- Details
- Category: CSR
- Published: Sunday, 29 May 2016 23:14
- Hits: 7401
SCG ได้เวลารวมพลคนร้อนวิชา กับโครงการเยาวชนคนทำดี โดยมูลนิธิเอสซีจี
หากห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดหมายถึงโลก ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความรู้บนโลกใบนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในตำราเรียนเท่านั้น เพราะยังมีสิ่งต่างๆ มากมายที่เราในฐานะคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งในโลกกว้างใบนี้ ยังคงต้องศึกษาเรียนรู้กันต่อไป ตำราเรียนอาจเป็นเสมือนเครื่องมือเบื้องต้นในการสืบค้นหาความรู้ แต่แท้จริงแล้ว ความรู้ทั้งหลายบนโลกใบนี้ ต่อให้เรียนทั้งชีวิตก็ไม่มีวันสิ้นสุด เรียนสูง เรียนต่ำ เรียนมาก เรียนน้อย ไม่สำคัญเท่าเรียนแล้วนำสามารถความรู้นั้นไปปรับใช้อย่างไร ประยุกต์ตัวหนังสือในตำราไปสร้างคุณค่าแก่สังคมอย่างไร
โครงการเยาวชน คนทำดี โดยมูลนิธิเอสซีจี จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เยาวชนผู้มีจิตอาสา ได้รวมตัวกันนำความรู้ที่เรียนมาพลิกตำราทำความดี สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “มูลนิธิเอสซีจีมีพันธกิจด้านการพัฒนา ‘คน’มุ่งส่งเสริมให้เยาวชนเป็นคนเก่งและดี จึงเปิดโอกาสให้เยาวชนที่กำลังเรียนอยู่ในระดับปริญญาตรี หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทั่วประเทศรวมตัวกัน 5 คนขึ้นไปนำเสนอโครงการเพื่อสังคม โดยมีเงื่อนไขหลักว่าโครงการที่เสนอนั้นจะต้องเป็นโครงการที่น้องๆ นำความรู้ที่สอดคล้องกับสาขาวิชา หรือหลักสูตรที่น้องๆ กำลังศึกษาอยู่มาทำประโยชน์ให้แก่สังคม สำหรับ 20 โครงการที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อดำเนินงานระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2559 ด้วยวงเงินสูงสุดโครงการละ 100,000 บาท”
กว่าหลายร้อยโครงการที่เหล่าเยาวชนผู้มีจิตอาสาได้นำเสนอเข้ามายังมูลนิธิฯ นับว่าเป็นเรื่องยากทีเดียวสำหรับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชาชีพที่มาร่วมคัดเลือกให้ได้ 20 โครงการที่ผ่านเข้ารอบและได้รับการอนุมัติงบประมาณให้ลงมือดำเนินโครงการได้จริง เพราะแต่ละโครงการที่น้องๆ นำเสนอล้วนเป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคมทั้งสิ้น ผู้ใหญ่วันดี อินทรพรม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ต.แกลง อ.เมือง จ.ระยอง ผู้ทำงานสัมผัสกับพื้นที่และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง เธอเป็น 1 ในคณะกรรมการตัดสินโครงการฯ ปีที่ผ่านมา เล่าว่า “ภูมิใจที่ได้เห็นน้องๆ เยาวชนมีความกระตือรือร้นที่อยากจะช่วยเหลือชุมชนด้วยความรู้ที่ตัวเองได้ร่ำเรียนมา ทำให้เห็นว่าการศึกษาต้องไม่มุ่งสร้างเพียงคนเก่งเท่านั้น แต่ต้องสร้างคนดีด้วย เราอยากได้ อยากเห็นคนรุ่นใหม่คิดและทำแบบนี้เยอะๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการของน้องๆ ในระดับ ปวส. หรือ ป. ตรี วันนี้พิสูจน์ได้เลยว่าไม่แพ้กัน