- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Wednesday, 28 July 2021 20:47
- Hits: 17960
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจงเครือข่ายชนเผ่าฯ (คชท.) ขึ้นทะเบียนผืนป่ามรดกโลกแก่งกระจาน เน้นพร้อมแก้ไขปัญหาชาวบ้านในพื้นที่ สอดคล้องระเบียบ กฎหมาย
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ณ เมืองฝูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 มีมติให้ขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ภายใต้หลักเกณฑ์ข้อที่ 10 คือ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสําคัญสูงสุดสําหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกําเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก นับว่าเป็นข่าวดีของคนไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า
แต่อย่างไรก็ตาม เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ได้ออกแถลงการณ์กรณีกลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติว่าเครือข่ายฯ มิอาจร่วมแสดงความยินดีต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลกดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีการขอฉันทามติและการยินยอมจากชุมชน สะท้อนว่ามีการละเลยและไม่คำนึงถึงสิทธิของชุมชน ดั้งเดิมที่อยู่อาศัยมาก่อนการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้เร่งแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยง ยกฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้านบางกลอยในข้อหาบุกรุกและทำลายป่า ยุติการคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ลงไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน และรับฟังความคิดเห็นและเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ตามแถลงการณ์ของ คชท. ที่เรียกร้องในการแก้ไขปัญหาของชาวกระเหรี่ยง ให้เป็นยังเป็นไปตามมติของคณะกรรมการมรดกโลกนั้น ปัจจุบัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ตลอดจนกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ได้ดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินในเขตอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวข้างต้นเสร็จแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดระเบียบปฏิบัติในการดำเนินการให้เป็นไปตาม มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
สำหรับ การขอให้ยกฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้านบางกลอยในข้อหาบุกรุกและทำลายป่า เพราะอ้างว่าสิ่งที่ชาวบ้านกระทำไปนั้นเป็นการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพตามแนววิถีปฏิบัติ ตามประเพณีในพื้นที่บรรพบุรุษของตนเท่านั้น จากการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง พื้นที่บริเวณที่เรียกว่าใจแผ่นดิน ซึ่งอยู่ใกล้แดนไทย-เมียนมา และเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A นั้น กรมการปกครองยืนยันว่าไม่เคยจดทะเบียนบ้านใจแผ่นดินในสารบบของกรมการปกครองแต่อย่างใด จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2539 พื้นที่บริเวณใจแผ่นดินเกิดปัญหาชายแดนที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ มีการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐ
ตลอดจนพบว่า มีกลุ่มคนเข้าไปตั้งเพิงพักในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ใกล้กับฐานปฏิบัติการใจแผ่นดิน บริเวณบางกลอยบนและห้วยสามแพร่ง โดยไม่มีสิทธิในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย หน่วยงานความมั่นคงจึงได้เจรจาให้คนกลุ่มดังกล่าว ลงมาอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ที่รัฐจัดให้บริเวณพื้นที่บ้านบางกลอย (ล่าง) ซึ่งอยู่ใกล้บ้านโป่งลึกซึ่งมีกลุ่มชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มาก่อนแล้ว เพื่อให้ได้รับสวัสดิการพื้นฐาน เช่น โรงเรียน สถานีอนามัย และมีโครงการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามสารบบของกรมการปกครอง เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านอย่างมั่นคงและยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเคลื่อนย้ายชาวบ้านมาอยู่อาศัยที่บ้านโป่งลึก - บางกลอย (ล่าง) ในช่วงปี พ.ศ. 2541 – 2552 นั้น กลับมีกลุ่มคนบางส่วนย้อนกลับขึ้นไปยังบริเวณพื้นที่บางกลอย (บน) และบุกรุก โค่นล้มต้นไม้ใหญ่เพื่อปลูกข้าวไร่ พริก รวมทั้งพบการปลูกกัญชา ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้บุกรุกตามกฎหมายและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พืชผลอาสินในบริเวณพื้นที่ที่บุกรุกและฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกให้ฟื้นฟูกลับสู่สภาพธรรมชาติเดิม
