้องกันไม่ให้คราบน้ำมันขึ้นสู่ชายหาด ทั้งที่หาดแม่รำพึง หรือที่อ่าวพร้าว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการท่องเที่ยวในพื้นที่” นายวราวุธ กล่าว
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า บริษัท ได้หยุดกิจกรรมบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเลตามขั้นตอนความปลอดภัย และดำเนินการนำทุ่นกักน้ำมัน (boom) กักคราบน้ำมันไว้ พร้อมทั้งฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน
นอกจากนี้ ยังได้ประสานสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (IESG) เพื่อขอ Boom มาเพิ่มในการจัดการกับคราบน้ำมันให้เร็วขึ้น ป้องกันไม่ให้คราบน้ำมันเข้าสู่ชายหาด
“กนอ.ขอย้ำอีกครั้งว่า แม้ปัจจุบัน กนอ.และกระทรวงอุตสาหกรรมจะไม่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง แต่ยืนยันว่า กนอ.ยินดีสนับสนุนการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และจะพยายามมีส่วนร่วมในการป้องกันอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต”
รายงานสถานการณ์และชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม กรณีพบฟิล์มน้ำมันบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM)
ตามที่บริษัทฯ ได้แจ้งให้ทราบว่าในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.20 น. บริษัทฯ พบฟิล์มน้ำมันประมาณ 5,000 ลิตร ระหว่างการเตรียมการจะเอาน้ำมันออกจากท่อที่อยู่ใต้ทะเล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล ของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง บริษัทฯ ขอชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมในการตอบโต้เหตุการณ์ดังกล่าว ดังนี้
บริษัทฯ ได้มีการวางแผนงานเพื่อทำการเตรียมเอาน้ำมันออกจากท่อ โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมวางแผน ซึ่งเป็นไปตามหลักวิศวกรรม คำนึงถึงความปลอดภัย และผลกระทบอันอาจจะเกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมในครั้งนี้ โดยก่อนดำเนินการบริษัทฯ ได้ทำหนังสือแจ้ง เรื่องการเริ่มดำเนิน กิจกรรม ขั้นตอนการปฏิบัติงาน และขั้นตอนการเตรียมการสำหรับการป้องกันการรั่วไหลไปยังเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว
ซึ่งในระหว่างเตรียมการเอาน้ำมันออกจากท่อ บริษัทฯ พบว่ามีการรั่วไหลของน้ำมันดิบออกมาจากท่ออ่อนใต้ทะเล ดังนั้น บริษัทฯ จึงหยุดการปฏิบัติกิจกรรมที่บริเวณทุ่นเดี่ยวกลางทะเล (SPM) ทันที และระดมทีมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินปฏิบัติการตอบโต้ทันที โดยการนำทุ่นกักน้ำมัน (Boom) มาล้อมบริณที่พบน้ำมัน ทำการฉีดพ่นสารขจัดคราบน้ำมันด้วยเรือ ใช้วัสดุดูดซับน้ำมันกลางทะเล (Absorbent Boom) ใช้เรือในการตีกวนน้ำเพื่อให้น้ำมันแตกตัว (Agitation) ส่งนักประดาน้ำลงสำรวจใต้น้ำอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือภาคที่ 1 จัดเฮลิคอปเตอร์บินขึ้นทำการฉีดพ่นสารขจัดคราบน้ำมันไปโปรยบริเวณพื้นที่เกิดเหตุ และจัดกำลังพลเข้าประจำพื้นที่บริเวณหาดแม่รำพึง จ.ระยอง เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์พร้อมตอบโต้กรณีได้รับแจ้งว่าพบคราบน้ำมันทั้งในทะเลและบริเวณชายหาด
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 บริษัทฯ ได้รับรายงานว่า ไม่พบการรั่วไหลของน้ำมันดิบในบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล (SPM) ยังคงพบฟิล์มน้ำมันบริเวณชายฝั่งและในทะเลเล็กน้อย จึงได้ระดมกำลังพลพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือเข้าดำเนินการควบคุมฟิล์มน้ำมันได้อย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ร่วมกับกำลังพลจากกองทัพเรือ ยังคงจัดทีมติดตามและเฝ้าระวังทั้งในน้ำและแบบเคลื่อนที่เร็วบริเวณชายหาดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตอบโต้หากพบว่าได้รับแจ้งหรือพบว่ามีคราบน้ำบริเวณชายหาด ส่วนการดำเนินการดูแลสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างอากาศ น้ำทะเล และทราย เพื่อตรวจสอบคุณภาพอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าการทำงานในครั้งนี้ จะมีความยาก และท้าทายหลายประการ แต่บริษัทฯ ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างรอบคอบ เป็นไปตามหลักวิศวกรรม และคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ ตระหนักดีว่า แม้บริษัทฯ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะลดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดแล้ว แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ก็ยังสร้างความเสียหายให้กับชุมชน การประมง ธุรกิจท้องถิ่น และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล
ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ ขอโทษและยินดีที่จะพิจารณาชดใช้ความเสียหายต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและสมเหตุสมผล และบริษัทฯ ขอยืนยันว่าจะปฏิบัติตามคำแนะนำและทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างเคร่งครัด
หากมีความคืบหน้า บริษัทฯ จะรายงานสถานการณ์ให้ทราบโดยเร็วที่สุด