WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1ปลกเมอง

ปลุกเมือง ต้นแบบเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี

     กระทรวงมหาดไทย จับมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปลุกกระแสรักการปั่น เปิดโครงการ 'เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี'เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนออกกำลังกายเพื่อสุขภาพลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และใช้จักรยานสัญจรในชีวิตประจำวัน

     โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี คือการพัฒนายุทธศาสตร์ 3 ส. ได้แก่ 1 สวนสาธารณะ 1 เส้นทางสัญจร และ 1 สนามกีฬา หรือ สนามบินในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ

     ทั้งนี้ 1 สวนสาธารณะ คือการจัดทำทางจักรยานในสวน ระยะทางประมาณ 3 กม. 1 เส้นทางสัญจร คือการพัฒนาเส้นทางจักรยานบนเส้นทางหลักที่เชื่อมโยงสถานที่สำคัญ เพื่อตอบสนองผู้ใช้จักรยานไปทำงานหรือไปเรียน ใช้วิธีปรับแบ่งพื้นผิวจราจร ในระยะทางประมาณ 3 - 8 กม. และ1 สนามกีฬาหรือสนามบิน คือการสนับสนุนให้มีการขี่จักรยานโดยรอบพื้นที่ดังกล่าว

    นายณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิ แผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สสส. กล่าวว่า การปั่นจักรยาน สามารถตอบโจทย์การสร้างสุขภาพ ลดการใช้พลังงาน โดยสสส.ใช้ยุทธศาสตร์สำคัญ 2 ด้านในการผลักดัน คือ การสร้างกระแสความตื่นตัวด้านการเดินและใช้จักรยาน พร้อมทั้งผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมการเดินและ การใช้จักรยานในระดับประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในวิถีชีวิต การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และการท่องเที่ยวและนันทนาการ

      โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี ระยะที่ 1 มีจำนวน 17 จังหวัดเข้าร่วม ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลำพูน น่าน พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี อุดรธานี อุบลราชธานี ชัยนาท  กาญจนบุรี สมุทรสงคราม ราชบุรี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ พัทลุง และสงขลา ก่อนที่จะขยายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ

       “ผู้ที่มีศักยภาพที่จะใช้จักรยานมีมากถึง 60 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการรณรงค์ให้เปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาใช้การเดินทางในชีวิตประจำวันด้วยจักรยานมากยิ่งขึ้น โดยมีแผนการส่งเสริม ให้มีเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัยซึ่งถือเป็นหัวใจของเรื่องนี้ เพราะหากไม่ปลอดภัยก็จะไม่มีผู้ใช้จักรยานจริงเกิดขึ้นในวิถีชีวิต รวมถึงการสร้างเสริมทัศนคติที่ดีต่อการใช้ถนนร่วมกันในสังคม” นายณรงค์ กล่าว

      ตัวอย่างความสำเร็จของโครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดีในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีจุดแข็งในการวางผังก่อสร้างเมืองพร้อมเป็นเมืองจักรยาน มีเส้นทางจักรยานที่ชัดเจน รวมทั้งมีจักรยานยืมปั่น และจุดจอดจักรยานจำนวน 20 จุดรอบตัวเมือง

      นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรี นครพิษณุโลก กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการเป็นเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี ของเทศบาลนครพิษณุโลก เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2555 จากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5ได้กำหนดให้มีการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เทศบาลฯ จึงได้เริ่มขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ประกอบกับกระทรวงมหาดไทย และสสส.ได้คัดเลือกเทศบาลนครพิษณุโลก เป็น 1 ใน 17 จังหวัดนำร่องโครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี ซึ่งมุ่งเน้นส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

      ปัจจุบันเทศบาลนครพิษณุโลก มีการก่อสร้างเส้นทางจักรยานแล้วเสร็จ 1 สาย คือ รอบสวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ ทั้ง 2 ฝั่งลำน้ำน่าน และกำลังก่อสร้างทางเพิ่มอีก 4 สาย คือ เส้นรอบคูเมือง, เส้นริมน้ำน่าน บริเวณถนนพุทธบูชา จากสะพานสุพรรณกัลยาถึงทางเข้าเทศบาลนครพิษณุโลก, เส้นภายในโบราณสถานพระราชวังจันทน์ และเส้นบริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ (สวนเรือนแพ)

       โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดีเทศบาลนครพิษณุโลก ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากประชาชน มีผู้คนออกมาใช้จักรยานเพิ่มขึ้น ทั้งในชีวิตประจำวัน และการออกกำลังกาย ขณะที่พฤติกรรมของผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะบนท้องถนนมีทัศนคติที่ดีกับจักรยานมากยิ่งขึ้น คือ มีการชะลอความเร็วรถยนต์เมื่อพบเห็นจักรยาน  เกิดการท่องเที่ยวด้วยจักรยานในพื้นที่ เกิดการรวมตัวกลุ่มจักรยานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เกิดธุรกิจการให้เช่าจักรยานมากกว่าสิบราย มีจักรยานหมุนเวียนโดยรวมอย่างต่ำ 500 คัน เกิดร้านจักรยาน ร้านซ่อมแซมจักรยานขึ้นมากกว่าที่มีอยู่เดิมอีกกว่า 10  ร้าน

