- Details
- Category: CSR
- Published: Tuesday, 21 June 2016 16:35
- Hits: 2142
บ้านปูฯ ต่อยอดความสำเร็จกิจการเพื่อสังคม จัดกิจกรรมพิเศษเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญ
หลังจากบ่มเพาะผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ใน 'โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม'หรือ Banpu Champions for Change มาเป็นเวลากว่า 6 ปี บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านธุรกิจพลังงานแห่งเอเชียที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ได้จัดกิจกรรมพิเศษ'พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม Keep on Growing: เติบโต ต่อเนื่อง ยั่งยืน' เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่เป็นศิษย์เก่าจากโครงการฯ ระหว่างปีที่ 1-5 ได้มีโอกาสนำเสนอความคืบหน้าของกิจการ พร้อมรับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดด้านการบริหารจัดการกิจการเพื่อสังคม และการสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อนำไปต่อยอดการดำเนินกิจการต่อไป ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ ถนนสุขุมวิท
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า “ปัจจุบันกิจการเพื่อสังคมถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญมากขึ้น จุดมุ่งหมายของกิจกรรมพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม Keep on Growing: เติบโต ต่อเนื่อง ยั่งยืน ในวันนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการเพื่อสังคมที่มีผลการดำเนินงานคืบหน้ามากที่สุดจากแต่ละรุ่นในโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ตั้งแต่ปี 2554 ได้เรียนรู้เพิ่มเติม รับฟังคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด ขยายผล ทั้งในด้านการสร้างการเติบโตทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด และประโยชน์แก่สังคมในด้านต่างๆ ซึ่งการเรียนรู้เช่นนี้ จะทำให้ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมเกิดความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์ด้วยตนเอง ที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิจการของตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดของบ้านปูฯ ที่ว่า “พลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา”
กิจการเพื่อสังคมที่ได้รับการคัดเลือกเข้านำเสนอแผนธุรกิจในงานนี้ ประกอบด้วย 5 กิจการคือ 1. บริษัท อาชีฟ โซเชียล เอนเทอไพรส์ จำกัด ผู้จัดกิจกรรมค่ายและเวิร์คช็อป รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้เยาวชนเข้าใจการทำงานในสาขาอาชีพที่สนใจ และสามารถวางแผนพัฒนาตนเอง เลือกเรียนต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. บริษัท โลเคิล อะไลค์ จำกัด พัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และนำรายได้ส่วนหนึ่งของชุมชนมาพัฒนาชุมชนนั้น 3. บริษัท นกฮูก กรุ๊ป ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ผลิตเกษตรกรวิถีอินทรีย์รายย่อยและผู้ซื้อให้มาทำการค้าร่วมกัน รวมถึงช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ควบคุมคุณภาพของสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ และช่วยเหลือทางด้านเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นแก่เกษตรกร 4. มาดี เป็นพื้นที่กลางสำหรับคนที่สนใจเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อมได้เข้ามาค้นหา รวมกลุ่มและร่วมมือกันขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงตามประเด็นที่สนใจ 5. ทูลมอร์โร โดยบริษัท สุรเสกข์ จำกัด ผลิตรายการออนไลน์ ในลักษณะของการแอบถ่าย เพื่อเตือนสติวัยรุ่น โดยให้ผู้ชมเห็นผลของพฤติกรรมจากความเชื่อผิดๆ นำเสนอในรูปแบบเข้าใจง่าย โดนใจวัยรุ่น
นอกจากนี้ กิจกรรม “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม Keep on Growing: เติบโต ต่อเนื่อง ยั่งยืน” เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมอื่นๆ ทั้งในและนอกโครงการฯ ได้มีโอกาสเข้ารับฟังการบรรยายในหัวข้อที่จะเป็นประโยชน์สำหรับนำไปพัฒนากิจการเพื่อสังคมของตนเอง อาทิ เครื่องมือทางธุรกิจที่จำเป็นต่อการต่อยอดกิจการเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน แหล่งเงินทุนและคุณสมบัติที่นักลงทุนมองหาในผู้ประกอบการเพื่อสังคม รวมถึงการจับกลุ่มทำเวิร์คช็อป แลกเปลี่ยนความคิด ปัญหาที่พบเจอ เพื่อรับคำปรึกษาและคำแนะนำจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้แก่ นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง จำกัด และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ดร. กุลภัทรา สิโรดม กรรมการตรวจสอบธนาคารไทยพาณิชย์และรองประธานศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ นางทิพย์สุคนธ์ ศุภสินธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ และนางเพ็ญศรี สุธีรศานต์ ผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เป็นต้น
นายสมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม บริษัท โลเคิล อะไลค์ จำกัด ศิษย์เก่าโครงการปีที่ 2 กล่าวว่า “ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานวันนี้ แม้กิจการโลเคิล อะไลค์ เริ่มดำเนินการไปได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีช่องว่างให้ต้องพัฒนาและปรับปรุงอีกมาก การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากบ้านปูฯ คำปรึกษาต่างๆ และโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้รู้และผู้ที่อยู่ในแวดวงกิจการเพื่อสังคม จะช่วยต่อยอดให้กับกิจการของเราได้ในอีกหลากหลายมิติและก่อให้เกิดผลกระทบด้านบวกต่อชุมชนที่เรากำลังดูแลได้อีกมาก รวมถึงรุ่นน้องในโครงการที่มาในวันนี้ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจ ให้เกิดแนวคิดและมุมมองใหม่ๆ ในการพัฒนากิจการต่อไปได้อีกด้วย”
“หัวใจของความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเพื่อสังคมและกิจการสตาร์ทอัพ คือการยื่นมือออกไปหา “ผู้รู้” หรือคนที่จะสามารถเข้ามาอุดช่องว่างด้านความรู้หรือความเชี่ยวชาญ เพื่อให้กิจการดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น บ้านปูฯยินดีให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษากิจการเพื่อสังคมอย่างเต็มที่ ด้วยเครือข่ายทั้งหมดที่เรามี เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจการเพื่อสังคมทั้งในและนอกโครงการฯ จะมีโอกาสพัฒนาไปเป็นกิจการที่สามารถขยายผลเพื่อให้เติบโตต่อไปได้ และสร้างสรรค์สิ่งดีๆกลับคืนแก่ชุมชน สังคม และประเทศ” นายชนินท์กล่าวสรุป
ภาพประกอบเพิ่มเติม
ภาพที่ 1
W-4246
(จากซ้าย)
1. ผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม บริษัท โลเคิล อะไลค์ จำกัด
2. ผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม บริษัท A-Chieve Social Enterprise จำกัด
3. นายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการ สถาบัน Change Fusion
4. นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
5. ดร. กุลภัทรา สิโรดม กรรมการตรวจสอบธนาคารไทยพาณิชย์และรองประธานศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ
6. นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
7. นางเพ็ญศรี สุธีรศานต์ ผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
8. นางทิพย์สุคนธ์ ศุภสินธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ
9. ผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม Toolmorrow บริษัทสุรเสกข์ จำกัด
10. ผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม มาดี
11. ผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม บริษัท นกฮูก กรุ๊ป
ภาพที่ 2
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ
ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
ภาพที่ 3
นางวรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง จำกัด และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)
เกี่ยวกับ บมจ. บ้านปูฯ
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บุกเบิกด้านพลังงานชั้นแนวหน้าของเอเชีย ดำเนินธุรกิจถ่านหิน ธุรกิจไฟฟ้า และพลังงานที่เกี่ยวเนื่องอย่างครบวงจร ใน 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
“พลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา”
บ้านปูฯ เชื่อว่า “การเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา “คน” ซึ่งจะขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว โครงการซีเอสอาร์ของบ้านปูฯ ในทุกประเทศ จึงมุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับเยาวชนและชุมชนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน การฝึกฝนเพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะชีวิต หรือการค้นคว้า เรียนรู้ และค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเองหรือร่วมกับคนอื่นๆ