- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Friday, 26 July 2019 18:28
- Hits: 8945
สวทช.มก. และ สส. รวมพลังหนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างโอกาสธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมพลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ลงนามความร่วมมือในโครงการ ‘กระบวนการสร้างสรรค์ในการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง’
เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้มีการสร้างสรรค์การใช้ทรัพยากรให้ยั่งยืนในทุกวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์อย่างคุ้มค่าที่สุด ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ การออกแบบ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี แทนการทิ้งเมื่อเลิกใช้ นำมาสร้างคุณค่าใหม่ ปราศจากของเสีย และรักษ์โลก สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่แท้จริง และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมทุกระดับอย่างยั่งยืน โดยมี นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดร. ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และ รศ.ดร. สุดเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนาม
ดร. ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ให้ความสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และจุดเริ่มต้นจากความต้องการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในการลดปัญหาของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า มีการหมุนเวียนนำมาใช้ใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต รวมถึงศักยภาพในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนอย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกันระหว่าง 3 หน่วยงานภาครัฐประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) และภาคการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อทำงานสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกันอย่างครอบคลุมในทุกมิติในการเตรียมความพร้อมในการวางแผนการใช้ทรัพยากรอย่างริเริ่มสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านเครื่องมือและองค์ความรู้ ด้านการพัฒนาและเกิดนวัตกรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม และผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการหรือองค์กรท้องถิ่น
“โปรแกรม ITAP สวทช. ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผลิตภัณฑ์ของใช้ในชีวิตประจำวัน อาหาร บรรจุภัณฑ์ จนถึงรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ ภายใต้โครงการนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและต้องการผลิตสินค้าให้ลูกค้ากลุ่มรักษ์โลก หรือผู้บริโภคที่สนใจผลิตภัณฑ์จากงานฝีมือที่โดดเด่นที่ไม่เน้น Mass production แต่เน้นการบริโภคอย่างยั่งยืน จะได้รับการส่งเสริมให้สามารถนำวัสดุเหลือทิ้งที่เกิดขึ้นในกิจกรรมของธุรกิจกลับเข้าไปใช้ได้ในกิจการเดิม เพื่อลดปัญหาการเกิดของเสีย และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นหลักโดยแก้ที่จุดกำเนิด ประมาณการสำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและสนใจเข้าร่วมโครงการจะสามารถลงทุนได้อยู่ที่ประมาณ 80,000 - 300,000 บาทต่อราย ขึ้นอยู่กับขนาดของกิจการและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น โดยโครงการตั้งเป้าสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้ 30 ราย ภายใน 2 ปี (กรกฎาคม 2562 - มิถุนายน 2564)”
ด้าน รศ.ดร. สุดเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานในครั้งนี้ เพื่อมุ่งสร้างสรรค์การพัฒนาตามแนวคิด “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” ที่มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองทั้งระหว่างผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการกับชุมชน และชุมชนกับชุมชน สร้างสรรค์แนวทางการใช้ทรัพยากรทุก ๆ ด้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร แก้ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้และอาชีพให้กับคนในชุมชน ทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์และมีศักยภาพในการแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในและภายนอกประเทศ โดยการดำเนินโครงการฯ จะส่งเสริมความรู้และนวัตกรรมให้ผู้ประกอบการทั้งในด้านเครื่องมือและองค์ความรู้อย่างบูรณาการ เพื่อพัฒนาและสร้างนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองการแก้ปัญหาด้านการใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างดีที่สุด
“จากองค์ความรู้ในการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรมาตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งในฐานะผู้พัฒนากระบวนการ Upcycling อันดับต้น ๆ และที่ปรึกษาการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เชื่อมั่นว่า ความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์นี้จะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการและชุมชนแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรและสร้างรายได้ได้อย่างมั่นคง โดยยึดหลักการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง และจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพันธมิตรอื่น ๆ จึงถือเป็นการทำงานร่วมกันอย่างครอบคลุมในทุกมิติ”
ขณะที่ นางสาวพรพิมล วราทร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้การสนับสนุนในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ระดับอุตสาหกรรมลงมาจนถึงชุมชนซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ โดยให้คำปรึกษา แนะนำด้านกฎ กติกาข้อบังคับ และการปฏิบัติที่เหมาะสมในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และมีส่วนส่งเสริมด้านการตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการและชุมชน เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดสิ่งแวดล้อมในระดับสากล ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบันต่อเนื่องไปในอนาคตซึ่งจะยิ่งทวีความสำคัญอย่างมากมาย โดยดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในกลุ่ม G-Green ที่เป็น 5 G เพื่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ Green Production, Green Hotel, Green Office, Green National Parks, Green Restaurant”
โดยในภาคการผลิต ได้แก่ โครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Production) โดยนำทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดของเสียจากต้นทาง ใช้เทคโนโลยีสะอาดมาประยุกต์กับกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกันท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี ขณะที่ภาคการบริการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) โดยส่งเสริมให้ธุรกิจโรงแรม ใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อรองรับมาตรการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ และโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเภทภัตตาคารและร้านอาหาร (Green Restaurant)
ซึ่งขยะเศษอาหารเพิ่มปริมาณสูงขึ้น ส่งผลกับวิกฤติขยะซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก โดยจะส่งเสริมการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบและลดการทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็น รวมถึง โครงการอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) โดยจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีมาตรฐานในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรมมีการบริการที่ดีแก่นักท่องเที่ยว ยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของอุทยานฯ สู่มาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังมีภาคการบริโภค ได้แก่ โครงการประเมินสำนักงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Office) เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคลากรในสำนักงาน เพื่อลดการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง พร้อมริเริ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ลดปริมาณขยะโดยการลดการใช้ การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ การลดและเลิกใช้สารเคมีอันตราย รองรับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Click Donate Support Web