ทั้งนี้ กรณีการขอกลับขึ้นไปที่ใจแผ่นดินนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษากรณีผู้ฟ้องคดีขอกลับคืนพื้นที่ใจแผ่นดินว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทได้ เนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และ ผู้ฟ้องคดีไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจกำหนด คำบังคับให้ผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่สภาพเดิม
โดยให้กลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมได้ ประกอบกับนายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ ที่ระบุในคำพิพากษาว่าเกิดที่ใจแผ่นดินนั้น มีพยานหลักฐานยืนยันว่า นายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ เคยให้ถ้อยคำต่อสภาทนายความว่า ตนเกิดที่ต้นน้ำภาชี จังหวัดราชบุรี และได้อพยพข้ามมาอยู่บ้านบางกลอย (บน) เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2484 อันแสดงว่านายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ ไม่ได้อยู่ในผืนป่าแก่งกระจานมาแต่เดิม แต่ย้ายถิ่นฐานมาจากที่อื่น
และเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) ส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม สำนักงานสนับสนุนการป้องกันปราบปรามที่ 1 (ภาคกลาง) หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 144 กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 1 (ค่ายฝึกการรบพิเศษแก่งกระจาน) กองการบิน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันออกลาดตระเวน ตรวจตราการกระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแผนการบินตรวจสภาพป่า ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พ.ศ. 2562 แต่อย่างใด คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันตรวจยึดพื้นที่บุกรุกดังกล่าว พร้อมจับกุมผู้ต้องหา รวม 22 ราย นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานเพื่อสอบสวนดำเนินคดีต่อไป โดยคดีดังกล่าว ศาลจังหวัดเพชรบุรี นัดฟังคำฟ้องในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564
นายธัญญา เนติธรรมกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่เคยคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่ม หรือบุคคลที่ลงไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านแต่อย่างใด ในส่วนของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นั้น ได้ให้ความสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และให้ความร่วมมือในการติดต่อประสาน อำนวยความสะดวกในการเข้าพื้นที่ เพื่อการบริจาคสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชนบ้านบางกลอยมาโดยตลอด ทั้งในด้านการอำนวยความสะดวก การสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ขนย้าย และการสนับสนุนยานพาหนะเพื่อขนส่งสิ่งของ แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในพื้นที่นั้น
เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ มีความจำเป็นต้องมีความเข้มงวดในการเข้า-ออก พื้นที่ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อ ทั้งนี้ เป็นการดำเนินมาตรการร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 นายอิทธิพล ไทยกมล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ และเจ้าหน้าที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 144 กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 1 (ค่ายฝึกการรบพิเศษแก่งกระจาน) ได้ร่วมกันรับมอบเสบียงอาหารแห้ง อาทิ ข้าวสาร ปลาแห้ง น้ำตาลปี๊บ นมกล่อง หัวหอมแห้ง กระเทียม ฟัก วุ้นเส้น เวชภัณฑ์ต่างๆ จาก ตัวแทนภาคประชาสังคมจ.เพชรบุรี ผู้แทนภาคีเครือข่าย SAVE บางกลอย เพื่อนำไปมอบให้กลับราษฎรบ้านโป่งลึกบางกลอย ทั้งนี้ ในการลำเลียงขนส่งเสบียงอาหารดังกล่าวต้องใช้ทั้งรถยนต์ส่งต่อไปยังเรือยางก่อนนำขึ้นรถยนต์ลำเลียงไปส่งมอบให้พี่น้องหมู่บ้านโป่งลึกบางกลอย เนื่องจากถนนบางช่วงมีน้ำท่วมขัง ระดับสูงที่สุดประมาณ 1.50 เมตร
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก ซึ่งเป็นพื้นที่บรรพบุรุษและพื้นที่จิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงด้วย ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ โดยมีแนวทางในการดำเนินการเพิ่มสัดส่วนผู้แทนชุมชนท้องถิ่นในคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ และคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษามรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยให้มีผู้แทนจากกลุ่ม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อกำหนดแผนในการจัดทำโครงการศึกษาและการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่แหล่งมรดกโลกอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อคนอยู่กับป่าอย่างสมดุล
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