- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Friday, 05 September 2014 10:29
- Hits: 4634
วันที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8682 ข่าวสดรายวัน
รับมือ'เจ้าพระยา'จ่อทะลัก กรมชลเตือน 7 จังหวัด ให้รีบย้ายของขึ้นที่สูง เหตุเขื่อนเร่งพร่องนํ้า
ท่วมแล้ว - พนังกั้นแม่น้ำยมแตกทำให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนในตัวเมือง จ.สุโขทัย มีผู้ได้รับความเดือดร้อนแล้วกว่า 2 พันครอบครัว ถนนหลายสายในเขตอำเภอเมืองบางจุดมีระดับน้ำท่วมสูง 40-50 ซ.ม. เมื่อวันที่ 4 ก.ย. |
เตือน 'เจ้าพระยา'จ่อทะลัก กรมชลฯ สั่ง 7 จว.ภาคกลางติดริมน้ำขนของขึ้นที่สูง หลังเร่งพร่องน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา ส่งผลให้ลุ่มเจ้าพระยามีระดับเพิ่มนับเมตร กระทบถึงแม่น้ำน้อยและคลองโผงเผงด้วย ก่อนร่อนหนังสือถึงผวจ.เตรียมรับมือ ขณะที่น้ำยมหลากซัดพนังแตก จมสุโขทัยทั้งเมือง ชาวบ้านขนของหนีอลหม่าน เดือดร้อนแล้ว 2 พันหลัง บางจุดท่วมลึกนับเมตร ขณะที่สองแควสั่ง 3 อำเภอรับมือ เตรียมผันน้ำยมเข้าไร่นาช่วยสุโขทัย คาด 6-7 ก.ย.นี้ท่วมแน่ ส่วนน้ำปายก็ล้น-จมไร่งาเละ น้ำมูลปริ่ม-พิมายสร้างกำแพงสกัด
อุตุฯยังเตือนฝนหนัก11จว.
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์กระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู ชัยภูมิ และนครราชสีมา ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่ตกสะสมต่อเนื่องไว้ด้วย
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 5-7 ก.ย. ร่องมรสุมจะยังคงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
เจ้าพระยาวิกฤต-สั่งขนของหนี
ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำหรับสถาน การณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังมีฝนตกต่อเนื่องส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าในลำน้ำต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จ.นครสวรรค์ ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำเหนือที่กำลังจะไหลลงสู่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง กรมชลประทานจึงวางมาตรการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำสูงสุดที่ไหลผ่านสถานีอ.เมืองนครสวรรค์ จะอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 1,200-1,300 ลบ.ม.ต่อวินาที ในวันที่ 8 ก.ย. ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ในเกณฑ์ประมาณ 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที
นายเลิศวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เพื่อเป็น การเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว กรมชลประทานจะทยอยเพิ่มการพร่องน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้มากขึ้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ลักษณะดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1 เมตร ซึ่งจะส่งผล กระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อยและคลองโผงเผง เป็นต้น จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา ขนย้ายสิ่งของไว้บนที่สูงหรือที่ปลอดภัยจากระดับน้ำ พร้อมทั้งขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ต่อไปด้วย
