WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aCCF

ซี.ซี.เอฟ. จับมือ มูลนิธิ ซิตี้ จัดประกวดแผนธุรกิจ ส่งเสริมเยาวชนเป็น'ผู้ประกอบการน้อย ซี.ซี.เอฟ.'สร้างอาชีพทางเลือก มูลนิธิซิตี้ เผยผลสำรวจ มีเยาวชนกว่า 75 ล้านคนทั่วโลกที่กำลังหาโอกาสในการได้รับจ้างงาน

    มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ มูลนิธิซิตี้ (Citi Foundation) จัดการประกวดแข่งขัน ‘การจัดทำแผนธุรกิจ โดยผู้ประกอบการน้อย ซี.ซี.เอฟ.’จาก 5 โรงเรียนนำร่องในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อส่งเสริมทักษะทางการเงินและอาชีพสำหรับเยาวชนให้พร้อมเป็นผู้ประกอบการในยุคศตวรรษที่ 21

      ปัจจุบันปัญหาการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ กำลังส่งผลกระทบต่อสังคมไทยมากขึ้น ผลสถิติการจากศึกษาวิจัย ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า 10% ของจำนวนเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาพื้นฐานต่อ 1 ปี ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) และอีก 50% ไม่จบ ม.6 หรือ ปวส. หรือกล่าวได้ว่ามีเด็กกว่า 630,000 คนต่อปีที่ไม่ได้เรียนต่อในระดับสูง และหากรวมจำนวนเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาทั้งหมดมีจำนวนมากถึง 4 ล้านคน ทั้งเด็กในชนบท ถิ่นทุรกันดาร และเด็กที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่

       มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้จัดทำโครงการ'ส่งเสริมทักษะทางการเงินและอาชีพสำหรับเยาวชน' เพื่อสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพให้เด็กและเยาวชน ให้มีความรู้และได้รับการกระตุ้นในการทำธุรกิจเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนมีทักษะการบริหารการเงิน การออม ให้พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานสมัยใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิซิตี้ และดำเนินนโยบายภายใต้กรอบการปฎิรูปการศึกษาของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ

      นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า “มูลนิธิ ซิตี้ และซิตี้เล็งเห็นความสำคัญในการฝึกทักษะการทำธุรกิจแก่เด็กและเยาวชนเพื่อสร้างโอกาส สร้างความมั่นคงเศรษฐกิจให้กับเยาวชน เนื่องจากทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 นับว่าแตกต่างไปจากอดีต อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ โดยเฉพาะเทคโนโลยี ทำให้การหารายได้ของคนยุคใหม่ในอนาคตนั้นแตกต่างแทบจะสิ้นเชิงจากปัจจุบัน ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันด้านความรู้และทักษะในการคิด วิเคราะห์และสร้างสรรค์  รวมถึงการพร้อมเป็นผู้ประกอบการจะช่วยให้เยาวชนในโครงการสามารถดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต”

    ดร กรรณชฎา พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. กล่าวว่า “โครงการ ส่งเสริมทักษะทางการเงินและอาชีพสำหรับเยาวชน นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้เรียนรู้เรื่องการวางแผนธุรกิจ การผลิต การบริหารเงิน การออม การทำบัญชีรายรับรายจ่าย โดยความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีนักธุรกิจมืออาชีพมาเป็นพี่เลี้ยง ช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยง การดูงานธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ จากนั้นเด็กๆ ได้ทำแผนธุรกิจของตัวเองเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา ตั้งบริษัทจำลองให้ทดลองทำธุรกิจ ทั้งหมดก็เพื่อสร้างผู้ประกอบการน้อย ซี.ซี.เอฟ. ส่งเสริมให้เยาวชนมีรายได้เป็นของตนเองระหว่างเรียน และมีความรู้ความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานสมัยใหม่ ที่สำคัญเราส่งเสริมให้เด็กๆ ทำธุรกิจด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ พอเพียงและมีคุณธรรมค่ะ”

      ผู้ประกอบการน้อย ซี.ซี.เอฟ. จำนวน  64 คน จาก 15 ชมรมใน 5 โรงเรียน นำร่อง ได้แก่ โรงเรียนพิทยาลงกรณ์พิทยาคม กรุงเทพฯ โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม กรุงเทพฯ โรงเรียนนวลนรดิศวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก กรุงเทพฯ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครปฐม และ โรงเรียนวัดไตรสามัคคี จ.สมุทรปราการ โดยแต่ละโรงเรียนได้ผลัดกันนำเสนอผลงานบนเวที จากนั้นคณะกรรมการจะซักถาม และให้คะแนนแต่ละชมรม โดย ชมรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่

•   ชนะเลิศ เงินรางวัล 30,000 บาท         ชมรม  P.K. ICE CREAM  โรงเรียนพิทยาลงกรณ์พิทยาคม

