WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaaaK2

จากขั้วโลกใต้สู่ขั้วโลกเหนือ 2 นักวิจัยไทยร่วมเดินทางสู่อาร์กติก เตรียมดำน้ำเพื่องานวิจัยครั้งแรกของเอเชีย

บรรยายใต้ภาพ (จากซ้ายไปขวา)

1. รองศาสตราจารย์ ดร. วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2. รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3. ศาสตราจารย์ ดร.ลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดี คณะวิทยาศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

4. ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

6. คุณกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)

7. คุณเวการ์ด โหล์เมลีด รักษาการแทนเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย

               มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดงานแถลงข่าว การสำรวจวิจัยขั้วโลกเหนือครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี คุณเวการ์ด โหล์เมลีด รักษาการแทนเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมงาน

นอกจากนี้ ยังมี รองศาสตราจารย์ ดร. วรณพ วิยกาญจน์ และ รองศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 นักวิจัยไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเดินทางกับทีมวิจัยสำรวจอาร์กติก เข้าร่วมงานแถลงข่าว โดยเป้าหมายหนึ่งของนักวิจัยคือการดำน้ำสำรวจใต้ทะเลอาร์กติก และนับเป็นนักวิจัย 2 คนแรกของทวีปเอเชียที่จะปฏิบัติภาระกิจดำน้ำเพื่องานวิจัยในทะเลขั้วโลกเหนือของนอร์เวย์

 

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ

ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เคยเสด็จเยือนบริเวณอาร์กติก ในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2556 หลังจากนั้น ทรงพระราชดำริให้นักวิทยาศาสตร์ไทยขยายความร่วมมือในการศึกษาวิจัยขั้วโลก จากเขตแอนตาร์กติก (ขั้วโลกใต้) เข้าสู่เขตอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) ภายใต้โครงการขั้วโลกตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อยกระดับความก้าวหน้าของการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกให้สูงขึ้นและทัดเทียมนานาประเทศ พร้อมเปิดโอกาสการส่งนักเรียนทุนรัฐบาลไปศึกษาเล่าเรียนในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการเสริมสร้างความยั่งยืนในงานศึกษาวิจัยขั้วโลกของประเทศ

คุณเวการ์ด โหล์เมลีด รักษาการแทนเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย กล่าวถึงการลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการศึกษาวิจัยระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ University Centre in Svalbard (UNIS)

ณ วังสระปทุม เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2558 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการศึกษาวิจัยระหว่างประเทศไทยและนอร์เวย์ในเขตขั้วโลกเหนือ

คุณกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่าการสนับสนุนของ อพวช. จะเป็นการสร้างความตระหนัก จิตสำนึก และความตื่นตัว ในผลของภาวะโลกร้อนและขยะทะเลที่มีต่อมหาสมุทรอาร์กติกและขั้วโลกเหนือให้กับประชาชนและเยาวชนไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ความต่อเนื่องและการต่อยอดความสำคัญของงานวิจัยสู่สังคม ในบทบาทของจุฬาฯ ในฐานะมหาวิทยาลัยแกนนำที่มีบุคลากรผ่านประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยในเขตขั้วโลกเป็นจำนวนมากที่สุด และมีเครือข่ายต่างประเทศที่ร่วมทำการศึกษาวิจัยขั้วโลกมาก การเดินทางไปศึกษาในครั้งนี้ของนักวิจัยและนิสิตปริญญาเอกจากจุฬาฯ ไม่เพียงแต่จะยกระดับการวิจัยและผลงานวิจัยในด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้สูงเท่าเทียมกับนานาชาติ แต่ยังเป็นการสร้างความตระหนัก และจิตสำนึกให้เยาวชนและคนทั่วไปหันมาสนใจและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทะเลบนโลกใบนี้

รองศาสตราจารย์ ดร. วรณพ วิยกาญจน์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ‘อาร์กติก’ ถึงแม้จะเป็นแผ่นดินที่หนาวเหน็บ และห่างไกลจากแผ่นดินอื่น แต่แท้จริงแล้ว บริเวณนี้มีความเชื่อมโยงกับมนุษย์เป็นอย่างมาก เป็นพื้นที่อ่อนไหวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลก อาร์กติกเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดในการตรวจสอบปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก เนื่องจากในปัจจุบัน บริเวณนี้กลายเป็น ‘ภาชนะรองรับของเสีย’ เป็นศูนย์รวมของผลลัพธ์จากกิจกรรมต่างๆ บนโลก โดยเฉพาะก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ และขยะทะเล บริเวณนี้จึงเป็น’ปราการด่านแรก’ ของโลกที่จะเป็นเสมือนระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่โลกของเราได้

