- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Thursday, 10 June 2021 12:10
- Hits: 1036
กิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก และวันทะเลโลก
เสวนา เรื่อง ‘ขยะพลาสติก : การจัดการและโอกาส Post COVID-19’
(หาทางออก เพิ่มโอกาส สร้างรูปแบบที่สมดุล มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน)
เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกปี 2564 (5 มิถุนายน) หรือ World Environment Day ภายใต้ Theme : “REIMAGINE RECREATE RESTORE” หรือ ปลุกจินตนาการ ปรับแนวคิด ปกป้องสิ่งแวดล้อม และวันทะเลโลกปี 2564 (8 มิถุนายน) หรือ World Ocean Day ภายใต้ Theme : “The Ocean: Life and Livelihoods” ทางโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน หรือ Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management (PPP Plastics) ที่ก่อตั้งขึ้นโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก และวันทะเลโลก ภายใต้งานเสวนา หัวข้อ “ขยะพลาสติก : การจัดการและโอกาส Post COVID-19” (หาทางออก เพิ่มโอกาส สร้างรูปแบบที่สมดุล มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน) ซึ่งเป็นการจัดงานเสวนาผ่านระบบออนไลน์ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด COVID-19 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนผู้ที่สนใจ ได้ตระหนักถึงสถานการณ์การจัดการขยะพลาสติกของไทยและประโยชน์ของพลาสติกช่วง COVID-19 ในมิติต่างๆ ผลการดำเนินงานของโครงการ PPP Plastics ที่ผ่านมา รวมถึงได้มีการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะและขยะพลาสติก ร่วมหาทางออกการบริหารจัดการขยะพลาสติก เพื่อสร้างรูปแบบที่สมดุลอันมุ่งไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน
โดยงานเสวนาในวันนี้มี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ประธานโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics) เป็นประธานกล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาสรุปว่า “ขยะพลาสติก” เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทย รวมทั้งปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลก หากไม่มีระบบจัดการขยะที่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพ มีการคาดการณ์ได้ว่าทั่วโลกภายในอีก 20 ปีข้างหน้านี้ จะส่งผลทำให้มีขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมมากถึง 700 ล้านตัน โดยวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ การลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมบูรณาการความร่วมมือกันในการลดการใช้งานพลาสติกที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการลด ละ เลิก การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Used Plastic) และการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามวาระแห่งชาติขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ในการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบและครบวงจรก็จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจสีเขียวที่สามารถสร้างมูลค่าของของเสียเพิ่มขึ้นควบคู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและรักษาความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
โดยการจัดงานเสวนาแบ่งการเสวนาออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก การเสวนา “ขยะพลาสติก : การจัดการและโอกาส Post COVID-19” ได้รับเกียรติอย่างสูงจากผู้บริหารทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน มาร่วมเป็นวิทยากร เพื่อร่วมนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย ดังนี้ คุณอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่ารัฐบาลได้เห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก จึงได้มีการจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 และจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ภาครัฐได้มุ่งเน้นในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการรวบรวมพลาสติกนำกลับไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธาน PPP Plastics กล่าวว่าโครงการ PPP Plastics ถือได้ว่าเป็นความร่วมมือโครงการแรกของภาคเอกชนที่เข้ามามีบทบาททำงานร่วมกับภาครัฐ และภาคส่วนอื่นๆ เพื่อร่วมกันดำเนินงานตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 และ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 รวมทั้งแผนปฏิบัติการเพื่อจัดการขยะพลาสติกในทะเลของอาเซียน ปี 2564-2568” เพื่อให้ประเทศสามารถแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมอันไปสู่ความยั่งยืน คุณวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการ สถาบันพลาสติก กล่าวว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมุม จนต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ความต้องการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยมีเพิ่มสูงขึ้น และพลาสติกก็จัดเป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าว เพื่อให้การใช้พลาสติกเกิดประโยชน์สูงสุด และมีการบริหารจัดการขยะที่ถูกต้องเหมาะสม การทำความเข้าใจในตัวพลาสติกและคุณค่าที่มีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดร.ภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการส่วนจัดการมูลฝอย สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี มีวิสัยทัศน์ กรุงเทพมหานครจัดการขยะด้วยแนวคิดเหลือศูนย์ (Zero Waste) โดยส่งเสริมทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมนำขยะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดให้เหลือน้อยที่สุด และกำจัดขยะที่เหลือด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
และช่วงที่ 2 การเสวนา เรื่อง “บทบาทภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก” ได้รับเกียรติอย่างสูงจากผู้บริหารจากองค์กรภาคธุรกิจชั้นนำของประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก เพื่อสร้างรูปแบบที่สมดุลอันมุ่งไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน ดังนี้ คุณฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่าอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ คือ การออกมาตรการทางกฎหมายและมาตราทางการสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการจัดการขยะพลาสติกตลอดทั้งระบบจากภาครัฐ สำหรับภาคธุรกิจ เรามีเทคโนโลยีพร้อมสำหรับการนำพลาสติกมาใช้ประโยชน์ หากภาครัฐส่งเสริมมาตราการหล่านี้แล้ว ผมเชื่อว่าเราจะผลักดันให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติกได้อย่างสมบูรณ์ คุณศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President – Polyolefins and Vinyl, Chemicals Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่าในปัจจุบันวิกฤต COVID-19 ก็เป็นอีกความท้าทาย ที่ทำให้เกิดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งเพิ่มมากขึ้น เอสซีจีจึงมุ่งหาทางออก ด้วยการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการของเสียอย่างยั่งยืน ควบคู่กับนวัตกรรม เทคโนโลยีพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ นำระบบดิจิตอล เข้ามาช่วยบริหารจัดการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืน และภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GC เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการพลาสติกใช้แล้วและปัญหาสภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกันและมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต เราจึงมุ่งหาทางออกที่เหมาะสมผ่านการดำเนินงานภายใต้ GC Circular Living Framework เป็นแนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เสริมสร้างความตระหนักรู้สู่ผู้บริโภค และต่อยอดสู่การดำเนินการเชิงพาณิชย์ที่ช่วยลดผลกระทบทั้งทางด้านปริมาณขยะจากพลาสติกใช้แล้วและปัญหาสภาวะโลกร้อนควบคู่กันอย่างบูรณาการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และ คุณนภดล ศิวะบุตร ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่าหลังจากที่มีวิกฤต COVID-19 เกิดขึ้น ทำให้บรรจุภัณฑ์ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use) ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ด้านสุขอนามัยของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอีกครั้ง เพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่และลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด ภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้เริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุสำหรับบรรจุภัณฑ์ ซึ่งนอกจากจะสามารถปกป้องและคงคุณภาพของสินค้าจนถึงมือผู้บริโภคแล้ว ยังจะต้องสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ลดผลกระทบและภาระต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยมี คุณสร้อยฟ้า ตรีรัตนนุกูล เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงการเสวนาทั้ง 2 ช่วง
นอกจากนี้ ในช่วงท้ายสุดของงานเสวนา คุณอเล็กซ์ เรนเดลล์ ดารานักแสดงและทูตสันถวไมตรีด้านสิ่งแวดล้อมคนแรกของไทย ได้มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับการสร้างจิตสำนึก ดูแลสิ่งแวดล้อม นำเสนอผ่าน VDO Clip หัวข้อ “ร่วมกันสร้างจิตสำนึก ดูแลสิ่งแวดล้อม สู่อนาคตที่ยั่งยืน” อีกด้วย
A6256
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