- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Tuesday, 17 September 2019 14:52
- Hits: 2925
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงกรณีสาเหตุการตายของเสือโคร่ง ที่รับมาจากวัดหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จังหวัดกาญจนบุรี
จากกรณีที่มีข่าวว่าเสือโคร่งของกลางได้ป่วยตาย ซึ่งเป็นเสือโคร่งที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตรวจยึดจากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี จำนวน 147 ตัว และนำมาดูแล ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี
นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำชับให้ตนเองดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษเพราะเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนและสาธารณะชนให้ความสนใจ ซึ่งกรณีดังกล่าวมีความเป็นมา ดังนี้ จากการที่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เข้าตรวจยึดเสือโคร่งภายในสำนักสงฆ์ (หลวงตาบัว) จำนวน 7 ตัว เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๔ (คงเหลือ ๖ ตัว เนื่องจากตายระหว่างการขนย้าย) ในบริเวณสำนักสงฆ์หลวงตาบัวทั้งหมดโดยไม่ทราบตัวผู้กระทำผิดและคณะเจ้าหน้าที่ได้ฝากเลี้ยงเสือโคร่งและสัตว์อื่นๆ ที่อยู่ภายในบริเวณพื้นที่ของสำนักสงฆ์หลวงตาบัว โดยสัตว์ป่าของกลางทั้งหมดตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากไม่มีบุคคลใดมาแสดงตนเป็นเจ้าของ
ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ พยายามที่จะจัดการกับสัตว์ป่าของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถดำเนินการย้ายออกมาจากวัดฯได้ จนเสือโคร่งได้สืบขยายพันธุ์เพิ่มจำนวน เป็น ๑๔๗ ตัว และเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ กรมอุทยานแห่งชาติฯ รับแจ้งว่ามีเสือโคร่งสูญหายไปจากสถานที่เลี้ยงดูสัตว์ป่าภายในวัดป่าหลวงตาบัวฯจำนวน ๓ ตัว กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้เข้าเคลื่อนย้ายเสือโคร่งจากวัดป่าหลวงตาบัวฯ โดยเริ่มทยอยเคลื่อนย้ายบางส่วนในเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ จำนวน ๑๐ ตัว และขนย้ายที่เหลือทั้งหมดช่วงเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน ๒๕๕๙ นำไปเก็บรักษาไว้ที่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จำนวน ๘๕ ตัว และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จำนวน ๖๒ ตัว รวม ๑๔๗ ตัว จากการตรวจสอบ DNA ส่วนใหญ่เป็นเสือโคร่งสายพันธุ์ไซบีเรีย และเกิดจากการผสมพันธุ์กันเอง เสือโคร่งของกลางจากจำนวน ๖ ตัว
ทั้งนี้ ก่อนที่จะทำการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งจากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ มีการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งเดิมของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน ไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแห่งอื่นๆ เกือบทั้งหมด คงเหลือบางส่วนที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จำนวน ๖ ตัว สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จำนวน ๓ ตัว
ขณะที่ปัญหาการเจ็บป่วย/ตาย ของเสือโคร่ง ที่รับมาจากวัดหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน
นายสุนทร ฉายวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายเสือโคร่งของกลางจากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี จำนวน ๑๔๗ ตัว เป็นการดำเนินการในภาวะไม่ปกติ เสือโคร่งที่เคลื่อนย้ายมา ส่วนใหญ่มีภาวะเครียด เนื่องมาจากการขนย้ายและเปลี่ยนสถานที่ ซึ่งต่อมาพบปัญหาการเจ็บป่วย
๒.๑ พบว่ามีปัญหาระบบทางเดินหายใจ มีอาการหายใจเสียงดังเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง ทำให้การหายใจเข้าออกลำบาก เมื่ออาการหนักมากขึ้นจะไม่กินอาหาร มีอาการชักเกร็ง และตายในที่สุด
๒.๒ พบการติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข (CanineDistemperVirus,CDV)เป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุนัข และสัตว์ป่าหลายชนิดรวมทั้งเสือโคร่ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษา เป็นการเฉพาะทำได้เพียงการรักษาตามอาการ ซึ่งภายหลังจากการติดเชื้อจะพบอาการผิดปกติในระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร ด้านการดูแลรักษาเสือโคร่งในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างและสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสนที่ผ่านมา
