- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Monday, 14 January 2019 19:00
- Hits: 1428
เตือนภัยฝุ่นละออง เร่งป้องกัน – แก้ไข
ในระยะนี้กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐาน และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ปกติแล้วฝุ่นละอองจะมีปริมาณมากขึ้นในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล จากฤดูหนาวไปฤดูร้อน ซึ่งมักจะมีหมอก (ไอน้ำ) เกิดขึ้น เมื่ออากาศเย็นเจอกับอากาศอุ่น ทำให้อากาศปิด แสงแดดส่องไม่ถึงพื้น เกิดภาวะที่สภาพอากาศนิ่ง ลมไม่พัด ฝุ่นละอองขาดแรงในการผลักให้ลอยตัวสูงขึ้นไป
ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร ?
เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ซึ่งเจ้าฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วนี้ เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลายชนิด เช่น การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้าง ซึ่งเป็น 2 สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ รวมถึงฝุ่นละอองบนท้องถนน
จากการศึกษาวิเคราะห์พบว่า 50 – 60 % เกิดจากรถปิกอัพ รถบรรทุก รถประจำทาง ขสมก. ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ อีก 35% เกิดจากการเผาในที่โล่ง และอีกประมาณ 5-10% เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม และการปลิวมาจากที่อื่น
และด้วยขนาดของฝุ่น PM 2.5 ที่เล็กมาก จึงทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ง่าย เพราะสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชุมหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง
แนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบเร่งด่วน คือ
- ใช้รถฉีดละอองน้ำขึ้นไปในอากาศเพื่อลดฝุ่น
- กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์สร้างความรู้และแจกหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชนตามจุดสำคัญต่าง ๆ โดยควบคุมไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาหน้ากากอนามัยในช่วงนี้
- ทหาร เจ้าหน้าที่ กทม. อาสาสมัครฝ่ายพลเรือน ร่วมกันปฏิบัติการล้างถนนในช่วงเวลากลางคืนบริเวณพื้นที่เสี่ยงทุกจุด
- กำหนดมาตรการห้ามเผาในที่โล่ง 2 เดือน พร้อมกัน 5 จังหวัดปริมณฑล คือ สมุทรสาคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี และนครปฐม
นอกจากนี้ กทม. ได้ตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์ระหว่างเดือน ธ.ค. 61 ถึง เม.ย. 62 ได้สั่งการให้ทุกเขตเพิ่มความถี่ กวาดล้างถนนอย่างเข้มข้นทุกวัน จัดอุปกรณ์ฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดฝุ่น ตรวจวัดควันดำ ควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง รวมทั้งประสานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพื่อทำฝนเทียมในพื้นที่เสี่ยงในวันที่มีสภาพอากาศเอื้ออำนวย
สำหรับ มาตรการระยะยาวนั้น จะร่วมหารือกับผู้ประกอบการรถยนต์หรือรถบรรทุกขนาดใหญ่เพื่อปรับไปใช้น้ำมันดีเซล บี 20 ซึ่งมีส่วนผสมของไบโอดีเซลร้อยละ 20 ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงมาตรฐานไอเสียรถยนต์ พร้อมพัฒนาระบบโครงข่ายให้บริการขนส่งสาธารณะ จัดพื้นที่จอดแล้วจรส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวสวนสาธารณะ
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าสถานการณ์ในสัปดาห์นี้น่าจะดีขึ้น จากการตรวจสอบคุณภาพอากาศจากสถานีบนถนน 25 จุด และสถานีด้านในจากถนนอีก 18 จุด ไม่มีสีแดง
สำหรับข้อควรปฏิบัติของประชาชน คือ
• จะต้องติดตามข่าวสารจากกรมควบคุมมลพิษอย่างใกล้ชิด
• หากอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละลองหนาแน่นขอให้ประชาชนอยู่ภายในบ้าน หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยคุณภาพดีที่ได้มาตรฐานป้องกันฝุ่นขนาดเล็กโดยเฉพาะ ส่วนหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาที่มีขายทั่วไปนั้นก็สามารถป้องกันได้ดีระดับหนึ่ง
• ควรหมั่นสังเกตอาการทางสุขภาพเบื้องต้น เช่น เมื่อมีอาการไอหรือระคายเคืองตามากผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
หากมีข้อสงสัยด้านการปฏิบัติตัวเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ สามารถติดต่อได้ที่
• สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
• สายด่วนกรมอนามัย 1675
• สายด่วนกระทรวงสาธารณสุข 1669
โดยสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศรายวัน ทางแอปพลิเคชัน Air4Thai และ http://air4thai.pcd.go.th
Click Donate Support Web