ขณะที่นายฎรงค์กร สมตน ผอ.สำนักชลประทานที่ 12 มีหนังสือเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาและแจ้งไปยัง ผวจ.ในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางว่า หลังมีฝนตกในหลายพื้นที่ต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นได้ระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น จึงอาจทำให้ 7 จังหวัดภาคกลาง ทั้งจ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.อ่างทอง และจ.ลพบุรี ได้รับผลกระทบ
น้ำยมซัดตลิ่งแตก-สุโขทัยจม
สำหรับ สถานการณ์ฝนถล่มและน้ำท่วมในหลายจังหวัด ที่จ.สุโขทัย น้ำจากลุ่มน้ำยมได้ไหลหลากและกัดเซาะตลิ่งริมน้ำจนพังเป็นทางยาวกว่า 15 เมตร บริเวณหมู่ 7 ต.ปากแคว อ.เมืองสุโขทัย ทำให้มวลน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่นำกระสอบทรายมากั้นบริเวณพื้นที่รอบหมู่ 7 ต.ปากแคว เพื่อไม่ให้น้ำขยายท่วมเป็นวงกว้าง แต่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนถูกตัดขาดและไม่สามารถเข้าออกหมู่บ้านได้ โดยระดับน้ำเริ่มเพิ่มสูงขึ้น บางจุดสูงถึง 1 เมตร
นอกจากนี้ น้ำยมยังล้นตลิ่งเข้าท่วมอีกหลายจุด ทั้งในอ.ศรีสำโรง อ.สวรรคโลก และอ.เมือง โดยชาวบ้านต่างเร่งขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงกันอย่างอลหม่าน บางส่วนเคลื่อนย้ายไม่ทัน ทำให้ทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก
เดือดร้อนแล้ว 2 พันหลัง
เบื้องต้นตรวจสอบมีประชาชนได้รับผล กระทบจากเหตุน้ำยมกัดเซาะตลิ่งพังและเอ่อล้นตลิ่งแล้วกว่า 2 พันครอบครัว โดยเฉพาะในเขตอ.เมือง ซึ่งบริเวณศาลากลางจังหวัดมีระดับน้ำท่วมสูง 30-40 ซ.ม. ส่วนถนนหลายสายรอบตัวเมืองมีระดับน้ำท่วม 40-50 ซ.ม. โดยเฉพาะถนนสายสุโขทัย-ศรีสำโรง รถเล็กไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ทำให้โรงเรียนหลายแห่งต้องสั่งปิดการเรียนการสอนโดยไม่มีกำหนด
ล่าสุดเจ้าหน้าที่นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 20 เครื่อง มาติดตั้งรอบเขตพื้นที่เศรษฐกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่ไหลหลากสร้างความเสียหายในภาพรวม พร้อมนำกระสอบทรายมาเสริมตลิ่งกั้นแม่น้ำยมตลอดแนวแม่น้ำยมในเขตเทศบาล เพื่อป้องกั้นไม่ให้กระแสแม่น้ำยมเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ชั้นในของจังหวัด เนื่องจากระดับน้ำยมมีระดับเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมในจ.สุโขทัย ครั้งนี้อาจรุนแรงพอกับปี 2554 นอกจากนี้ยังต้องจับตามวลน้ำอีก 2 ลูก ที่กำลังไหลหลากมาจากจ.แพร่
ระดมตั้งกระสอบทรายป้อง
ด้านนายบุญเสริม เชยวัดเกาะ นายกเทศมนตรีตำบลปากแคว กล่าวว่า สำหรับตลิ่งที่ถูกน้ำยมกัดเซาะจนพังและหลากเข้าท่วมในหลายพื้นที่ ตอนนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ แต่กระแสน้ำที่หลากเข้ามาไหลเชี่ยวมาก จึงต้องรอดูสถานการณ์อีกระยะ แต่เบื้องต้นได้ระดมนำกระสอบทรายมากั้นพื้นที่ถูกน้ำท่วม เพื่อชะลอความรุนแรงของน้ำและไม่ให้ขยายวงกว้างเข้ามาถึงพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัด ซึ่งตอนนี้คงต้องติดตามสถานการณ์น้ำอีกระยะ
สรุปสถานการณ์จากเหตุตลิ่งพังและน้ำเอ่อล้น พบมีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 4 อำเภอ 10 ตำบล 28 หมู่บ้าน ส่วนพื้นที่ทางการเกษตรกำลังสำรวจและหามาตรการเยียวยาช่วยเหลือ
สองแควจ่อท่วม 3 อำเภอ
