WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaAสงขลา ซพเอฟ

สงขลา-ซีพีเอฟ และ เครือข่ายเดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ครบทั้งพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัด

      บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ภาคประชาสังคมและชุมชน เดินหน้าเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าใหม่ อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนพื้นที่ยุทธศาสตร์ใน 5 จังหวัด ภายใต้โครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ล่าสุด ลงพื้นที่ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ปลูกป่าใหม่ 105 ไร่ โดยเริ่มปลูกเฟสแรก 25 ไร่ พร้อมปล่อยพันธุ์ปลา โดยมีนายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธานในพิธี

    นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามโรดแมป 3 เสาหลัก ของบริษัท คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดิน น้ำ ป่า คงอยู่ ซึ่งบริษัท ฯได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์การมหาชน) และเครือข่ายภาคประชาสังคม วางยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูฐานทรัพยากรป่าชายเลนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ภายใต้โครงการ” ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” กำหนดแผนยุทธศาสตร์  5 ปี (ตั้งแต่ปี 2557-2561) ซี่ง ในปีนี้ ถือว่าได้ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายครบ 5 จังหวัด คือ จังหวัดชุมพร ระยอง สมุทรสาคร พังงา และสงขลา กำหนดเป้าหมายปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ทั้ง 5 จังหวัด จำนวนรวมกว่า 2,245 ไร่ ภายในปี 2561

       “ที่ผ่านมา ซีพีเอฟร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนินโครงการ 'ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน' ซึ่งผลที่ได้รับจากโครงการฯถือว่าเป็นการสร้างต้นแบบที่ดีและเครือข่ายที่เข้มแข็งในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน พร้อมพัฒนาไปสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ป่าชายเลนในพื้นที่ ตลอดจนสามารถรายงานผลการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่ประเทศ”นายวุฒิชัยกล่าว

      นายจรัส อัศวชาญชัยสกุล รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ป่าชายเลน จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ได้เปิดตัวโครงการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยมีซีพีเอฟจิตอาสา ผู้แทนของหน่วยราชการและชุมชน ร่วมกันปลูกป่าใหม่ 25 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 4 ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จ. สงขลาและปล่อยพันธุ์ปลา 2,000 ตัว เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรป่าชายเลนให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งอาหารของชุมชน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ชุมชนมีครวามพร้อมและความเข้มแข็ง รวมทั้งผู้นำชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อาทิ สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 38 (สงขลา) เทศบาลตำบลชะแล้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยสงขลา สถานศึกษาในพื้นที่ ที่มุ่งมั่นร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมอาชีพและรายได้แก่ชุมชน อาทิ อาชีพผลิตน้ำผึ้ง

       สำหรับ ผลการดำเนินโครงการ 'ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน' ในช่วงที่ผ่านมา จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งมากที่สุด สามารถอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ปลูกใหม่และพื้นที่อนุรักษ์กว่า 600 ไร่ มีอัตราการรอดตายของต้นไม้ 60% ,จังหวัดระยอง หน่วยงานภาครัฐต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมดูแลสู่การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนกว่า 600 ไร่ มีอัตราการรอดตายของต้นไม้ 90% ,จังหวัดชุมพร จากพื้นที่ที่หน่วยงานภาครัฐจัดสรรให้ดำเนินการ เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนกว่า 1,000 ไร่ อัตราการรอดตายของต้นไม้ 80% และจังหวัดพังงา พื้นที่ดำเนินการในแถบชายฝั่งอันดามันแห่งแรก โดยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนกว่า 90 ไร่ อัตราการรอดตายของต้นไม้ 80%  

       นายวิชัย มณีเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ป่าชายเลนมีความสำคัญมากต่อชุมชนในพื้นที่ เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำแล้ว ยังเป็นแหล่งสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชนอีกด้วย  การที่ภาคเอกชนอย่างซีพีเอฟ ผนึกพลังร่วมกับชุมชน และภาคีเครือข่าย เช่น กองทัพเรือ ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทะเลอ่าวไทย ช่วยให้การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น

       “ภาคเอกชนมีศักยภาพอย่างมากในการช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขอบคุณซีพีเอฟที่เข้ามาช่วย และให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะลำพังภาครัฐทำเพียงฝ่ายเดียว อาจจะไม่ได้ผลสมบูรณ์และยั่งยืน แต่หากภาคเอกชนและชุมชนเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ก็จะทำให้ผลสำเร็จเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน”นายวิชัยกล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!