WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1AAดร.กรรณการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมสีเทาด้วยโมเดลการพัฒนาสีเขียว

    การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย หมดยุคเติบโตก่อน เก็บกวาดทีหลัง ไทยต้องออกจากกับดักการพัฒนาสีเทาด้วยโมเดลการพัฒนาสีเขียว ซึ่งขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ทุกฝ่ายทั้งผู้บริโภค ภาครัฐ และผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับโมเดลการพัฒนาใหม่

       ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการ ด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีดีอาร์ไอ ให้ข้อมูลน่าสนใจว่า โมเดลการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาเน้นหลักการเติบโตก่อน เก็บกวาดทีหลัง ด้วยการมุ่งเน้นการผลิตสินค้าจำนวนมากเพื่อส่งออก โดยไม่ได้สนใจเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วพอเกิดปัญหามลพิษหรือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา ก็ไม่ได้มีการเตรียมการรับมืออย่างจริงจัง เป็นกับดักการพัฒนาสีเทา ที่เต็มไปด้วยปัญหา ข้อจำกัด และราคาที่ต้องจ่าย            

       ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตและขับเคลื่อนโดยการใช้พลังงานอย่างเข้มข้น ประเทศไทยมีการใช้พลังงานในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีอัตราการเติบโตสูงกว่าการเติบโตของภาคเศรษฐกิจเสียอีก โดยพลังงานส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมสูงที่สุด นอกจากนี้ เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายลงมากในช่วงการพัฒนาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง มลพิษทางน้ำ ปัญหาขยะที่ไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้อง ปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสีย และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้น

      เราจำเป็นที่จะต้องออกจากกับดักการพัฒนาสีเทาเพื่อมุ่งไปสู่โมเดลการพัฒนาสีเขียว เพื่อการพัฒนาประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีคุณภาพ และยั่งยืน โดยกรอบแนวคิดภายใต้โมเดลการพัฒนาสีเขียว มีที่มาจาก เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals :SDGs) ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาของสหประชาชาติ(UN) ที่ไทยเป็นสมาชิกและลงนามให้คำมั่นว่าจะร่วมกันบรรลุ SDGs ในปี 2030 หลักการสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนคือ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติทั้ง น้ำ ทรัพยากรทางทะเล ฯลฯ ควบคู่ไปกับการขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหย โดยมีการดำเนินการเชื่อมโยงหลายมิติเข้าด้วยกัน ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และมีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนสำหรับทั้ง 17 เป้าหมาย ถ้าประเทศไทยสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบในการพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ จะสามารถยกระดับมาตรฐานการดูแลสิ่งแวดล้อมของไทยให้ไปสู่มาตรฐานของโลก และสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้

       นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า โมเดลพัฒนาสีเทามักบอกกับเราว่า การเติบโตของธุรกิจ จำเป็นต้องแลกกับการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงในโลกยุคใหม่ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เศรษฐกิจสามารถเติบโตไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ องค์กรธุรกิจที่มีส่วนร่วมในเป้าหมาย SDGs จะสามารถสร้างกำไรระยะยาวแก่ธุรกิจได้ อีกทั้งช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นองค์กรธุรกิจที่ยั่งยืนและสอดรับกับกระแส “การค้าสีเขียว” ในเวทีการค้าโลก โดยหัวใจสำคัญของการค้าสีเขียวคือการกำหนดกติกาและบทลงโทษสำหรับประเทศที่ผลิตสินค้าโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ กฎระเบียบว่าด้วยการกำจัดเศษซากของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste Electrical and Electronic Equipment Directive: WEEE) ฉลากพลังงาน ฉลากเขียว (Eco-Label) เป็นต้น

      เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอยกตัวอย่าง การกำจัดเศษซากของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หลายประเทศในสหภาพยุโรป ได้ออกกฎระเบียบ WEEE เพื่อป้องกันไม่ให้เศษวัสดุจากเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานแล้วกลายเป็นขยะ ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมและเพิ่มภาระในการจัดการ ประเทศเหล่านี้จึงส่งเสริมการนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ กฎระเบียบนี้ครอบคลุมสินค้า 10 ประเภท ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ใช้ในครัวเรือน หากผู้ส่งออกของประเทศไทยสามารถปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบนี้ ก็สามารถสร้างตลาดในเวทีการค้าโลกได้มากขึ้น เช่น มีการปรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีการใช้งานได้นานขึ้น สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายขึ้น ก็สามารถส่งสินค้าเหล่านี้ไปยังต่างประเทศมากขึ้น เป็นต้น นอกจากผลประโยชน์ในแง่ของความสามารถในการแข่งขันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังช่วยลดปริมาณขยะที่เป็นอันตรายหรือโลหะหนักที่มาจากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยได้อีกด้วย

     อย่างไรก็ดี การพัฒนาสีเขียวจะเกิดขึ้นได้จริงถ้าหากได้รับความร่วมมือจากผู้บริโภค ภาครัฐ และผู้ประกอบการภาคเอกชนโดยผู้บริโภคต้องปรับพฤติกรรมหันมาใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือสินค้าสีเขียวมากขึ้น เช่น สินค้าที่ติดฉลากสีเขียว หรือ ฉลากประหยัดไฟเบอร์5 เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างอุปสงค์และตลาดให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าในลักษณะนี้ โดยความต้องการสีเขียวจะเกิดขึ้นเมื่อทุกภาคส่วนหันมาร่วมมือกันในการเผยแพร่ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สีเขียวให้กับผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น

     สำหรับ ภาครัฐ ควรส่งเสริมนโยบายการเงินและการคลังที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การยกเว้นภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การให้สินเชื่อสีเขียวเพื่อเป็นทุนให้กับผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตหรือรูปแบบการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงต้องบังคับใช้กฎหมายในการดูแลสิ่งแวดล้อมและเป็นไปตามมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด

     บทบาทของประกอบการคือการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงาน น้ำและทรัพยากรธรรมชาติในกระบวนการผลิต อีกทั้งช่วยลดการปล่อยของเสียในกระบวนการผลิตต่าง ๆ ถึงแม้ว่าในระยะสั้นผู้ประกอบการอาจต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวจะส่งผลให้ผลประกอบการดีขึ้น เพราะเราใช้ทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงและไม่ต้องแบกรับภาระในการจัดการขยะหรือเศษวัสดุจากกระบวนการผลิต

      นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ย้ำว่า การออกจากกับดักการพัฒนาสีเทาสู่โมเดลการพัฒนาสีเขียวเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องลงมือทำ แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นไปได้จริง เมื่อทุกภาคส่วนตระหนักและปรับตัว เพราะท้ายที่สุดแล้วทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ และประเทศจะพัฒนาไปได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!