ที่จ.พิษณุโลก เจ้าหน้าที่ชลประทานพิษณุโลกสั่งเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม หลังแม่น้ำยมเริ่มล้นตลิ่งในอ.เมืองสุโขทัย โดยแจ้งเตือนไปยัง อ.พรหมพิราม อ.เมือง และอ.บางระกำ ให้เตรียมรับมือน้ำล้นตลิ่ง พร้อมผันน้ำยมจากประตูน้ำหาดสะพานจันทน์ อ.สวรรคโลก ลงแม่น้ำน่านและคลองเมม เพื่อป้องกันน้ำท่วม เนื่องจากขณะนี้แม่น้ำยมอยู่ในระดับวิกฤต แถมยังต้องจับตามวลน้ำจากจ.แพร่ อีกระลอก
นายบรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผอ.โครงการชลประทานพิษณุโลก กล่าวว่า เพื่อลดกระแสน้ำยมที่ไหลหลากเข้าท่วมจ.สุโขทัย จึงผันน้ำจากแม่น้ำยมที่ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทน์ อ.สวรรคโลก ออกมาคลองหกบาท ในอัตรา 250 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อควบคุมแม่น้ำยมที่จะไหลลงสู่ตัวเมืองสุโขทัยไม่ให้เกิน 600 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนหนึ่งจะไหลผ่านคลองสวรรคโลก-พิชัย ลงสู่แม่น้ำน่านที่อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ และอีกส่วนหนึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำยมสายเก่า หรือคลองเมม จะผ่านเขตต.หนองแขม ต.วังวน ต.ท่าช้าง อ.พรหม พิราม และต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก ไปสู่คลองบางแก้วผ่าน ต.ชุมแสงสงคราม ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ ซึ่งปริมาณน้ำส่วนนี้จะล้นตลิ่งและไหลเข้าท่วมพื้นที่นา ที่ปัจจุบันเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว โดยคาดว่าปริมาณน้ำจากแม่น้ำยมจะล้นตลิ่งในจ.พิษณุโลก ในช่วงวันที่ 6-7 ก.ย.นี้ ขณะนี้ชลประทานพิษณุโลกประสานการแจ้งเตือนไปยังผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ให้รับมือแล้ว
น้ำหลากซัดสะพานลำปางพัง
ที่จ.ลำปาง นางผ่องนภา คิดอ่าน นายกอบต.วังซ้าย อ.วังเหนือ เปิดเผยว่า หลังฝนตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำวัง ทำให้สะพานคอนกรีตข้ามแม่น้ำวังที่ชาวบ้านใช้สัญจรข้ามฝั่ง ระหว่างบ้านทุ่งเป้า ต.วังเหนือ และบ้านสบม่า ต.วังซ้าย อ.วังเหนือ ชำรุดและเสียหาย เนื่องจากตอม่อของสะพานถูกแรงอัดของน้ำ ทำให้คานกลางสะพานทรุดตัวและต้องปิดสะพานสัญจรชั่วคราว โดยให้ชาวบ้านสามารถใช้สะพานข้ามแม่น้ำวัง บริเวณหน้าที่ทำการ อบต.วังซ้าย แทนได้
ด้านนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ นายอำเภอวังเหนือ กล่าวว่า จากกการตรวจสอบเบื้องต้นพบสะพานได้ทรุดตัวบริเวณตอม่อตรงกลาง จึงปิดสะพานและงดใช้สะพานชั่วคราว
น้ำปายล้น-จมไร่งาเละ
ที่จ.แม่ฮ่องสอน นางคุณัญญา คู่โชค อายุ 48 ปี เกษตรกรผู้ปลูกงา เปิดเผยว่า กลุ่มเกษตร กรผู้ปลูกงาบ้านปางหมูกำลังเร่งเก็บเกี่ยวต้นงา ที่ปลูกติดริมแม่น้ำปาย หลังน้ำในแม่น้ำเพิ่มระดับต่อเนื่อง ล่าสุดน้ำในแม่น้ำปายไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ปลูกงาของเกษตรกรบ้านปายโค้ง โดยมีสวนงาถูกน้ำท่วมไปกว่า 50 ไร่ ทำให้ผู้ปลูกงารายอื่นต่างพากันเร่งตัดต้นงาที่อยู่ติดแม่น้ำปาย เพื่อป้องกันงาถูกน้ำท่วมเสียหาย