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กล่าวว่า ภายหลังจากที่ตรวจพบอาการระบบทางเดินหายใจอันเนื่องมาจากลิ้นกล่องเสียงมีอาการบวม ไม่สามารถขยับเปิดปิดระหว่างหลอดลมกับหลอดอาหารได้สนิท ทำให้หายใจลำบากมีเสียงดังและมีอาการหอบ หากมีปัจจัยของอุณภูมิที่สูงขึ้นจะส่งผลต่ออาการเครียดและตายเฉียบพลัน การรักษาสัตวแพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะลดอาการอักเสบ ลดไข้ รักษาอาการภูมิแพ้ บางตัวพบว่ามีอาการหายใจเสียงดังมาก สัตวแพทย์จะดำเนินการผ่าตัด แต่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดอาการของโรคที่แน่ชัด ต่อมาส่งตัวอย่างเสือโคร่งที่ตาย พบว่าให้ผลบวกต่อเชื้อไข้หัดสุนัข (CanineDistemperVirus,CDV) ซึ่งการรักษาดังกล่าวไม่มียารักษาเป็นการเฉพาะ สัตวแพทย์ต้องดำเนินการรักษาตามอาการ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยากระตุ้นภูมิ โดยการดำเนินการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าได้ขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสัตวแพทย์จากซาฟารีเวิลด์ ในการแก้ไขปัญหาระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง และเป็นสาเหตุของการตาย เพื่อดำเนินการผ่าตัดลิ้นกล่องเสียง มิให้ปิดกลั้นระบบทางเดินหายใจในเสือโคร่งที่แสดงอาการหนัก โดยร่วมกับสัตวแพทย์ของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ดำเนินการผ่าตัด
จากการรายงานของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง ในการตรวจตัวอย่างจากห้องปฏิบัติการปัจจุบันไม่พบการแพร่ระบาดเชื้อโรคไข้หัดสุนัข แต่เสือโคร่งยังมีอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียงที่เป็นสาเหตุการตาย ซึ่งสัตวแพทย์ได้ดำเนินการรักษาตามอาการ และกำหนดแนวทางการในการดูแลเสือโคร่งที่เหลืออยู่ ให้มีอัตราการตายลดลงและมีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น
สรุปข้อมูลจำนวนเสือโคร่งในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน (๓๐ ส.ค. ๖๒)
นายสุนทร หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ให้ข้อมูลว่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง มีจำนวนเสือโคร่ง ๔๕ ตัว เป็นเสือโคร่งที่รับมาจากวัดหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน คงเหลือ ๓๑ ตัว จากที่รับมา ๘๕ ตัว ตาย ๕๔ ตัว (พ.ค.๕๙ – ๑๕ ส.ค. ๖๒) และมีเสือโคร่งของกลางในคดีอื่นๆ จำนวน ๕ ตัว และเสือโคร่งจากการส่งมอบคืนให้กรมอุทยานฯ ๙ ตัว
ขณะที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน มีเสือโคร่ง จำนวน ๓๓ ตัว เป็นเสือโคร่งที่รับมาจากวัดหลวงตาบัวญาณสัมปันโน คงเหลือ ๓๐ ตัว จากที่รับมา ๖๒ ตัว ตาย ๓๒ ตัว (มี.ค. ๖๐ – ก.ค.๖๒) และมีเสือโคร่งของกลางในคดีอื่นๆ จำนวน ๓ ตัว ทั้งนี้ เสือโคร่งที่รับมาจากวัดหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จำนวน ๑๔๗ ตัว คงเหลือ ๖๑ ตัว ตาย ๘๖ ตัว
ด้านมาตรการดูแลสุขภาพเสือโคร่งในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างและสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การดูแลรักษาเสือโคร่งในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน ได้มีสุขภาพที่ดีลดอาการป่วย/ตาย ได้กำหนดมาตรการ ดังนี้
๑.การคัดแยกเสือโคร่งตามกลุ่มอาการ โดยแบ่งกลุ่มอาการเป็น ๓ กลุ่ม ประกอบด้วย ๑)กลุ่มปกติ ไม่แสดงอาการ ๒) กลุ่มเริ่มแสดงอาการเล็กน้อย ๓) กลุ่มแสดงอาการปานกลางถึงรุนแรง เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจติดตามอาการและประเมินการรักษา
๒ การใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัข ในเบื้องต้นได้ประสานกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการดำเนินการโดยสัตวแพทย์ของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าจะเก็บอุจจาระและเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อพยพ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อทราบผลสัตวแพทย์ของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าจะพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัขตามขั้นตอนและมีการติดตามผลเป็นระยะ
๓ การดูแลรักษาเสือโคร่งที่มีอาการป่วย สัตวแพทย์จะดำเนินการให้รักษาและให้ยาตามอาการ สำหรับเสือโคร่งที่มีอาการหายใจเสียงดังอันเนื่องมาจากอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียงและมีโอกาสตายหากไม่ได้รับการรักษา สัตวแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเป็นรายกรณี โดยอาจเชิญสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมรักษาหรือให้คำแนะนำ
๔ การควบคุมให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวอนามัย ภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั้ง ๒ แห่ง อย่างเข้มงวด พร้อมการปรับกรงคอกให้มีอากาศถ่ายเทสะดวกและเพิ่มพื้นที่กรงคอก(สนาม)ให้เสือโคร่ง และส่งเสริมพฤติกรรมเพื่อลดความเครียดของเสือโคร่ง
๕ มีสัตวแพทย์ปฏิบัติงานประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั้ง ๒ แห่ง พร้อม สัตวแพทย์จากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าจะสนับสนุนและติดตามการดูแลรักษาทุกสัปดาห์ โดยจะมีการประชุมเพื่อประเมินผลการดูแลรักษา
Click Donate Support Web