- Details
- Category: CSR
- Published: Sunday, 03 August 2014 22:10
- Hits: 3329
‘โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน’ สร้างห้องเรียนชีวิต เพิ่มทักษะอาชีพสู่เยาวชน
การเรียนให้รู้จริงนับเป็นสิ่งที่จะก่อประโยชน์อย่างสูงสุด ส่วนการจะรู้จริงได้นั้น ก็ต้องอาศัยการลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดเป็นประสบการณ์ที่จะฝังอยู่ในความทรงจำ นี่ถือเป็นหนึ่งในเหตุผลของจุดกำเนิดของ'โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน'เพื่อสร้างประสบการณ์จากการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเลี้ยงไก่ไข่ที่จะกลายเป็นทักษะชีวิตให้กับเด็กๆในอนาคต
ล่าสุดมีโอกาสได้ร่วมกับคณะของมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ เดินทางลงใต้มุ่งสู่จุดหมายปลายทางที่จังหวัดตรัง เพื่อมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ แก่น้องๆ โรงเรียนเขาวิเศษ อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง เพื่อต่อยอดการเรียนรู้วิถีเกษตรของเยาวชน เพราะโรงเรียนนี้เขาเน้นให้นักเรียนรู้จักการทำเกษตรเพื่อเป็นความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ที่บ้านได้ ทั้งการปลูกพืชสวน ผักปลอดสาร ไม้ผล ไม้ยืนต้น รวมทั้งการเลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์ ทั้งหมดนี้อยู่ในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน สำหรับโครงการเลี้ยงไก่ไข่นี้ นอกจากจะช่วยเสริมการเรียนรู้ และยังเป็นแหล่งผลิตโปรตีนคุณภาพดีจากไข่ไก่ ให้กับน้องๆนักเรียนชั้นอนุบาล-ประถมปีที่ 6 ทั้ง 551 คน ที่สำคัญคือจะช่วยให้เด็กๆ 74 คนได้พ้นจากภาวะทุพโภชนาการ
โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ เป็นประธานในพิธีส่งมอบอาคารโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ ที่ปลูกสร้างโดยสโมสรโรตารี่ตรัง ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทฯ ที่สนับสนุนกรงพร้อมระบบน้ำ พันธุ์ไก่ไข่ที่พร้อมให้ไข่ทันทีและอาหารไก่สำหรับการเลี้ยงไก่ในรุ่นแรก
“โรงเรียนเขาวิเศษ มีความโดดเด่นทั้งทางด้านการเรียนการสอน สนับสนุนการเรียนรู้ด้านการเกษตร มีระบบธนาคารโรงเรียน และสหกรณ์โรงเรียนที่เข้มแข็ง การที่สโมสรโรตารี่ ซีพีเอฟ และมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทฯ ร่วมมือกันจัดโครงการเลี้ยงไก่ไข่ให้กับเด็กๆ จึงนับเป็นอีกหนึ่งแนวทางการส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้อาชีพเกษตร ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคตได้” พ่อเมืองตรัง กล่าว
ด้าน นายสง่า พิรามวิทวัส ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกว่า การที่ผู้ใหญ่ใจดีทั้ง 3 หน่วยงานเข้ามามอบสิ่งดีๆให้กับโรงเรียนในครั้งนี้ ทำให้ทั้งคณะครู นักเรียน และชาวบ้านหมู่ที่ 4 ตำบลเขาวิเศษ ดีใจที่โรงเรียนเขาวิเศษได้รับโอกาสที่ดี โครงการเลี้ยงไก่ไข่จะเป็นแหล่งฝึกทักษะชีวิต ทำให้เด็กๆได้มีพื้นฐานอาชีพ จากการเลี้ยงไก่ 100 ตัว โดยมีครูผู้รับผิดชอบ 3 คน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาดูแลการเลี้ยงไก่ของเด็กๆที่ร่วมกิจกรรม ซึ่งทั้งหมดเป็นนักเรียนชั้นประถม 4-5-6 ที่จะจัดแบ่งเวรกันมาวันละ 5 คน ส่วนนักเรียนคนอื่นๆที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรม ก็ยังสามารถเข้ามาเรียนรู้กระบวนการเลี้ยงไก่ไข่ได้เช่นกัน
“โครงการนี้นอกจากจะสอนทักษะอาชีพให้กับเด็กๆ ทำให้มีประสบการณ์ในการทำงาน เป็นการสร้างคุณค่าในตนเองให้กับนักเรียน ปลูกฝังให้มีความเสียสละและจิตอาสา และสามารถบูรณาการสู่การเรียนการสอนได้ทุกวิชา เช่น คณิตศาสตร์ ก็ได้จากการจดบันทึกผลผลิตไข่ไก่, ภาษาไทย ครูชั้นป.1 จะสอนเด็กๆให้เรียนรู้คำสะกดจากกิจกรรมอย่างคำว่า ไก่ไข่ ไข่ไก่ โรงเรือน ว่าเขียนอย่างไร หรือวิชาวิทยาศาสตร์ นักเรียนจะเรียนรู้ว่าไก่ที่เลี้ยงเป็นสายพันธุ์อะไร เป็นต้น ทั้งหมดนี้ครูผู้สอนจะเชื่อมโยงไปยังรายวิชานั้นๆเอง” ผอ.สง่า กล่าว