ต่างคนต่างทุ่มเทความรู้ความถนัดของตนเองเพื่อสร้างสรรค์โครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน นอกจากนี้ เรายังเห็นการทำงานเป็นทีม เมื่อก่อนนี้ยอมรับว่าพี่เคยมองเด็กรุ่นใหม่ในทางลบ คือมองว่าเด็กรุ่นใหม่เอาแต่ก้มหน้ามองมือถือ แต่หลังจากได้มาเห็น มาฟังน้องๆ นำเสนอผลงานกันอย่างเข้มข้น ก็รู้สึกว่าทัศนคติของเราเองเปลี่ยนไป เพราะมันแสดงให้เห็นถึงจิตอาสาของเยาวชนคนรุ่นใหม่ น้องๆ จะไม่ทำก็ได้ ไม่ได้มีใครบังคับ แต่น้องก็ตั้งใจจริงๆ ลงพื้นที่จริง สำรวจความต้องการของชุมชนนั้นๆ เห็นถึงความมุ่งมั่นของคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างชุมชนและจังหวัดของพวกเขาให้ไปในทิศทางที่ดีด้วยสมองและสองมือ”
จุฬาลักษณ์ แสงดี นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยพยาบาลเซนต์หลุยส์ ซึ่งในปีที่ผ่านมานั้น เธอเป็นหัวหน้าโครงการการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยหลอดเลือดสมองที่บ้าน เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ลงพื้นที่ทำโครงการที่ชุมชนวัดจันทร์ใน เขตบางคอแหลม ซึ่งถือเป็นชุมชนในกรุงเทพฯ ที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 350 หลังคาเรือน และเป็นชุมชนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เธอเล่าว่า “ปกติแล้วเวลาที่เรียนคณะนี้ จะมีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยบนหอผู้ป่วยจริงมาแล้ว ก็พอจะทราบปัญหาหรือข้อจำกัดของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แต่พอมีโครงการเยาวชน คนทำดีขึ้นมา ก็เลยรวมตัวกับเพื่อนๆ เสนอโครงการเพื่อขยายผลต่อยอดไปยังผู้ป่วยในชุมชนวัดจันทร์ใน พวกหนูหวังว่าเงินทุนจากมูลนิธิเอสซีจี จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดียิ่งขึ้น และเข้าถึงผู้ป่วยในชุมชนเป็นจำนวนมากขึ้นด้วย
เมื่อโครงการได้รับการอนุมัติ เราก็ได้มีการประชุมหารือกัน และแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ป่วยมาก กลาง และน้อยตามลำดับ เราวางแผนกันทุกครั้งก่อนลงชุมชน และแบ่งทีมกันดูแลผู้ป่วย ซึ่งวิธีนี้ทำให้พวกเราได้รู้จักผู้ป่วยมากขึ้น ละเอียดขึ้น เข้าใจปัญหาของเขาและคนที่ดูแลเขามากขึ้น บางรายเราก็สอนวิธีดูแลตนเอง การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกาย การกินยา และแนะนำเรื่องสุขลักษณะ ผู้ป่วยบางรายขาดการจัดการเรื่องยา เราจึงไปจัดทำคอนโดยาโดยแบ่งว่ายานี้ สำหรับกินเวลาเช้า กลางวัน เย็น ก่อนอาหาร ก่อนนอน ไม่เพียงเท่านี้ยังได้สอนการดูแลผู้ป่วยโรคนี้ให้กับคนในครอบครัวอีกด้วย สอนคนดูแลว่าต้องช่วยผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดอย่างไร อาหารอะไรที่เหมาะแก่ผู้ป่วย ตลอดจนเรื่องสุขภาวะ
พอมาทำโครงการแบบนี้ เราก็ได้เห็นปัญหาชัดขึ้น ได้เรียนรู้การสื่อสารกับคนที่หลากหลายขึ้น ไม่เฉพาะในโรงพยาบาลที่เรามีหน้าที่ของเราชัดเจน พอได้เข้ามาในชุมชน โลกมันกว้างขึ้นต่างจากบนหอผู้ป่วย เพราะไม่มีเครื่องมือแพทย์หรือสถานที่ไม่เอื้ออำนวยอย่างโรงพยาบาล เราต้องดูว่าเราจะช่วยเหลือพวกเขาอย่างไร ทำให้เกิดความเข้าใจในชีวิตจริงมากขึ้นกว่าในตำรา ที่สำคัญคือการได้เรียนและได้ทำอะไรดีๆ เพื่อคนอื่น ทำให้พวกเราภูมิใจมากค่ะ เราเห็นผู้ป่วยและครอบครัวของพวกเขาดูมีความหวังและกำลังใจเพิ่มขึ้น เราก็มีความสุข ดีใจที่วิชาชีพของเราทำให้พวกเขายิ้มได้”
สฤษฎ์ จันทร์หอม อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการฯ เล่าถึงนักศึกษาของเขา “ก่อนที่นักศึกษาจะส่งโครงการไปยังมูลนิธิเอสซีจี ก็มาปรึกษาเราว่าเขาอยากจะทำอะไร อยากช่วยเหลือชุมชนอย่างไรด้วยสิ่งที่เรียนมา เราก็เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีและเป็นโอกาสที่นักศึกษาจะได้พัฒนาตนเองด้วย ทั้งในแง่ของทักษะวิชาชีพพยาบาลและการเข้าใจตนเองและผู้อื่น ผมดีใจที่มีโครงการเยาวชน คนทำดี ผมมองว่าสำหรับนักศึกษาพยาบาล การเรียนทฤษฎียังไม่เพียงพอ ถึงแม้ว่าจะมีการฝึกงานแต่ก็เป็นการฝึกในโรงพยาบาลเท่านั้น การได้ออกไปเผชิญปัญหาจริงข้างนอก ทำให้ได้เห็นรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงของผู้ป่วย เห็นวิถีชีวิตและสังคมแวดล้อมของผู้ป่วยในชุมชนนั้นๆ ได้เห็นความยากลำบาก เมื่อเห็นก็จะเข้าใจมากขึ้นและพร้อมที่จะปรับแต่งสิ่งที่เรียนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วย อาชีพพยาบาลเป็นอาชีพที่อยู่กับความทุกข์ทรมานของคน เป็นอาชีพที่ยากลำบากอยู่แล้ว เพราะสิ่งที่เจอไม่ได้เป็นสิ่งสวยงาม ต้องอาศัยจิตที่เสียสละมากๆ ดังนั้น การที่นักศึกษาใช้เวลาว่างส่วนตัวไปทำโครงการดีๆ อย่างนี้ ผมก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ทั้งต่อผู้อื่นและดีต่อตัวของนักศึกษาเองด้วย”
เพราะความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม และความสำเร็จทางการศึกษาไม่อาจวัดได้ด้วยค่าของเกรดเฉลี่ยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มูลนิธิเอสซีจียังคงมุ่งมั่นสนับสนุนเยาวชนให้เป็นทั้งคนเก่งและดี ด้วยการสร้างโอกาสให้เหล่านิสิตนักศึกษาได้นำความรู้ในตำรา ออกไปแบ่งปันและสร้างคุณค่าให้สังคม ไม่ใช่เพียงแต่เยาวชนเท่านั้นที่ได้ช่วยเหลือชุมชน ชุมชนเองก็มีส่วนช่วยเหลือเยาวชนเหล่านี้อย่างมากเช่นกัน ด้วยการมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่แท้จริง การสอนให้รับมือกับปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างทาง สิ่งเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าและมิอาจหาได้ในตำราเล่มใด นอกจากนิสิตนักศึกษาจะได้ประสบและเรียนรู้หาทางแก้ไขด้วยตัวเอง....เพราะโลกคือห้องเรียนห้องใหญ่ที่สุด
สำหรับ น้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมเสนอโครงการเยาวชน คนทำดี สามารถเข้าไปดูกติกาเงื่อนไขการสมัครพร้อมดาวน์โหลดใบสมัครที่ www.scgfoundation.org สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02 586 2110 หรือ Facebook เยาวชนคนทำดี เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 2559
ภาพประกอบ Scoop
ภาพบรรยากาศที่น้องๆ และอาจารย์ลงพื้นที่ชุมชน