- Details
- Category: CSR
- Published: Saturday, 12 July 2014 00:05
- Hits: 3305
ปตท.คว้ารางวัลวิจัยและพัฒนา R&D 100 Award 2014
สร้างประวัติศาสตร์ติดอันดับท็อป 100 บริษัทในระดับนานาชาติ โดยการยอมรับจากวงการวิจัยและพัฒนา ซึ่งนิตยสารอินดัสเทรียลรีเสิร์ชจากอเมริกายกย่องให้ผลิตภัณฑ์ชุดอุปกรณ์พีทีทีดีเซลซีเอ็นจี (PTT DIESEL CNG) เป็น 1 ใน 100 สุดยอดผลงานด้านเทคโนโลยีจากการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในปีที่ผ่านมา
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ได้รับแจ้งล่าสุดจากคณะกรรมการและทีมงานตัดสินรางวัล 100 สุดยอดวิจัยและพัฒนา ประจำปี พ.ศ. 2557 หรือ R&D 100 Award 2014 ให้ผลิตภัณฑ์ชุดอุปกรณ์พีทีทีดีเซลซีเอ็นจี (PTT DIESEL CNG) เป็น 1 ใน 100 สุดยอดผลงานด้านเทคโนโลยีจากการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของปีที่ผ่านมา
ดร.ไพรินทร์ กล่าวว่า 'พีทีทีดีเซลซีเอ็นจี'เป็นเทคโนโลยีใหม่โดย สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ในการใช้ก๊าซธรรมชาติร่วมกับน้ำมันดีเซลแบบเชื้อเพลิงร่วมสำหรับรถยนต์ดีเซลขนาดเล็กหรือรถยนต์กระบะดีเซลที่นำมาพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์โดยความร่วมมือกับบริษัท สามมิตร กรีนพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งล่าสุดประสบผลสำเร็จในการนำเทคโนโลยีชุดอุปกรณ์ 'พีทีทีดีเซลซีเอ็นจี'สู่สายการผลิตชิ้นส่วน นำไปประกอบติดตั้งในรถยนต์กระบะดีเซลพร้อมออกสู่ตลาด นับเป็นความสำเร็จล่าสุดในการนำนวัตกรรมพลังงานออกสู่ตลาดได้อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ เทคโนโลยี 'พีทีทีดีเซลซีเอ็นจี'จะช่วยให้รถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติร่วมกับน้ำมันดีเซลมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานและสมรรถนะสูงเทียบเท่าเครื่องยนต์ดีเซล
นอกจากนี้ ยังสามารถทดแทนการใช้น้ำมันได้ถึงร้อยละ 70 ในการใช้งานนอกเมือง และจะลดความสิ้นเปลืองในการใช้ก๊าซธรรมชาติลงได้ครึ่งหนึ่ง เมื่อนำไปใช้ทดแทนรถยนต์กระบะเบนซินที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง อีกทั้งยังวิ่งได้ระยะทางไกลกว่า ต่อการเติมก๊าซธรรมชาติแต่ละครั้ง นอกจากนั้น 'พีทีทีดีเซลซีเอ็นจี' ยังเป็นนวัตกรรมพลังงานที่คิดค้นโดยนักวิจัย ปตท. นับเป็นนวัตกรรมพลังงานที่มีคุณภาพ ช่วยประหยัดพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
อนึ่ง ในปี ค.ศ. 1963 ได้ถือกำเนิดรางวัล100 สุดยอดวิจัยและพัฒนาหรือ R&D 100 เป็นครั้งแรก โดยนิตยสารอินดัสเทรียลรีเสิร์ช ซึ่งเป็นนิตยสารชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาของสหรัฐอเมริกา ได้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระในวงการวิจัยพัฒนา และทำการคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นที่สุดจำนวน 100 ผลงานในอเมริกา เพื่อมอบรางวัลและให้กำลังใจกับเจ้าของผลงานเหล่านั้น กระทั่งในอีก 2 ปีต่อมา จึงได้ทำการจัดอันดับจากผลงานทั้งในและนอกอเมริกาจวบจนปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในระดับโลก