- Details
- Category: CSR
- Published: Monday, 14 August 2017 18:08
- Hits: 15397
อธิบดีกรมท่าอากาศยานลงพื้นที่ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชเดินหน้าเชิงรุก ป้องกันน้ำท่วมสนามบิน พร้อมเปิดตัวโครงการก่อสร้างคันทางระบบป้องกันน้ำท่วมฯ
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน พร้อมคณะผู้บริหารกรมท่าอากาศยานเดินทางลงพื้นที่ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช โดยมีนายสุขสวัสดิ์ สุขวรรณโณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช และเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานให้การต้อนรับการลงพื้นที่ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมโครงการก่อสร้างคันทางและระบบป้องกันน้ำท่วมท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช สืบเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ทางภาคใต้เมื่อเดือนมกราคม 2560 ส่งผลกระทบให้น้ำเข้าท่วมภายในบริเวณท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช และได้ประกาศปิดทำการบินชั่วคราวนั้น กรมท่าอากาศยานจึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้กระทรวงคมนาคม หามาตรการป้องกันน้ำท่วมในปี 2560 ก่อนเข้าฤดูกาล โดยเฉพาะบริเวณที่เคยเกิดน้ำท่วมเมื่อปี 2559
โดยครั้งนี้อธิบดีกรมท่าอากาศยานได้ประชุมร่วมกับผู้รับจ้าง เพื่อหารือถึงแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาในเชิงรุก ซึ่งได้สั่งการให้ผู้รับจ้างจัดทำแผนการดำเนินงานอย่างละเอียด และเตรียมการป้องกันระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโครงการ โดยมีมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นระหว่างนี้ ด้วยการปิดทางน้ำเข้าสนามบินและในที่ลุ่มต่ำเดิมให้ผู้รับจ้างติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อผลักดันมวลน้ำออกจากสนามบิน นอกจากนี้ยังเร่งรัดผู้รับจ้างเข้าดำเนินการก่อสร้างโดยทันที และให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากในปี 2561
สำหรับ ‘โครงการก่อสร้างคันทางและระบบป้องกันน้ำท่วมท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช’ใช้งบประมาณการก่อสร้าง จำนวน 353,838,000.- บาท ระยะเวลาการดำเนินการ 16 เดือน โดยมีบริษัท สินเจริญสนม จำกัดเป็นผู้รับจ้าง และบริษัท อินทิเกรเทด เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งการออกแบบระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม มีรายละเอียดดังนี้
1) ระดับป้องกัน คันป้องกันน้ำท่วมจากระดับน้ำภายนอกพื้นที่ ใช้ระดับป้องกันที่ระดับน้ำท่วมในรอบการเกิด 100 ปี หรือประมาณระดับ +4.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
2) ระยะเผื่อล้น (Freeboard)ระยะเผื่อล้นใช้เท่ากับ 0.50 เมตร ซึ่งมากกว่าเกณฑ์ทั่วไปที่ใช้ประมาณ 0.30 เมตร
3) การระบายน้ำฝนภายในพื้นที่ กำหนดให้ระบายน้ำจากฝนตกภายในพื้นที่ในรอบการเกิด 25 ปี โดยควบคุมระดับน้ำและพร่องน้ำในช่วงระดับ +2.50 เมตร ถึง +3.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
4) คันป้องกันน้ำท่วมเป็นคันดินเป็นรูปแบบของคันกั้นน้ำที่เหมาะสมมีราคาประหยัด
5) ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ ประกอบด้วยสถานีสูบน้ำ 2 สถานี โดยให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำได้ 4 เครื่อง สามารถสูบน้ำได้ 9 ลบม./วินาที
การก่อสร้างโครงการเป็นการก่อสร้างถนนใหม่และปรับปรุงถนนเดิมเพื่อเป็นคันป้องกันน้ำท่วมโดยรอบท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช พร้อมท่อระบายน้ำและอาคารควบคุมสถานีสูบน้ำ ประกอบด้วยงานดังนี้
1) ก่อสร้างถนนใหม่และปรับปรุงถนนเดิมเพื่อเป็นคันป้องกันน้ำท่วม ระยะทางรวม 9.375 กม.
1.1 งานก่อสร้างถนนแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร รวมระยะทาง 3.5 กม.
1.2 งานปรับปรุงถนนเดิม ปรับปรุงยกระดับถนนเดิมและก่อสร้างผิวจราจรใหม่ เป็นถนนแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร รวมระยะทาง 5.875 กม.
2) ก่อสร้างท่อระบายน้ำและอาคารควบคุมสถานีสูบน้ำ
2.1 ท่อระบายน้ำ ดำเนินการก่อสร้างท่อระบายน้ำพร้อมประตูน้ำ จำนวน 4 แห่ง
2.2 อาคารควบคุมสถานีสูบน้ำ ดำเนินก่อสร้างอาคารควบคุมสถานีสูบน้ำจำนวน 2 สถานี
โดยภายหลังจากโครงการก่อสร้างดังกล่าวแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชสามารถรองรับน้ำท่วมขังในปริมาณปี 2554 และปี 2559 ได้