- Details
- Category: CSR
- Published: Wednesday, 04 May 2016 12:10
- Hits: 2078
รวมพลังเยาวชน SCG Sci-Camp จุดประกายความสร้างสรรค์ สู่นวัตกรรมสู้ภัยแล้งอย่างยั่งยืน
มากกว่าทรัพยากรที่มีคุณค่า แต่ ‘น้ำ’ คือส่วนหนึ่งของชีวิตที่ช่วยต่อลมหายใจให้เรายังคงมีชีวิตอยู่ได้ เมื่อภัยแล้งมาเยือน แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบกับอีกหลายชีวิตในสังคมไม่เพียงเฉพาะในชนบทเท่านั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่เราจะรับมือและปรับตัวอย่างไรเพื่อก้าวข้ามวิกฤติเหล่านี้ไปให้ได้
เอสซีจี ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ SCG Sci-Camp รุ่นที่ 27 ซึ่งปีนี้ถูกจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมนำไทย รวมใจสู้ภัยแล้ง' โดยเปิดรับน้องๆ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีความสนใจจำนวน 100 คน ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาร่วมกิจกกรรม โดยปีนี้มุ่งเน้นเรื่องของการรับมือกับวิกฤติภัยแล้งอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของน้องๆ โดยมี ดร.นรินทร์ บุญตานนท์ ผ.อ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์ประจำค่าย ซึ่ง ดร.นรินทร์ ได้เล่าถึงแนวคิดของกิจกรรม SCG Sci-Camp ในปีนี้ รวมถึงความคาดหวังที่มีต่อน้อง ๆ สำหรับประสบการณ์ที่จะได้รับจากกิจกรรมนี้
“เรามาให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง การปรับตัว และนวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหา ซึ่งจะเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถนำไปปรับใช้ได้ในท้องถิ่นของตัวเอง เด็ก ๆ ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน การเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติมจากสิ่งที่เคยเรียนในโรงเรียน หรือสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวัน เมื่อมาเรียนกับคณะสิ่งแวดล้อมที่สอนเรื่องนี้โดยตรง เขาควรจะได้อะไรกลับไปเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาให้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างเดียว แต่แก้ปัญหาได้มากมาย และสามารถถ่ายทอดไปยังคนอื่นได้ด้วย”
ไม่เพียงความรู้จากห้องเรียนเท่านั้น สิ่งสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มประสบการณ์ให้น้อง ๆ คือการเรียนรู้จากนอกห้องที่ไม่มีวันจบสิ้น ประสบการณ์นอกห้องเรียนอย่างหนึ่งคือการไปเรียนรู้การทำเกษตรในภาวะวิกฤติภัยแล้งที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ เอสซีจี ท่าหลวง จ.สระบุรี ที่มีจุดเด่นในเรื่องของการปลูกพืชโดยใช้น้ำน้อยจากถ่านชีวภาพ หรือ ถ่านไบโอชาร์ (Biochar) ซึ่งเป็นถ่านที่ผ่านการนำไม้หรือผลไม้ท้องถิ่นมาอบด้วยความร้อน มีคุณสมบัติในการช่วยปรับปรุงดินด้วยลักษณะความเป็นรูพรุนจึงช่วยกักเก็บน้ำและสารอาหารต่าง ๆ เอาไว้ได้ ทั้งยังเป็นที่อยู่ให้กับจุลินทรีย์สำหรับกิจกรรมเพื่อสร้างอาหารให้ดินด้วย
จากจุดเริ่มต้นที่ชาวบ้านในชุมชนรอบโรงงานที่ส่วนหนึ่งมีอาชีพเกษตรกรรม หรือมีความต้องการปลูกพืชให้ได้ผลผลิตที่ดี เอสซีจี ท่าหลวง จึงได้แบ่งพื้นที่จำนวนกว่า 10 ไร่ในส่วนของบ้านพักภายในโรงงานปูนซีเมนต์มาจัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ให้กับชุมชนในท้องถิ่นและหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความสนใจได้เข้ามาเรียนรู้ โดยภายในแบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ 5 ฐาน ได้แก่ ฐานปุ๋ย การทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ ฐานป้อง การทำน้ำสมุนไพรไล่แมลง เช่น น้ำพริกชี้ฟ้า น้ำบอระเพ็ด ฯลฯ ฐานปรุง การปรุงดิน และการเผาถ่านไบโอชาร์ ฐานปลูก การทำแปลงหลุมและการปลูกผักอย่างถูกขั้นตอน และ ฐานแปรรูป คือการนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปเป็นอาหารต่าง ๆ เช่น สลัดผัก วอเตอร์เครสทอดกรอบ ฯลฯ นอกจากได้คุณค่าทางสารอาหารจากผักสดแล้ว ยังมั่นใจได้ว่าปลอดสารเคมี 100%
ด.ญ.อารยา ศิลาหล่อม หรือ น้องมิ้นท์ นักเรียนจากโรงเรียนปากช่อง จ.นครราชสีมา บอกเล่าถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม SCG Sci-Camp ในครั้งนี้ว่า “เป็นโครงการที่ทำให้เราได้ฝึกประสบการณ์ให้กับตัวเอง และเพิ่มความรู้จากสิ่งที่เรามีอยู่เพื่อนำไปต่อยอดในการทำโครงงานต่าง ๆ ดีใจที่ได้มาเจอกับเพื่อน ๆ ในค่ายที่น่ารักทุกคนค่ะ”
ด.ช.อรรถสิทธิ์ จันใด หรือ น้องเต๋า นักเรียนจากโรงเรียนเลิงนกทา จ.ยโสธร เล่าให้ฟังถึงประโยชน์ที่ได้รับ และแนวคิดในการนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในท้องถิ่นว่า “เรามาจากต่างที่ต่างถิ่น มาอยู่ค่ายเดียวกัน ทำให้เราได้เพื่อนใหม่เกือบทั่วประเทศ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในท้องถิ่นของตัวเอง เช่น การทำปุ๋ยมูลไส้เดือนและการทำน้ำหมักชีวภาพที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ซึ่งมีความน่าสนใจมาก ๆ ครับ”
ด.ช.ศึกษก พงสุวรรณ หรือ น้องอาร์ม นักเรียนจากโรงเรียนตาคงวิทยา รัชมังคลาภิเษก จ.สุรินทร์ เล่าถึงวิธีการประหยัดน้ำ และเชิญชวนน้อง ๆ เข้าร่วมกิจกรรม SCG Sci-Camp สำหรับปีต่อไป “โดยปกติที่บ้านผมปลูกพืชโดยใช้ระบบน้ำหยด เป็นการรักษาความชื้น และช่วยประหยัดน้ำได้มาก สำหรับค่ายนี้ทำให้เราสามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะนำไปใช้ได้จริง อยากเชิญชวนให้น้อง ๆ ที่สนใจมาร่วมกิจกรรมในปีต่อ ๆ ไปครับ”
หลายคนอาจมองว่า นวัตกรรม เป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเด็ก ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็ก ๆ เป็นวัยที่มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัด ยิ่งเมื่อเราถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้ พวกเขาสามารถที่จะนำไปคิดต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์จนเกิดเป็นนวัตกรรมที่สามารถช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ SCG Sci-Camp จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสให้พวกเขาได้ตักตวงความรู้และประสบการณ์เพื่อเป็นต้นทุนทางความคิดต่อไป ไม่เพียงเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้งเท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนาไปสู่นวัตกรรมด้านอื่น ๆ อีกมากมายในอนาคต