นายจำรัส ตุ้ยดง นายช่างสำรวจชั้น 3 กรมชลประทาน และหัวหน้าสถานีวัดระดับน้ำ ศูนย์อุทกวิทยาบ้านท่าโป่งแดง ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เผยว่า ระดับน้ำในแม่น้ำปายเพิ่มระดับสูงสุดวัดได้ 1.89 เมตร จากระดับน้ำปกติ 0.50 เมตร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก หากปริมาณมวลน้ำจากพื้นที่อ.ปางมะผ้า และอ.ปาย มาถึงคาดว่าน้ำในแม่น้ำปายจะเพิ่มสูงขึ้นอีก และอาจไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรได้
น้ำมูลปริ่ม-ทำกำแพงสกัด
ที่จ.นครราชสีมา หลังหลายพื้นที่ของจังหวัดมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลรวมกันและลงสู่อ.พิมาย ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำสุดท้ายก่อนระบายลงสู่ลำน้ำมูล ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่หน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ (เขื่อนระบายน้ำพิมาย) จากเดิมที่มีปริมาณวัดจากระดับพื้นเขื่อนอยู่ที่ 4.9 เมตร ล่าสุดมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 6.5 เมตร จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ส่วนการเปิดประตูระบายน้ำคงต้องรอดูสถานการณ์อีกระยะ เนื่องจากเกรงประชาชนที่อยู่บริเวณท้ายเขื่อนจะได้รับผลกระทบ
ส่วนสถานการณ์น้ำในอ.พิมาย ทั้งลำน้ำจักราชและลำน้ำมูล มีระดับเพิ่มขึ้น ทำให้บางจุดที่เป็นพื้นที่ต่ำมีระดับน้ำที่ห่างจากของตลิ่งเพียง 1 เมตร ทำให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจ.นครราชสีมา จึงต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่นำเสาปูนขนาดใหญ่มาตั้งเรียงกัน เพื่อสร้างเป็นกำแพงกั้นน้ำบริเวณริมน้ำมูลเป็นทางยาวกว่า 500 เมตร เพื่อไม่ให้กระแสน้ำกัดเซาะตลิ่งพัง และทะลักท่วมบ้านเรือน ขณะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายได้เตรียมกระสอบทราย เพื่อทำเป็นคันกั้นน้ำ หากพบว่าปริมาณน้ำภายในลำน้ำมูลมีระดับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สาวอำนาจเจริญโดนน้ำซัดดับ
ที่จ.อำนาจเจริญ ตำรวจ สภ.หัวตะพาน รับแจ้งมีผู้จมน้ำเสียชีวิต บริเวณบ้านท่ายางชุม หมู่ 8 ต.คำพระ อ.หัวตะพาน จึงรุดตรวจสอบที่เกิดเหตุเป็นลำห้วยติดกับลำเซบาย พบศพนางเพ็ญ โนนตูม อายุ 44 ปี สอบถามนางนุกุล ภิรมย์ อายุ 41 ปี น้องสาวผู้ตาย กล่าวว่า พี่สาวออกไปหาปลามาขาย เนื่องจาก นาข้าวเสียหายจากน้ำท่วม กระทั่งถึงช่วงค่ำวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมายังไม่กลับมา จึงออกไปตามหาและพบเพียงรองเท้าถอดวางอยู่ จากนั้นได้ขอให้ชาวบ้านช่วยกันตามหา เพราะเชื่อว่าพี่สาวอาจถูกน้ำที่ล้นลำ เซบายซัดหายไปในลำห้วย กระทั่งพบศพดังกล่าว
อ่างทองจับตาน้ำหลาก
ที่จ.อ่างทอง นายปริญญา เขมะชิต นายอำเภอป่าโมก กล่าวว่า ขณะนี้นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.อ่างทอง ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย อ.ไชโย อ.เมือง และอ.ป่าโมก รวมไปถึงพื้นที่ติดแม่น้ำน้อยใน อ.โพธิ์ทอง และอ.วิเศษชัยชาญ ส่วนต.โผงเผง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำสุดและต้องระวังเป็นพิเศษ ล่าสุดพบระดับน้ำสูงขึ้นกว่า 40 ซ.ม. ทำให้ต้องเฝ้าระวังการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง
ด้านผู้เลี้ยงปลากระชังในกลุ่มวิสาหกิจคลองเจ๊ก หมู่ 5-6 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก ต่างเร่งคัดเลือกขนาดปลาในกระชังที่เริ่มตาย หลังระดับน้ำในคลองโผงเผงและคลองสาขาแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ ส่งผลให้ปลาได้รับผลกระทบ