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเดินทางไปศึกษาวิจัยในครั้งนี้ จะเป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ ผลกระทบของภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่ขั้วโลกเหนือ โดยจะมีการปฎิบัติการดำน้ำสำรวจวิจัยใต้ทะเลครั้งแรกของเอเชีย นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะมีนักวิจัยที่ได้พิชิตการดำน้ำทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้อีกด้วย

 

ข้อมูล

โครงการสำรวจขั้วโลกเหนือของประเทศไทย

ภายใต้โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

(ศึกษาผลของภาวะโลกร้อน และ ขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่ทะเลอาร์กติก)

(Impact of climate change and microplastics on marine benthic communities in Svalbard)

(ปี 2561)

 

วัตถุประสงค์

       1. ศึกษาผลของภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่มหาสมุทรอาร์กติก

       2. สร้างความร่วมมือในการทำวิจัยที่อาร์กติกระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน และราชอาณาจักรนอร์เวย์

       3. สร้างความเข้มแข็งในวิชาและหลักสูตรนานาชาติที่เกี่ยวกับการศึกษาขั้วโลกและสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยของประเทศ

       4. สร้างความตระหนัก จิตสำนึก และความตื่นตัว ในผลของภาวะโลกร้อนและขยะทะเลที่มีต่อมหาสมุทรอาร์กติกและโลก ให้กับประชาชนและเยาวชนไทย

       5. สนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัย และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทะเล

ที่มาและความสำคัญ

           สืบเนื่องจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชดำริให้นักวิทยาศาสตร์ไทยขยายความร่วมมือในการศึกษาวิจัยขั้วโลก จากเขตแอนตาร์กติก (ขั้วโลกใต้) เข้าสู่เขตอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) เพื่อยกระดับความก้าวหน้าของการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกให้สูงขึ้นและทัดเทียมนานาประเทศ พร้อมเปิดโอกาสการส่งนักเรียนทุนรัฐบาลไปศึกษาเล่าเรียนในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการเสริมสร้างความยั่งยืนในงานศึกษาวิจัยขั้วโลกของประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะมหาวิทยาลัยแกนนำที่มีบุคลากรผ่านประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยในเขตขั้วโลกใต้เป็นจำนวนมากที่สุด และมีเครือข่ายต่างประเทศที่ร่วมทำการศึกษาวิจัยขั้วโลก ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น จึงเห็นความสำคัญในการขยายการวิจัยไปสู่ขั้วโลกเหนือ ซึ่งในโครงการนี้ได้ขยายไปทำการวิจัยในบริเวณทะเลชายฝั่งหมู่เกาะสวาลบาร์ด (Svalbard) ของมหาสมุทรอาร์กติก ราชอาณาจักรนอร์เวย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ภายในสนธิสัญญาว่าด้วยอาร์กติก (Arctic Treaty)

ผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ

       1. ข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับผลของภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่มหาสมุทรอาร์กติก

       2. สารคดีสั้นเกี่ยวกับโครงการขั้วโลกเหนือ การสำรวจและวิจัย

       3. หนังสือและสมุดภาพเกี่ยวกับขั้วโลกเหนือ

ระยะเวลาการสำรวจ

           วันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ถึง 12 สิงหาคม 2561 โดยเป็นการปฏิบัติงานบนเรือบริเวณทะเลชายฝั่งหมู่เกาะสวาลบาร์ด มหาสมุทรอาร์กติก ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2561 ถึง วันที่ 7 สิงหาคม 2561

คณะสำรวจ

           รวมทั้งสิ้น 13 คน ประกอบด้วย

     1. คณะผู้วิจัยหลักฝ่ายไทยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1.1 รองศาสตราจารย์ ดร. วรณพ วิยกาญจน์       หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ หัวหน้าคณะสำรวจ

1.2 รองศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์           ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และ รองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ประสานงานคณะสำรวจ

1.3 นางสาวศุภกาญจน์ จันทร์แดง                     นิสิตปริญญาเอก ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์

1.4 Mr. Niranjan Divakaran                         นิสิตปริญญาเอก ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์

     2. คณะผู้สนับสนุนการปฏิบัติงานดำน้ำ และถ่ายทำสารคดีทั้งบนบกและใต้น้ำ

     2.1 ดร. ธนศักดิ์ วหาวิศาล                                 2.2 นายธัชธร สุธัญญวินิช

     2.3 นายปิยะ โกยสิน                                         2.4 นางสาวพิชญ์สินี ปุณณะตระกูล

     2.5 นายภคินัย ยิ้มเจริญ                                   2.6 นายชยากร ชัยผาติกานต์

     2.7 นายศักดิ์สิทธิ์ ว่องวศิน                                 2.8 นายนิวัช รุ่งเรืองกนกกุล