ส่วนกระบวนการเลี้ยงไก่ของนักเรียนในแต่ละวัน ผอ.สง่า บอกว่า จะเริ่มจากทุกเช้าเด็กๆจะเข้ามาดูแลความสะอาดและตรวจสอบอุปกรณ์ให้น้ำเพื่อให้ไก่มีน้ำและอาหารกินอย่างพอเพียงและ พอช่วงพักเที่ยงก็จะเข้ามาเก็บไข่ ช่วงเย็นก็จะมาให้อาหารในปริมาณที่ซีพีเอฟได้แนะนำไว้เป็มมาตรฐานตามช่วงอายุการให้ไข่ พร้อมกับคัดแยกไข่บุบออกเพื่อนำไปส่งมอบให้กับสหกรณ์ที่จะจำหน่ายให้กับโครงการอาหารกลางวัน และหากมีไข่ไก่เหลือจากการขายเด็กๆจะนำไปจำหน่ายให้กับผู้ปกครองในตอนเย็นที่มารับบุตรหลาน และในอนาคตอาจต่อยอดสู่การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าไข่ไก่ อาทิ ไข่เค็ม
สิ่งที่น่าสนใจของโรงเรียนนี้ คือ เสียงเพลงที่ขับกล่อมแม่ไก่ทั้ง 100 ตัว ผอ.สง่า บอกว่า นี่คือเคล็ดลับในการเลี้ยงไก่เพราะเพลงที่เปิดนี้ทำให้แม่ไก่ชินกับเสียง ไม่ตื่นตกใจเวลาเกิดเสียงดัง เช่น เสียงคนที่เข้ามาในโรงเรือน เสียงฟ้าร้องฟ้าผ่า ที่สำคัญเสียงเพลงยังทำให้แม่ไก่พันธุ์ดีที่ซีพีเอฟมอบให้ ยิ่งมีอารมณ์ดีและให้ผลผลิตไข่ไก่คุณภาพดีสูงถึงวันละ 98-99 ฟอง
เรื่องนี้ นายสุปรี เบ้าสิงห์สวย กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทฯ เสริมว่า เป็นความช่างสังเกตของผู้ดูแลโครงการและกลายเป็นเคล็ดลับที่โรงเรียนต่างๆบอกต่อๆกัน บางโรงเรียนก็คิดค้นวิธีการบริหารจัดการใหม่ๆ อย่างเช่น การใช้มุ้งเขียวหรือแสลนสีดำมาปูใต้กรงและโรยแกลบเพื่อรองรับมูลไก่ ช่วยลดกลิ่นเหม็นและทำให้เด็กๆสามารถจัดการกับมูลไก่ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาในการเก็บมูลไก่อย่างในอดีต หรือบางแห่งก็นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ อย่างการติดตั้งแผงโซล่าเซลเพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับการทำงานของพัดลมในโรงเรือนและไฟแสงสว่าง สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้สนับสนุนชื่นใจที่โครงการฯ ก่อให้เกิดการเรียนรู้และต่อยอดความรู้ได้
“ที่สำคัญคือเราได้เห็นความร่วมแรงร่วมใจของโรงเรียนและชุมชน ที่มาร่วมกันติดตั้งกรง ระบบน้ำ และพัฒนารอบบริเวณโรงเรือนเพื่อให้พร้อมรับแม่ไก่ไข่เข้าเลี้ยง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นได้ในโรงเรียนทุกแห่งที่ร่วมโครงการ โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่จึงไม่ใช่แค่แหล่งผลิตไข่ไก่ของเด็กๆ แต่ยังกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายสำคัญที่ซีพีเอฟและมูลนิธิฯอยากให้เกิดขึ้นจากโครงการเล็กๆของเยาวชน” นายสุปรี กล่าว
ส่วน ดช.วงศ์กร ภัติศิริ หรือน้องต้น วัย 12 ปี นักเรียนชั้นป.6 ที่รับผิดชอบดูแลการเลี้ยงไก่ไข่ บอกว่า รู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม เพราะเมื่อได้เข้ามาดูแลไก่กับเพื่อนๆ ก็รู้สึกสนุก และยังภูมิใจที่สามารถเลี้ยงไก่และได้ไข่ไก่เป็นอาหารให้กับทุกคนในโรงเรียน
“การเลี้ยงไก่ทำให้ผมกับเพื่อนๆได้ทำงานร่วมกัน เกิดความสามัคคี เมื่อว่างจากการเรียนเราไม่อยากเที่ยวเล่นอย่างเมื่อก่อน ทุกคนจะรวมตัวกันมาดูแลเล้าไก่ มาช่วยครูทำความสะอาด ถางหญ้า และปลูกผักสวนครัวข้างๆเล้า พวกเราคิดว่าทำแบบนี้มีประโยชน์กว่าเที่ยวเล่น และยิ่งสนุกว่าการเล่นเป็นไหนๆ” น้องต้น เล่าอย่างอารมณ์ดี
เห็นกิจกรรมดีๆที่ทุกภาคส่วนตั้งใจดำเนินการเพื่อสร้างห้องเรียนชีวิตแก่น้องๆเช่นนี้แล้ว ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและน่าสนับสนุนให้เกิดขึ้นกับทุกๆโรงเรียน เพื่อให้เยาวชนไทยได้อิ่มท้องและมีอาหารสมองที่ทำให้พร้อมที่จะพัฒนาการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดต่อไป