- Details
- Category: CSR
- Published: Sunday, 22 November 2015 09:00
- Hits: 3095
ซีพี ออลล์ เดินหน้าโครงการ 'เซเว่นบุ๊คอวอร์ด'ครั้งที่ 13 เชิญนักเขียนและเยาวชนส่งงานเขียนเข้าประกวดประจำปี 2559
ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ประกาศความพร้อมจัดโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ครั้งที่ 13 ผ่านการเสวนา 'เมื่อโลกเปลี่ยน...อนาคตนักเขียนจะไปทางไหน?'เปิดโอกาสให้นักเขียน เยาวชน และประชาชนทั่วไปที่มีฝันและใจรักในด้านการเขียนได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยพัฒนาวงการนักเขียนและวรรณกรรมของไทย และมุ่งส่งเสริมนักเขียนคุณภาพ โดยสนับสนุนผลงานที่มีเนื้อหาจรรโลงสังคม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เปิดกว้างสำหรับงานเขียน 7 ประเภท เพื่อก้าวสู่เวทีระดับสากล
ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น กล่าวว่า “ซีพี ออลล์มีนโยบายด้านการส่งเสริมการศึกษา การอ่าน การเขียน การเรียนรู้ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ซึ่งจัดมาตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบันนับเป็นปีที่ 13 ทั้งนี้ เพื่อร่วมสร้างสังคมไทยสู่สังคมแห่งการอ่านการเรียนรู้ของคนไทย อีกทั้งเพื่อให้เยาวชนและคนทั่วไปได้พัฒนาตนเองด้านการอ่าน การเขียน และการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพ โดยดำเนินการคัดเลือกและส่งเสริมหนังสือดีมีคุณภาพให้กับสังคม ในปีนี้เปิดตัวโครงการด้วยการเสวนาในหัวข้อ “เมื่อโลกเปลี่ยน...อนาคตนักเขียนจะไปทางไหน?”
“ปัจจุบันโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดถือเป็นเวทีที่สำคัญอีกเวทีหนึ่งสำหรับวงการนักเขียนไทย โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มนักเขียน นักอ่าน พร้อมกับมีผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้เกียรติสละเวลามาร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน อาทิ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ศ.กีรติ บุญเจือ, รศ.สุพรรณี วราทร,นายนิวัฒน์ ธาราพรรค์ และ ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ เป็นต้น คุณค่าของรางวัลจึงมาจากสถาบันที่เป็นกลาง เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รางวัลนี้เป็นที่ยอมรับ การที่จะทำให้สังคมพัฒนาตั้งแต่ระดับเยาวชนไปจนถึงผู้ใหญ่ วิธีที่ดีที่สุดจะต้องพัฒนาตั้งแต่ระดับจิตใจไปจนถึงระบบความคิด งานเขียนที่ดีสามารถก่อให้เกิดสิ่งเหล่านี้ตามมาได้ จึงขอเชิญชวนผู้ที่ตามหาฝันในวงการน้ำหมึก ร่วมส่งผลงานที่มีคุณค่ามายังโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 13 ประจำปี 2559 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายให้กับนักเขียนและนักอ่านอีกหลายล้านคนทั่วประเทศได้มุ่งมั่นสู่เส้นทางนักเขียนมืออาชีพต่อไป”นายก่อศักดิ์ กล่าว
โครงการ “ประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด” (7 Book Awards) แบ่งออกเป็น 7ประเภท ได้แก่ 1.กวีนิพนธ์ 2.นวนิยาย 3.นิยายภาพ (การ์ตูน) 4.รวมเรื่องสั้น 5.วรรณกรรมสำหรับเยาวชน 6. สารคดี (ทั่วไป) และ 7.นักเขียนรุ่นเยาว์ ซึ่งมีจำนวน 4 หมวด คือ กวีนิพนธ์ นวนิยายขนาดสั้น รวมเรื่องสั้น และนิยายภาพ (การ์ตูน) โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 การพิจารณาตัดสินผลงานจะมีขึ้นในเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน 2559 และประกาศผลประมาณเดือนกรกฎาคม 2559
สำหรับ รางวัลชนะเลิศหนังสือดีเด่นประเภทกวีนิพนธ์ นวนิยาย นิยายภาพ (การ์ตูน) รวมเรื่องสั้น วรรณกรรมสำหรับเยาวชน และสารคดี (ทั่วไป) ผู้ประพันธ์จะได้รับโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับหนึ่งและอันดับสอง ผู้ประพันธ์จะได้โล่เกียรติยศจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเงินรางวัล 50,000 บาทและ 30,000 บาทตามลำดับ นอกจากนี้ ในส่วนของ ผู้จัดพิมพ์จะได้โล่เกียรติยศจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) อีกด้วย ส่วนรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ รางวัลชนะเลิศจะได้รับเงินสด 15,000 บาทพร้อมเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งและรองชนะเลิศอันดับสองจะได้รับเงินสด 10,000 บาทและ 5,000บาทพร้อมเกียรติบัตรตามลำดับ
ผู้สนใจสามารถติดต่อรับใบส่งประกวดผลงานได้ที่ สำนักกิจกรรมสังคม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) อาคารปัญจภูมิ 1 ชั้น 6 ถนนสาทรใต้ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120 โทร.0-2648-2901-2 หรือดูรายละเอียดที่ www.pr7eleven.com
Quote สัมภาษณ์นักเขียน
ซีพี ออลล์ เดินหน้าโครงการ “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” ครั้งที่ 13
เชิญเยาวชนและประชาชนส่งงานเขียนเข้าประกวดประจำปี 2559
นายอนุชิต คำน้อย
นักเขียนออนไลน์ และวาดภาพประกอบ เจ้าของเพจดัง “คิ้วต่ำ” ผลงานล่าสุด “นิทานยิ้มหวาน” และ “สุขชนบท”
“สิ่งเป็นการจุดประกายในการเขียนคือเรื่องของการที่อยากถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก หรือมุมมองที่เล่ามีออกมาให้คนอื่นได้เห็น ได้อ่าน เหมือนเวลาเราเล่าเรื่องต่างๆที่ไปพบเจอมาให้เพื่อนฟัง เริ่มต้นคงเป็นเรื่องการเขียนงานลงแฟนเพจเฟชบุ๊คแล้วต่อยอดเอางานเขียนออนไลน์มาตีพิมพ์เป็นหนังสือ สำหรับอนาคตของงานเขียนของตัวเอง ก็เป็นเรื่องของการพัฒนางานไปเรื่อยๆ ให้งานโตไปตามประสบการณ์และอยากเผยแพร่ให้ไปไกล ได้แปลเป็นภาษาอื่นๆ
การพัฒนาการของตัวผู้เขียนคือเรื่องของเนื้อหาและการเล่าเรื่อง จากคำคม กลายเป็นบทความ รูปเดี่ยวก็สามารถวาดเป็นเรื่องได้ เป็นการพัฒนาทั้งการสรุปยอดความคิด และการเขียนแบบขยายเนื้อหาให้น่าติดตามมากยิ่งขึ้น ส่วนของผู้อ่านนั้น จะเป็นเรื่องของกลุ่มที่ขยายขึ้น จากเมื่อก่อนเป็นวัยรุ่น ตอนนี้ก็มีวัยผู้ใหญ่มาตามเยอะขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ปกครองของวัยรุ่นนั่นเอง
ทิศทางการเขียนและการอ่านในยุคดิจิทัลสำหรับตัวผมเอง ถือว่าเป็นการเติบโตที่น่าสนใจ มีช่องทางให้เกิดงานเขียนใหม่ๆที่น่าสนใจ และมีช่องทางให้คนอ่านได้ติดตามผลงานได้สะดวกสบายขึ้น เป็นทั้งโอกาสของคนเขียนและช่องทางหางานอ่านของนักอ่าน
การรักษาและพัฒนางานเขียนให้เหมาะสมกับกระแสที่เปลี่ยนไปคือ คือการรักษาตัวตนและเสน่ห์ในงานเขียนของตัวเองไว้ แต่ก็พร้อมที่เล่าเรื่องๆ และมีมุมมองต่อสถานการณ์และกระแสโลกที่เปลี่ยนไป ส่วนเรื่องความนิยมงานเขียนในสื่อออนไลน์ในอนาคต คงจะเติบโตและได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้มีงานเขียนที่หลากหลายที่จะนำมาตีพิมพ์ เพราะสุดท้าย ยังไงเสน่ห์ของการอ่านที่ได้จับกระดาษก็ยังไม่ลดความน่าสนใจลงเลย เพราะเมื่องานเขียนบนสื่อออนไลน์เป็นสิ่งที่นักอ่านชอบ นักอ่านก็ย่อมอยากจะสะสมเก็บไว้ในรูปแบบของหนังสือเช่นกัน”
นางสาวมณฑล กสานติกุล (มิ้นท์) บล็อกเกอร์สู่พ็อกเก็ตบุ๊คชื่อดัง ‘I Roam Alone’’มิตรภาพระหว่างเส้นทางสายทรานส์ไซบีเรีย’
“จากที่เป็นคนชอบเดินทาง ชอบท่องเที่ยว ทำให้เริ่มการเขียนบนบล็อก บวกกับชอบอ่านหนังสือมาก โดยเฉพาะหนังสือภาษาอังกฤษ งานเขียนของตนจึงคล้ายกับสิ่งที่ตัวเองชอบอ่าน ในด้านรูปแบบการเขียน ที่ใส่ความเป็นตัวตนเข้าไปด้วย เกิดเป็นงานเขียนที่อ่านและเข้าใจง่าย สนุกสนาน สบาย ๆ เรียกได้ว่าอ่านเพลิน และวางเอาไว้ว่าอยากจะเขียนหนังสือให้ได้ปีละ 1 เล่ม เพื่อให้แต่ละครั้งที่มีผลงานออกมาน่าสนใจ มีพัฒนาการ อย่างไรก็ตาม มองว่าหนังสือเล่มหรือสิ่งพิมพ์ยังคงมีความสำคัญ งานเขียนที่อยู่บนออนไลน์เป็นสิ่งที่มาเสริมกันมากกว่า ปัจจุบันการเป็นนักเขียนง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก เนื่องจากมีพื้นที่ออนไลน์ สำนักพิมพ์สามารถเสาะหานักเขียนที่ต้องการบนโลกออนไลน์ได้สะดวก และรู้จักไลฟ์สไตล์รวมถึงประเภทของงานเขียนได้ง่ายและเร็วขึ้นมาก”