WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ซีพีเอฟ จับมือชุมชนอิสลามคอยรุตตั๊กวา มีนบุรีเดินหน้า 'โครงการ 1 ไร่สร้างสุข' ตามรอยพ่อหลวง

   บ้านเมือง : บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ลงพื้นที่เขตหนองจอก จากเขตกรุงเทพฯ ชั้นในเดินทางด้วยรถยนต์มาด้านตะวันออกโดยใช้ถนนสุวินทวงศ์ เพียง 14 กิโลเมตร เพื่อไปที่ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร เตรียมเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนเส้นเล็กๆ เลียบคลอง เพื่อมุ่งหน้าสู่'ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา'หรือที่หลายคนติดปากกับชื่อ'ชุมชนอิสลามลำไทร'ที่เมื่อ 140 ปีก่อน ที่นี่เป็นเพียงผืนป่าที่ได้รับการแผ้วป่าถางพงจากชาวอิสลาม ที่มุ่งมั่นปรับปรุงพัฒนาจนกระทั่งกลายเป็นเรือกสวนไร่นา และกลายเป็นชุมชนที่ยังคงมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่เป็นระบบเครือญาติแทบทั้งหมด

   สมชาย สมานตระกูล หรือที่ชาวบ้านเรียกอย่างติดปากว่า บังสมชาย ครูภูมิปัญญาไทย ผู้แทนศูนย์เรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทย ที่อยู่คอยต้อนรับคณะที่มาเยี่ยมชม บอกว่า วันนี้ชุมชนอิสลามแห่งนี้ ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนคอยรุตตั๊กวา (ลำไทร) ที่ถ่ายทอดวิถีมุสลิมภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสัมผัสบรรยากาศแบบชนบทในเมืองหลวง ด้วยกิจกรรมโฮมสเตย์ ที่ได้เปิดบ้านต้อนรับผู้ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง

    โดยมีโรงงานอาหารสำเร็จรูปหนองจอก ของซีพีเอฟ ในฐานะภาคเอกชนที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของชุมชน เข้ามาร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืนและสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่องและมีแบบแผน ซึ่งคณะทำงานชุมชนคอยรุตตั๊กวา ได้ร่วมกับคณะทำงานด้าน CSR ของโรงงานหนองจอก ได้ร่วมกันดำเนินการพัฒนาพื้นที่รกร้างในชุมชน จัดทำ "โครงการ 1 ไร่สร้างสุข" เพื่อใช้พื้นที่ 1 ไร่ เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และถือเป็นความร่วมมือระหว่างชุมชนและภาคเอกชนที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

    "โครงการ 1 ไร่สร้างสุข ได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย เพื่อให้ผู้สนใจได้เห็นแนวทางในการเดินตามรอยแนวพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บนรากฐานวัฒนธรรมไทย ที่นี่กลายเป็นต้นแบบการเรียนรู้แก่เยาวชน ชาวชุมชนคอยรุตตั๊กวา และชุมชนใกล้เคียง นับตั้งแต่ปี 2553 จนปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่องแล้วกว่า 28,000 คน" บังสมชาย กล่าว

    บังสมชาย แจงถึงการร่วมผลักดันความสำเร็จของโครงการจากมือซีพีเอฟว่า บริษัทนับเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือดำเนินการสร้างแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ 1 ไร่ ให้สามารถใช้พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการออกแบบพื้นที่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ที่นาสำหรับปลูกข้าว 30 ส่วน, พื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัวไม้ผล 30 ส่วน, สระน้ำสำหรับเลี้ยงปลาและกักเก็บน้ำ 30 ส่วน และอีก 10 ส่วนที่เหลือจัดเป็นพื้นที่พักอาศัยและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมในการสะท้อนให้เห็นการดำรงชีวิตอย่างพออยู่พอกินอย่างชัดเจน นำไปสู่การใช้ชีวิตให้มีความสุขอย่างยั่งยืน

   "การดำเนินโครงการนี้ทางซีพีเอฟได้เข้าพื้นที่ดูแลติดตามให้คำปรึกษา ช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดและสามารถวัดผลได้กับชุมชนมาแต่เริ่มต้น อีกทั้งการออกแบบพื้นที่ แนะนำพันธุ์สัตว์ รวมถึงสนับสนุนงบประมาณ ที่ผ่านมาโครงการได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากบุคคลทั่วไปที่เข้าเยี่ยมชม รวมถึงนักเรียน นักศึกษา องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนสถาบันต่างๆ จากต่างประเทศ" บังสมชาย กล่าว

    ด้าน ณฤกษ์ มางเขียว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส เล่าถึงที่มาของการสนับสนุนชุมชนอิสลามแห่งนี้ว่า เกิดจากความมุ่งมั่นของบริษัทที่มีเป้าหมายให้การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน จึงได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR-DIW กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้โรงงานเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าร่วมพัฒนาชุมชน

    โดยเริ่มจากการค้นหาศักยภาพที่โดดเด่นของชุมชนที่อยู่รอบข้างโรงงาน พบว่าชุมชนพอเพียงคอยรุตตั๊กวามี "ศูนย์เรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทย" อยู่ก่อนแล้ว และมีความต้องการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของบริษัท จึงเกิดการระดมความคิดร่วมกับผู้นำชุมชนและชาวชุมชน และร่วมกันว่าจะเดินหน้าพัฒนาโครงการสู่ "โครงการ 1 ไร่สร้างสุข" โดยซีพีเอฟส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าพื้นที่เพื่อวางแผนการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม และชาวซีพีเอฟจิตอาสาได้ร่วมแรงร่วมใจในการดำเนินการกับชาวชุมชนตั้งแต่การเริ่มปรับปรุงพื้นที่ใหม่ จัดทำบ้านพักอาศัย ตลอดจนสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ อาทิ ไก่พื้นบ้าน และลูกปลานิล รวมถึงวัสดุอุปกรณ์อื่น

    "โครงการนี้ไม่ใช่เริ่มต้นแล้วจบไป บริษัทยังเฝ้าติดตามวัดผล ผู้เข้าเยี่ยมชมโดยตลอด ทุกๆ 3 เดือน พร้อมประชุมและพัฒนาการดำเนินการเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนประเมินผลการดำเนินโครงการเพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุง เพื่อคงความเป็นต้นแบบพื้นที่เศรษฐกิจพอเพียงอย่างสมบูรณ์แบบ" ณฤกษ์ กล่าว

    ความร่วมไม้ร่วมมือกันของคนในชุมชนทำให้ที่ดินที่เคยรกร้าง วันนี้ได้รับการปรับปรุงพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดต้อนรับผู้มาเยือนอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม "โครงการ 1 ไร่สร้างสุข" สามารถติดต่อได้ที่ บังสมชาย โทร.08-3806-3456 ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!