•   รองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 20,000 บาท    ชมรม  เพาะเห็ด                 โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม

•   รองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 10,000 บาท     ชมรม  ICECREAM           โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัด นครปฐม

        นายฉัตรชัย งามวิภาส อาสาสมัครซิตี้ และหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินโครงการฯ กล่าวว่า “โครงการส่งเสริมทักษะทางการเงินและอาชีพสำหรับเยาวชนนี้ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเด็กๆ สู่การเป็นผู้นำ  เป็นผู้ประกอบการ  เป็นนักคิด  เป็นนักขายและเป็นนักสื่อสารที่ดี  ในฐานะคณะกรรมการผู้ตัดสิน รู้สึกดีใจที่น้องๆ ทุกคนในโครงการ สามารถนำความรู้ที่ได้จากการถ่ายทอด นำมาทำแผนธุรกิจออกมาได้ดีมากๆ ทุกทีม โดยเฉพาะ น้องๆ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากชมรม P.K. ICE CREAM ที่ส่งแผนธุรกิจการผลิตไอศกรีมรสปลาหมึกเข้าประกวด ด้วยความโดดเด่นในเรื่องแผนธุรกิจที่ดี สามารถหาโอกาส หาช่องว่างทางธุรกิจ คิดค้นสิ่งแปลกใหม่ผลิตไอศกรีมรสปลาหมึกที่มีรสชาติอร่อย ไม่มีกลิ่นคาว แถมในท้องตลาดยังไม่มีใครผลิตอีกด้วย ถือว่าทำได้ดีมากๆ  สำหรับน้องๆ ที่ไม่ได้ร่วมในโครงการฯ ก็อยากแนะนำให้ เริ่มเรียนรู้เรื่องการเงินตั้งแต่เด็กๆ เช่น อาจจะเริ่มต้นด้วยการออม หรือพอเริ่มทำงานมีรายได้ หรือมีรายได้จากการทำธุรกิจของตัวเอง  แทนที่จะออมเงินก็เรียนรู้ต่อยอดโดยการเอาเงินไปลงทุน เพื่อทำให้ผลการลงทุนงอกเงยได้ขึ้นอีก  นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ถ้ามีความฝัน อย่าหยุดฝัน ขอให้ขวนขวายหาโอกาสให้ตัวเองอยู่เสมอ เพราะทุกอย่างเป็นไปได้และขอให้ลงมือทำ”     

     ด.ญ.วันดี แก้วกระจ่าง หัวหน้าทีมชมรม P.K. ICE CREAM จากโรงเรียนพิทยาลงกรณ์  ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศแผนธุรกิจ และได้รับทุนการศึกษา จำนวน 30,000 บาท จากแผนธุรกิจ “การผลิตไอศกรีมรสปลาหมึก” กล่าวถึงการได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า “ครอบครัวหนูยากจน การได้เข้าร่วมในโครงการส่งเสริมทักษะทางการเงินและอาชีพสำหรับเยาวชนในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับตัวหนูเอง และเพื่อนๆ ทุกคนในโครงการฯ ส่วนแรงบันดาลใจในการผลิตไอศกรีมรสปลาหมึก ได้มาจากมูลนิธิซิตี้พาไปเรียนรู้การทำไอศกรีมจาก คุณลุงชวน ชูจันทร์  ปราชญ์ชาวบ้านแห่งคลองลัดมะยม พวกหนูก็มาคิดต่อยอดว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นมีอะไรบ้าง ในหมู่บ้านมีปลาหมึกค่ะ ก็เลยทำแผนธุรกิจไปปรึกษาคุณครูพัชราภรณ์ บุญเกื้อและคุณครูเบ็ญจวรรณ คุณครูก็เห็นชอบด้วยค่ะ ซึ่งการผลิตไอศกรีมรสปลาหมึก 1 บันหรือ 1 ถัง ใช้เงินทุน 1,030 บาท ผลิตได้ 40 กระปุก ขายกระปุกละ 20 บาท และสามารถอยู่ได้ 2 อาทิตย์ถ้าแช่ในตู้เย็น แต่ถ้าไม่มีตู้เย็น จะอยู่ได้ไม่นานเพราะไม่ได้ใส่สารกันบูดค่ะ เมื่อผลิตได้พวกหนูก็เอาไปขายให้กับคนที่มาจัดงานสัมมนาในโรงเรียน สามารถสร้างรายได้ได้ดีค่ะ ที่สำคัญหนูสามารถนำความรู้ที่ได้จากโครงการฯ นี้ ไปประยุกต์ใช้ในอนาคตได้อีกมาก ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกท่านที่ให้โอกาสค่ะ”

     การประกวดแข่งขันการจัดทำแผนธุรกิจ โดยผู้ประกอบการน้อย ซี.ซี.เอฟ. ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.พะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คุณนุชนารถ คุณความดี  รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจเชิงนวัตกรรมและการบัญชี College of Innovative Business and Accountancy (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ รวมถึงนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เช่น คุณณัฐธยาณ์  ปางพุฒิพงศ์ บริษัท ดาว คอฟฟี่บีนส์ จำกัด เข้าร่วมงานและเป็นคณะกรรมการตัดสิน

    มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการช่วยเหลือเด็กยากไร้และครอบครัวมาตั้งแต่ปี 2518 ผ่านโครงการอุปการะเด็กเพื่อนำเงินจากการอุปการะมาสนับสนุนเด็กด้อยโอกาสในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ให้มีชีวิตความเป็นอยู่และการศึกษาที่ดีขึ้น ปัจจุบันมีเด็กในความดูแลกว่า 58,000 คน ใน 36 จังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับมูลนิธิฯ ไว้ในพระราชูปถัมภ์ 

ซิตี้

         ธนาคารชั้นนำของโลก ที่ให้บริการแก่ลูกค้ากว่า 200  ล้านราย ในกว่า 160 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก  ซิตี้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายให้กับลูกค้าบุคคล องค์กร ภาครัฐและสถาบันต่างๆ  โดยธุรกิจหลักครอบคลุมการธนาคารและสินเชื่อเพื่อลูกค้าบุคคล (สายบุคคลธนกิจ) ธนาคารเพื่อองค์กรและการลงทุน (สายสถาบันธนกิจและวาณิชธนกิจ)  ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์  บริการธุรกรรมทางการเงินต่างๆ รวมถึงบริการบริหารความมั่งคั่ง  ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.citigroup.com | ทวิตเตอร์: @Citi | ยูทูป: www.youtube.com/citi | บล็อก: http://new.citi.com | เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/citi | ลิงก์อิน: www.linkedin.com/company/citi

มูลนิธิซิตี้

        มูลนิธิซิตี้ มีบทบาทในการทำงานที่ส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนทั่วโลกให้ดีขึ้น ด้วยการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินอย่างทั่วถึง การสร้างอาชีพสำหรับเยาวชน  รวมถึงสร้างสภาพเศรษฐกิจของชุมชนที่ดีขึ้น นอกจากการให้ความช่วยเหลือแล้ว มูลนิธิซิตี้ ยังได้ใช้ความเชี่ยวชาญในฐานะสถาบันการเงินชั้นนำและความพร้อมของพนักงาน ที่สนับสนุนให้พันธกิจของบริษัทประสบความสำเร็จและขับเคลื่อนแนวคิดความเป็นผู้นำและนวัตกรรม ดูข้อมูลเพิ่มเติมของมูลนิธิฯ  ที่ www.citifoundation.com

บรรยายภาพการประกวด การจัดทำแผนธุรกิจ โดยผู้ประกอบการน้อย ซี.ซี.เอฟ.

ภาพที่ 1

ดร.พะโยม   ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ที่ 3 จากซ้าย) คุณวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย (ขวาสุด) คุณธัญญา ศิริเวทิน กรรมการมูลนิธิ ซี.ซี. เอฟ เพื่อเด็กและเยาวชนฯ (ซ้ายสุด )ถ่ายภาพร่วมกับตัวแทนเยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และ รองชนะชนะเลิศ อันดับที่ 1 และอันดับที่ 2  จากการประกวด การจัดทำแผนธุรกิจ โดยผู้ประกอบการน้อย ซี.ซี.เอฟ.

ภาพที่ 2

คณะผู้บริหารของหน่วยงานต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนโครงการ การจัดทำแผนธุรกิจ โดยผู้ประกอบการน้อย ซี.ซี.เอฟ.

ภาพที่ 3

คุณธัญญา ศิริเวทิน กรรมการมูลนิธิ ซี.ซี. เอฟ เพื่อเด็กและเยาวชนฯ  (ที่2 จากซ้าย) ดร.กรรณชฎา พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ เพื่อเด็กและเยาวชนฯ (ซ้ายสุด) คุณวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูลรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย (ขวาสุด) โชว์ผลงานจากเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ

ภาพที่ 4

ภาพบรรยากาศตัวแทนเยาวชนจากโรงเรียน พิทยาลงกรณ์พิทยาคม กรุงเทพฯ เสนอผลงานบนเวที ประกวด การจัดทำแผนธุรกิจ โดยผู้ประกอบการน้อย ซี.ซี.เอฟ.

ภาพที่ 5

ทีมอาสาสมัครซิตี้ ที่เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวด การจัดทำแผนธุรกิจ โดยผู้ประกอบการน้อย ซี.ซี.เอฟ.

ภาพที่ 6

คุณวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูลรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย และตัวแทนจากเยาวชน ชมรม  P.K. ICE CREAM  โรงเรียนพิทยาลงกรณ์พิทยาคม  กรุงเทพฯ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ          อันดับที่ 1

ภาพที่ 7

เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ โชว์ผลงานการประกวด

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!