     2.9 นายณพงศ์ สุธิวิลัย

หน่วยงานหลักต่างประเทศที่ให้ความร่วมมือในการสำรวจ

       1.   Norwegian Polar Institute (NPI)

       2.   University Centre in Svalbard (UNIS)

       3.   Polar Research Institute of China (PRIC)

คณะผู้สนับสนุนงานสำรวจ

1. สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงออสโล  

2. สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ ประจำประเทศไทย

3. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

4. บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด                        

5. สถาบันดำน้ำ British Sub Aqua Club (Thailand)

6. บริษัท L’Oreal (Thailand) จำกัด      

7. บริษัท Jotun (Thailand) จำกัด          

8. บริษัท สยามสเนล จำกัด                              

9. บริษัท Starboard (Thailand) จำกัด        

10. บริษัท Quicksilver and DC                        

11. บริษัท โลกโสภา โปรดักชั่น จำกัด

12. บริษัท Olympus (Thailand) จำกัด

 

ข้อมูลเกี่ยวกับอาร์กติก

               อาร์กติก หรือ ขั้วโลกเหนือ คือ บริเวณเหนือสุดของแกนโลกด้านเหนือ คำว่า อาร์กติก มาจากภาษากรีกโบราณ ซึ่งมีความหมายว่า หมี บริเวณนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นมหาสมุทรที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งที่หนาเฉลี่ยประมาณ 4-5 เมตร และล้อมรอบไปด้วยประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา กรีนแลนด์ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา (อลาสก้า) ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์

              บริเวณอาร์กติกจะเป็นพื้นที่ที่แตกต่างจากที่อื่นอย่างเห็นได้ชัด ผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาร์กติกจะมีการปรับตัวและใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหนาวเหน็บและธรรมชาติอันโหดร้าย อุณหภูมิต่ำสุดที่วัดได้คือ

-68 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ ในปัจจุบัน อาร์กติกยังมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกของเรา เช่น อุณหภูมิบนโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ความอ่อนไหวได้ง่ายนี้ทำให้อาร์กติกถูกมองเสมือนเป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่โลกของเรา

               สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เคยเสด็จเยือนบริเวณอาร์กติก ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 หลังจากนั้น ทรงพระราชดำริให้นักวิทยาศาสตร์ไทยขยายความร่วมมือในการศึกษาวิจัยขั้วโลก จากเขตแอนตาร์กติก (ขั้วโลกใต้) เข้าสู่เขตอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) ภายใต้โครงการขั้วโลกตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อยกระดับความก้าวหน้าของการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกให้สูงขึ้นและทัดเทียมนานาประเทศ พร้อมเปิดโอกาสการส่งนักเรียนทุนรัฐบาลไปศึกษาเล่าเรียนในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการเสริมสร้างความยั่งยืนในงานศึกษาวิจัยขั้วโลกของประเทศ

 

อาร์กติก…กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

               พวกเราส่วนมากคิดว่า การที่ 'อาร์กติก' เป็นแผ่นดินที่หนาวเหน็บและห่างไกลจากแผ่นดินอื่น จึงเป็นบริเวณที่ไม่น่าจะมีความหมายต่อมนุษย์มากนัก แต่แท้จริงแล้ว บริเวณนี้มีความเชื่อมโยงกับมนุษย์เป็นอย่างมาก เป็นพื้นที่อ่อนไหวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลก ปัจจุบัน ถึงแม้ว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” จะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ   แต่คงไม่มีใครในปัจจุบันที่จะปฏิเสธว่า สิ่งที่ปรากฏขณะนี้เป็นผลมาจากกิจกรรมของพวกเราที่ “เร่ง” ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วยิ่งขึ้น อาร์กติกเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดในการตรวจสอบปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกเนื่องจากในปัจจุบัน บริเวณนี้กลายเป็น “ภาชนะรองรับของเสีย” เป็นศูนย์รวมของผลลัพธ์จากกิจกรรมต่างๆ บนโลก โดยเฉพาะก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ บริเวณนี้จึงเป็น “ปราการด่านแรก” ของโลกที่จะเป็นเสมือนระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่โลกของเราได้

               ปัจจุบัน บริเวณอาร์กติกได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างรุนแรง ทำให้น้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว การละลายของน้ำแข็งนอกจากจะมีผลกระทบต่อสัตว์และพืชต่างๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณอาร์กติกแล้ว การละลายของน้ำแข็งในปริมาณที่มากยังทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีกด้วย นักวิทยาศาสตร์ได้ทำนายไว้ว่า ถ้าในอนาคต น้ำแข็งที่อาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือละลายหมดแล้ว จะสามารถทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นได้ถึง 5 เมตร

               ดังนั้น การเข้ามามีส่วนร่วมในการหาคำตอบต่างๆ ของนักวิทยาศาสตร์ในบริเวณนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การตอบคำถามเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้น หรือทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เกิดความเข้าใจในระบบของโลกได้ดียิ่งขึ้น และจะนำไปสู่การคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมของมนุษย์เราในปัจจุบัน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!