- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Monday, 06 October 2014 23:47
- Hits: 4718
เหมืองทองอัคราพิจิตรให้ความร่วมมือนักวิชาการ NGO เจาะเลือดตรวจสอบหาสารพิษมั่นใจอุตสาหกรรมปลอดภัย
ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรังสิต และทีมงานแพทย์อาสาพร้อมด้วยกำลังทหารและกลุ่มเครือข่าย NGOได้ร่วมกันลงพื้นที่ไปทำการเจาะเลือดของชาวบ้านที่วัดนิคมราษฎร์บำรุง หมู่ 8 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตรซึ่งล้วนเป็นชาวบ้าน พระภิกษุสงฆ์ และพนักงานคนงานของเหมืองแร่ทองคำ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส โดยอ้างเหตุว่าได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านที่ร้องทุกข์ไปยัง คสช. จน นายสุรชัย ขันอาสา ผวจ.พิจิตร ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน 5 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย 1. ฝ่ายชาวบ้านที่อ้างว่าได้รับความเดือดร้อน 2.ฝ่ายเหมืองทองอัครา 3.ฝ่ายนักวิชาการ 4. ฝ่ายข้าราชการประจำที่อยู่ใน จ.พิจิตร 5.ฝ่ายทหาร-ตำรวจ ให้ทำการตรวจสอบเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร โดยได้ลงพื้นที่มาแล้ว 3 ครั้ง เก็บตัวอย่างเลือดของชาวบ้านรวมแล้ว 650 ตัวอย่างเพื่อจะไปพิสูจน์หาสารปนเปื้อนที่อาจส่งผลถึงสุขภาพของประชาชน
ซึ่งฝ่ายนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บมจ.อัครา รีซอร์สเซสก็ออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้ถึงการที่ต้องถูกตรวจสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ชาวบ้านไม่ได้มีความเดือดร้อนอย่างที่ถูกโจมตี หรือเป็นข่าว โดยแท้ที่จริงแล้วมีแค่เพียงคู่ปรปักษ์บางคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับเหมืองทอง ได้ทำเอกสารเท็จแอบอ้างชื่อชาวบ้านไปร้องเรียน คสช. จนกลายเป็นเรื่องทำให้ชาวบ้านแตกแยกอยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็มี 20 คน แล้วที่ยืนยันว่าไม่ได้เดือดร้อนแต่มีชาวบ้าน 9 คน ไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.ทับคล้อ แล้วว่าถูกแอบอ้างใช้ชื่อโดยไม่รู้ตัว แต่ก็ไม่มีการตรวจสอบหรือดำเนินการแต่อย่างใด จากฝ่ายที่อ้างว่าเป็นตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รวมถึงฝ่ายนักวิชาการที่ยังคงเดินหน้าทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับหนังสือร้องเรียนอันมีข้อมูลบางส่วนเป็นเท็จ อีกทั้ง นางชนัญชิดา ฉากกลาง “เจี๊ยบ” และ นางสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ซึ่งเป็นแกนนำชาวบ้านที่เข้าใจว่าน่าจะเป็นผู้ทำหนังสือร้องเรียนที่แนบรายชื่อ ที่มีการแอบอ้างชาวบ้านบางรายโดยเจ้าตัวไม่มีส่วนรู้เห็น ส่งไปยัง คสช. และประสานกับนักวิชาการกลุ่มดังกล่าวก็ได้ออกตัวด้วยการไปลงบันทึกประจำวัน ที่ สภ.ทับคล้อ ว่า บุคคลทั้ง 9 ที่ถูกแอบอ้างได้ออกจากกลุ่มไปแล้ว ซึ่งเป็นนัยยะการยอมรับว่าได้มีการแอบอ้างชื่อของชาวบ้านจริง หรือไม่ จึงอยากให้ทุกฝ่ายเผชิญสืบในเรื่องดังกล่าวด้วย
ส่วน ในเรื่องที่ว่าทั้ง 5 ฝ่าย จะทำการพิสูจน์ข้อเท็จจริงถึงเรื่องคุณภาพในการทำเหมืองทอง ว่ามีมาตรฐานหรือไม่นั้น ก็ยินดีให้ความร่วมมือทุกอย่างเพราะมั่นใจว่าการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัทอัครา อยู่บนพื้นฐานที่ได้มาตรฐานระดับโลก
ในส่วนของ นายธวัช คำสิงห์ อายุ 49 ปี ซึ่งเป็นคนงานในเหมืองทอง แผนกช่างซ่อมทำงานมา 14 ปี 10 เดือน และนายดาว บัวขำ ทำงานมา 10 ปี 6 เดือน และเป็นคนในพื้นที่ตำบลเขาเจ็ดลูก ซึ่งเป็นที่ตั้งของเหมืองทองอัครา ซึ่งทั้งคู่ให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกันว่าไม่เคยหวาดกลัวเรื่องแมงกานีส แคดเมียม สารหนู ซึ่งล้วนเป็นสารเคมีสำคัญในการทำเหมืองทอง เพราะเชื่อมั่นถึงความได้มาตรฐาน อีกทั้งที่ผ่านมาก็มีสุภาพแข็งแรงไม่เคยเจ็บป่วยหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่าง ที่พวก NGO หรือนักวิชาการมาจัดเวทีไฮปาร์คแต่อย่างใด
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย