- Details
- Category: CSR
- Published: Tuesday, 15 July 2014 19:25
- Hits: 3308
ปูนซีเมนต์นครหลวง ยึดมั่น'อุตสาหกรรมสีเขียว'
บ้านเมือง : การดำเนินงานธุรกิจภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันนอกจากมุ่งเน้นนโยบายเชิงรุกด้านเศรษฐกิจแล้ว จำเป็นต้องเดินหน้าควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษาชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ดังเช่น บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ที่ยึดมั่นในการประกอบกิจการเคียงคู่กับ "อุตสาหกรรมสีเขียว" หรือ Green Industry
นายศิวะ มหาสันทนะ รองประธานอาวุโส (กิจการสระบุรี) บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยได้ดำเนินการในเชิงรุก มุ่งเน้นในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นรูปธรรมจึงริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวขึ้น
สำหรับ อุตสาหกรรมสีเขียว คือ อุตสาหกรรมที่ยึดมั่นในการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
โครงการนี้ริเริ่มขึ้นมาโดย ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนพัฒนาธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างธุรกิจใหม่ที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างการยอมรับในอุตสาหกรรมของประชาชน
การดำเนินงานในโครงการ อุตสาหกรรมสีเขียว นอกจากจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ขณะเดียวกันจัดขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ในปีมหามงคล พ.ศ.2554 นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ผนึกกำลังกับทุกหน่วยงานของ กระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงสถาบันเครือข่ายสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ส่งเสริมให้สถานประกอบการทั่วประเทศใส่ใจในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่การเป็น "อุตสาหกรรมสีเขียว" ใน 5 ระดับ
โดยอุตสาหกรรมสีเขียว 5 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) คือความมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) คือการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จตามความมุ่งมั่นที่ตั้งไว้ ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) คือการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการติดตามประเมินผล และทบทวนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ยอมรับและการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ
ส่วนระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) คือการที่ทุกคนในองค์กรให้ความร่วมมือร่วมใจดำเนินงานอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกด้านของการประกอบกิจการจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร และระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) คือการแสดงถึงการขยายเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทานสีเขียวโดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเข้าสู่กระบวนการรับรอง
ขณะเดียวกัน การดำเนินการต่างๆ เหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหวังให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันกับสังคม ชุมชน และประชาชนอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อการพัฒนาอย่างสมดุล ถือเป็นหัวใจหลักของโครงการต่างๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีความสอดคล้องกับศักยภาพและความเป็นไปได้ของระบบนิเวศ
ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี 2555 ที่ผ่านมา บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล อุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 "วัฒนธรรมสีเขียว" จากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยบริษัทแรกในสระบุรีที่ได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่นี้ รางวัลระดับที่ 4 "วัฒนธรรมสีเขียว" มอบแก่บริษัทอุตสาหกรรมที่องค์กรและพนักงานที่มีส่วนร่วมให้เกิดความสำเร็จในการสร้างและสนับสนุนวัฒนธรรมสีเขียวทั้งภายในและภายนอกองค์กร แสดงถึงความใส่ใจและรับผิดชอบต่อพนักงานขององค์กรเอง ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมของตนอย่างต่อเนื่อง
ด้วยความมุ่งมั่นตลอดมาเพื่อก้าวหน้าไปให้ถึงระดับสูงสุดของ "รางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว" ซึ่งหมายถึง "ระดับ 5 เครือข่ายสีเขียว" ซึ่งเป็นรางวัลที่ยกย่องบริษัทที่นอกจากจะประกาศนโยบายสีเขียวให้ทราบในหมู่บุคลากร ลูกค้า และพันธมิตรทางธุรกิจของตนแล้ว ยังได้ลงมือปฏิบัติและให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวคิดสีเขียว แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทางธุรกิจและเครือข่ายสังคมทั้งหมดอีกด้วย.
"ขณะเดียวกัน การดำเนินการต่างๆ เหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหวังให้ภาคอุตสาหกรรม สามารถอยู่ร่วมกันกับสังคม ชุมชน และประชาชนอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อการพัฒนาอย่างสมดุล ถือเป็นหัวใจหลักของโครงการต่างๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรม"