- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Friday, 22 October 2021 22:58
- Hits: 20271
กรมโรงงาน แจงด่วน! กรณีข่าวพบสารก่อมะเร็ง NOx gas ใน กทม. และปริมณฑลเข้าขั้นวิกฤต
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ชี้แจงด่วน! กรณีข่าวพบสารก่อมะเร็งใน กทม. และปริมณฑลเข้าขั้นวิกฤต
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ชี้แจงด่วน! กรณีข่าวพบสารก่อมะเร็งใน กทม. และปริมณฑลเข้าขั้นวิกฤต ตามที่ นายพงศ์พรหม ยามะรัต รองหัวหน้าพรรคกล้า โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุถึงคุณภาพอากาศของประเทศไทยว่า วิกฤตหนักที่กรุงเทพและปริมณฑล กำลังเจอ NOx gas สารก่อมะเร็งที่ลอยอยู่ในอากาศเกิดจากการสันดาปเครื่องยนต์ดีเซล ‘สกปรก’ และเครื่องฟอกอากาศไม่สามารถกำจัดได้ โดยสาเหตุสำคัญมาจากการใช้น้ำมันยูโร 1-3 ที่ทั่วโลกห้ามใช้ แต่กลับมีการใช้ในประเทศไทย รวมถึงการไม่เข้มงวดกับการปล่อยไอเสียของรถควันดำและโรงงานอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ขอชี้แจงดังนี้
- กระบวนการหลักที่ก่อให้เกิดออกไซด์ของไนโตรเจน มาจากกระบวนการเผาไหม้ ได้แก่ เชื้อเพลิงที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิลและเชื้อเพลิงชีวมวล (ไนโตรเจนจากเชื้อเพลิง, fuel NOx) และการเผาไหม้ที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,100 องศาเซลเซียส (ไนโตรเจนจากอากาศ, 79%, prompt NOx) ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดมาตรฐานการระบาย NOx จากกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงและจากการประกอบกิจการโรงงาน (โรงงานทุกประเภท) รวมถึงมีการกำหนดค่ามาตรฐานการระบาย NOx เฉพาะประเภทอุตสาหกรรม เพื่อให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีการผลิต วิธีการควบคุมมลพิษ และลักษณะการประกอบกิจการ เช่น โรงไฟฟ้า โรงปูนซีเมนต์ โรงผลิตแก้วโรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น
- กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน ได้ตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องระบายแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง(CEMS) จาก 226 ปล่อง 86 โรงงาน เป็นของภาคตะวันออก 79 ปล่อง ภาคกลาง 86 ปล่องพบว่าค่า NOx ที่ระบายจากปล่องมีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ 400 ppm โดยตลอด และค่าเฉลี่ยของปีที่ค่า NOx สูงที่สุดจะอยู่ที่เพียง 39.75% ของค่ามาตรฐาน หรือต่ำกว่าค่ามาตรฐานประมาณ 2.5 เท่า
3.กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการระบายมลพิษอากาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษอากาศ บังคับใช้เพิ่มเติม ดังนี้
3.1 กำหนดให้โรงงานประเภทต่างๆ ต้องติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษเพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ โดยจะให้โรงงานเป้าหมายที่มีขนาดและการใช้ประเภทเชื้อเพลิงตามที่กำหนด ทั่วประเทศส่งข้อมูลผลการตรวจวัดการระบายมลพิษให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้แสดงผลข้อมูลจากการตรวจวัดนี้ผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนเข้าติดตามผลการควบคุมการระบายมลพิษของโรงงานได้ตลอดเวลา
3.2 กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมายต้องประเมินตนเองและรายงานปริมาณการระบายสารมลพิษ ซึ่ง NOx เป็นพารามิเตอร์หนึ่งที่โรงงานต้องทำการรายงานด้วยหากมีการปลดปล่อย
3.3 ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษอากาศจากโรงไฟฟ้า เพื่อควบคุมการระบายสารมลพิษหลัก คือ ฝุ่นละอองSO2 และ NOx ให้เข้มงวดขึ้น โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลดการเผาไหม้ โดยนำความร้อนเหลือทิ้งจากการเผาไหม้มาใช้ประโยชน์ นอกจากจะช่วยลดการระบาย CO2 แล้ว ยังลดการระบาย NOx ฝุ่นละออง และสารมลพิษอื่นๆ อีกด้วย ทั้งนี้ ภายใต้โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตั้งเป้าหมายการลดการระบายมลพิษที่ดีกว่ากฎหมายกำหนด รวมถึงตั้งเป้าหมายลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงในปัจจุบันมีโรงงานเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมสีเขียวแล้วกว่า 44,414 ใบรับรอง
- กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้โรงงานที่มีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง เช่น โรงงานที่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต้องมีผู้ควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม และต้องตรวจวัดค่าการระบายมลพิษและจัดทำรายงาน เพื่อใช้กำกับให้โรงงานดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบายมลพิษไม่เกินที่กฎหมายกำหนด
https://www.diw.go.th/webdiw/pr64-49/
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