      “ความสำเร็จของโครงการนี้ จะต้องมาจากการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนและภาคส่วนต่างๆ เป็นเป้าหมายหลัก เราได้เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน การรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำเส้นทางจักรยาน  การจัดเสวนาในวงกว้าง  ชุมชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะต่อการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้จักรยานบนท้องถนน  เช่น ข้อมูลจุดเสี่ยง ข้อควรระมัดระวัง มาตรการเสริมความปลอดภัย” นายบุญทรง กล่าว

     ขณะที่อีกหนึ่งของความสำเร็จคือจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีจุดแข็งทางด้านเครือข่ายภายใต้ชื่อ “กลุ่มจักรยานปั่นปลุกเมือง” ที่สามารถร่วมกันสร้างกระแสให้ประชาชนหันมาขี่จักรยานกันมากขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่นกิจกรรมปั่นปลุกเมือง ซึ่งจัดขึ้นทุกวันจันทร์- ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 17.30น. เป็นต้นไป โดยใช้เส้นทางย่านชุมชน ถนนดาวดึงส์ ถนนหิมพานต์ เชื่อมต่อเรียบแม่น้ำเจ้าพระยา  และมีกิจกรรมวันสำคัญ  ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนเช่น เดือนมกราคม กับกิจกรรมปั่นปั่นวันยุทธหัตถี เดือนกุมภาพันธ์ กับปั่นปั่นพลังรักปากน้ำโพ

    นางดารณี กาญจนะ คุ้มสิน ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน (เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี) เทศบาลนครนครสวรรค์ กล่าวว่า เทศบาลนครนครสวรรค์ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เพื่อใช้  ในโครงการเมืองปั่นได้เมืองปั่นดี ซึ่งมีแผนการจัดกิจกรรมจำนวน 8 โครงการ อาทิ การจัดทำเครื่องหมายจราจรเพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนถนน การสร้างจุดจองจักรยานจำนวน 10 จุด บริเวณพื้นที่ชุมชน เช่น โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า หรือจุดจอดใต้สะพานลอย โดยไม่ให้กีดขว้างบริเวณทางเดิน รวมทั้งโครงการความร่วมมือกับร้านซ่อมจักรยานโดยไม่คิดค่าบริการ และโครงการบ้านพี่เมืองน้อง เช่น นครสวรรค์ กับชัยนาท หรือนครสวรรค์กับอุทัยธานี เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี

     ทั้งนี้ เทศบาลนครสรรค์ให้ความสำคัญกับการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน ทั้งในสวนสาธารณะ เส้นทาง และ สนามกีฬา พร้อมทั้งมีระบบดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ใช้จักรยาน และอำนวยความสะดวกด้านจุดจอดจักรยานที่มีกว่า 100 จุด ทำให้เป็นที่ยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ และทำให้เทศบาลนครสวรรค์ได้รับรางวัลต้นแบบเมืองจักรยานเพื่อสุขภาพที่มีความโดดเด่นในภาคประชาสังคมจากกระทรวงสาธารณะสุข โดยตั้งเป้าหมายว่าในช่วง 3 ปีนับจากนับจากปี 2555 จะมีชาวนครสรรค์ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน 5% ของจำนวนประชากรในทะเบีบนราษฎร์หรือประมาณ 5,000 คน

     “เรามีความยั่งยืนของการเป็นเมืองจักรยาน เพราะประชาชนให้ความร่วมมือเนื่องจากผ่านการทำประชาพิจารณ์ และยังสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ทั้งธุรกิจร้านจักรยานทั้งการขาย การซ่อม และการเช่า ธุรกิจการท่องเที่ยว เพราะมีเส้นทางท่องเที่ยวหลายจุด และเกิดธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ” นางดารณี กล่าว

       นอกจากนั้น เทศบาลนครนครสวรรค์ ยังอยู่ระหว่างการสร้างศูนย์นิทรรศการ หรือ Exhibition bike ในอุทยานสวรรค์ เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการปั่นจักรยานในรูปแบบจอจอทัชสกรีน เพื่อแนะนำเส้นทางจักรยานในจังหวัด ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ศูนย์รวมของข่าวประชาสัมพันธ์ และเป็นที่พบปะของชาวจักรยาน  ทั้งในจังหวัดนครสวรรค์และนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 เดือน

      โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนใน 4 ด้านตามนโยบายของสสส. ได้แก่ ด้านสุขภาพ ซึ่งการปั่นจักรยานเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 6 โรคหลัก

      ด้านสังคม การใช้จักรยานในการเดินทางระยะสั้นประมาณ 1-5 กิโลเมตร จะช่วยคืนความเป็นชุมชนกลับมาด้วยการจัดผังเมือง ออกแบบ และพัฒนาเมือง ด้านเศรษฐกิจ พบว่าการใช้จักรยานแทนการใช้รถยนต์สัปดาห์ละ 1 วัน ประหยัดค่าน้ำมันได้เฉลี่ย 5,200 บาท/คัน/ปี  และด้านสิ่งแวดล้อมการใช้จักรยานระยะสั้น ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่งได้อีกด้วย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!