- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Saturday, 10 October 2020 19:48
- Hits: 16184
ทช. จับมือ สวทช. วิจัยพันธุ์ไม้ป่าชายเลนเสี่ยงสูญพันธุ์ เตรียมสร้างฐานข้อมูลจีโนมพืชป่าชายเลนครั้งแรกในไทย สู่ศูนย์กลางป่าชายเลนโลก
ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดแถลงข่าวลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การวิจัย พัฒนา และวิชาการ เกี่ยวกับป่าชายเลน
โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และนายโสภณ ทองดี อธิบดี ทช. ร่วมลงนาม ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ ประธานในพิธีลงนาม พร้อมด้วย นายอภิชัย เอกวนากูล รักษาการรองอธิบดี ทช. และ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมเป็นสักขีพยาน
ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ กล่าวว่า ป่าชายเลน เป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญ อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็มมีพันธุ์พืช มากกว่า 80 ชนิดเจริญอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นพืชที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ทำให้ป่าชายเลนกลายเป็น ‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’ ที่สำคัญของประมงชายฝั่ง สร้างอาชีพ และรายได้ให้ชุมชน ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีโครงการที่สำคัญในระดับโลก คือ โครงการ ‘สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9’
ซึ่งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนแห่งแรกของโลกที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่บ้านเสม็ดงาม จ. จันทบุรี จะเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลนจากทั่วโลกมาไว้ที่นี่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และการวิจัยป่าชายเลนในระดับนานาชาติความร่วมมือระหว่าง ทช. และ สวทช. จะเป็นการนำเอาจุดเด่นของความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาบูรณาการงานวิจัยป่าชายเลนนำไปสู่การเปิดบทบาทการวิจัยแนวหน้าด้านป่าชายเลนในประเทศไทยให้รองรับการดำเนินงานของสวนพฤษศาสตร์นานาชาติ ร.9 แห่งนี้
นายโสภณ ทองดี อธิบดี ทช. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดและยกระดับงานวิจัยด้านป่าชายเลน และสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านป่าชายเลนของโลกโดยมีสวนพฤษศาสตร์นานาชาติ ร.9 ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ โดยการใช้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนของประเทศไทย ให้เกิดการสร้างความรู้ความเข้าใจในระดับจีโนม พันธุกรรม และความสัมพันธ์กับระบบนิเวศ ตลอดจนวิธีการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนในระยะยาว
ให้เกิดการบริหารจัดการและสามารถนำความรู้ไปใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูในถิ่นกำเนิด ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชน และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยในระยะแรกมุ่งเป้าศึกษาพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่หายากใกล้สูญพันธุ์ตามบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (สิ้นสุดในปี 2565) โดยมีส่วนวิจัยทรัพยากรป่าชายเลน กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ซึ่งมีศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 1-6 ของ ทช. เป็นหน่วยงานภาคสนาม ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนในฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน 24 จังหวัด ร่วมดำเนินการ
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สำหรับความสําคัญของงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน สวทช. ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน มุ่งเน้นการสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีในศูนย์แห่งชาติต่างๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ด้านคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ด้านโลหะและวัสดุศาสตร์ ด้านพลังงาน รวมทั้งด้านนาโนเทคโนโลยี นอกจากนั้น สวทช. ยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติ ได้แก่ ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ และธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ซึ่งมีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยการวิจัยแนวหน้าในระดับจีโนมและพันธุกรรม โปรตีนและการแสดงออกของยีน วิธีการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมและชีววัสดุในระยะยาว
ความร่วมมือของ ทช. และ สวทช.
ครั้งนี้ สวทช. ยินดีที่มีโอกาสสร้างความร่วมมือกันศึกษาวิจัยพันธุ์ไม้ป่าชายเลน โดยเฉพาะชนิดที่มีการแพร่กระจายน้อย หายาก ใกล้สูญพันธุ์ โดยผลงานวิจัยมุ่งเป้าให้เกิดฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิงของพืชป่าชายเลนเป็นครั้งแรกของประเทศไทย วิธีการอนุรักษ์พันธุกรรมในสภาพปลอดเชื้อระยะยาว ซึ่งจะนำไปสู่การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ป่าชายเลน เกิดการปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต สร้างความมั่นคงทางอาหารและทางระบบนิเวศให้กับป่าชายเลนในประเทศไทยคงความอุดมสมบูรณ์ ชุมชนมีรายได้ และเกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
ข้อมูลเพิ่มเติม 1
โครงการความร่วมมือการวิจัย พัฒนา และวิชาการ เกี่ยวกับป่าชายเลน มุ่งเน้นศึกษาชนิดพันธุ์พืชป่าชายเลน 15 ชนิด ได้แก่
- • ไม้ชายเลนหายากใกล้สูญพันธุ์ 5 ชนิด
- พังกา-ถั่วขาว (Bruguiera hainesii)
- ลำแพนหิน (Sonneratia griffithii)
- หงอนไก่ใบเล็ก (Heritiera fomes)
- แสมขน (Avicennia lanata)
- หลุมพอทะเล (Intsia bijuga)
- • ไม้ป่าชายเลนที่แท้จริง (true mangrove) 10 ชนิด
- ลำแพน (Sonneratia ovate)
- โปรงขาว (Ceriops decandra)
- โกงกางใบใหญ่ (Rhizophora mucronata)
- โกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata)
- ประสักแดง/พังกาหัวสุมดอกแดง (Bruguiera gymnorrhiza)
- ประสักขาว/พังกาหัวสุมดอกขาว (Bruguiera sexangula)
- ถั่วขาว (Bruguiera cylindrica)
- ถั่วดำ (Bruguiera parviflora)
- โปรงแดง (Ceriops tagal)ฃ
- โปรงหมู (Ceriops zippeliana)
ข้อมูลเพิ่มเติม 2
โครงการความร่วมมือการวิจัย พัฒนา และวิชาการ เกี่ยวกับป่าชายเลน มีศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 1-6 ของ ทช. เป็นหน่วยงานภาคสนาม ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนในฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน 24 จังหวัด ประกอบด้วย
- ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 1 ตราด จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ
- ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 สมุทรสาคร ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์
- ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 3 ระนอง ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร ระนอง
- ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 4 พังงา ประกอบด้วย จังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่
- ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 5 นครศรีธรรมราช ประกอบด้วย จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี
- ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 6 สตูล ประกอบด้วย จังหวัดสตูล ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