- Details
- Category: CSR
- Published: Tuesday, 03 November 2015 08:32
- Hits: 3922
สบร.และภาคีเครือข่ายผุดสนามเด็กเล่น BBL แห่งที่ 4 ณ โรงเรียนเขาทอง นครสวรรค์ ต้นแบบด้านพัฒนาทางสมองและเชื่อมสัมพันธ์ในชุมชน
จากโครงการบันทึกความร่วมมือระหว่าง สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. (OKMD) กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์เขต 1 เมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา โดยมีกรอบระยะเวลา 1 ปี เพื่อร่วมกันพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning) โดยจัดทำสนามเด็กเล่น BBL ต้นแบบจำนวน 4 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ 1.โรงเรียนอนุบาลเมืองนครสวรรค์ (เขากบ วิวรณ์สุขวิทยา) 2.โรงเรียนวัดบ้านมะเกลือ 3.โรงเรียนวัดหนองโรง และ 4.โรงเรียนเขาทอง
สำหรับ โรงเรียนสามลำดับแรก ปัจจุบันได้ดำเนินการจัดสร้างอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว และได้เปิดให้บริการกับนักเรียนตั้งแต่ต้นปี 2558 ที่ผ่านมา ล่าสุด ได้ร่วมจัดสร้างสนามเด็กเล่น BBL ต้นแบบเป็นแห่งที่ 4 ณ โรงเรียนเขาทอง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ พร้อมกับแนวคิดการสร้าง “สนามสำหรับผู้สูงอายุ” ร่วมด้วย เพื่อผู้สูงวัยได้ใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกายป้องกันโรคสมองเสื่อม และยังเป็นที่พบปะพูดคุยของคนในชุมชนทุกวัย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ทางโครงการได้จัดการประชุมกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสรุปการดำเนินงานจัดทำสนามเด็กเล่น BBL และสนามผู้สูงอายุ ต้นแบบของโรงเรียนเขาทอง ณ ห้องประชุม โรงเรียนเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ โดยคณะทำงานประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ โรงเรียน และตัวแทนชุมชนมากมาย อาทิ ทีมนักวิชาการจาก สบร. เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์เขต 1 คณะครูจากสามโรงเรียนต้นแบบ ผู้นำชุมชน อาทิ เจ้าอาวาสวัดเขาทอง อบต. ผู้ใหญ่บ้าน นายช่าง และคณะครูผู้ปกครองมากมายร่วมสำรวจพื้นที่ พร้อมหารือจัดทำแผนผังของสนาม แผนงานการปฏิบัติงาน จนปัจจุบันสนามเด็กเล่น BBL สำหรับเด็กอนุบาล เด็กประถมวัยและผู้สูงอายุ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว จะแล้วเสร็จภายในปี 2558 บนพื้นที่ 30 ตารางวา โดยมีชุมชนเป็นส่วนร่วมที่สำคัญ
ดร.อภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. (OKMD) กล่าวว่า ความร่วมมือนี้เป็นการนำกรอบแนวคิดการออกแบบสนามเด็กเล่นมาจากการวิเคราะห์องค์ความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง จากหนังสือเล่นตามรอยพระยุคลบาท ที่ให้ความสำคัญกับการเล่นที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติที่แวดล้อมทุกช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิด ตลอดเวลาที่เด็กมีพัฒนาการด้านโครงสร้างและการทำงานของสมอง เพื่อให้สมองเติบโตได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากธรรมชาติถือเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ เป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ของสมองเด็ก
“โรงเรียนเขาทองนับเป็นโรงเรียนแห่งที่ 4 ที่เรามุ่งหวังสร้างให้เป็น “นครสวรรค์โมเดล” ต่อจากสามโรงเรียนแรก เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเขาทอง เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทั้งระบบในเรื่องการพัฒนาคนที่เรามุ่งเน้นเป็นสำคัญ การจัดสร้างสนามเด็กเล่น BBL ในครั้งนี้จึงได้มีการจัดสร้างสนามผู้สูงอายุ ซึ่งมีลักษณะเป็นลู่เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพภายในโรงเรียนด้วย เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ที่มักมีลักษณะสมองเสื่อม ได้ใช้เป็นที่สำหรับออกกำลังกาย และยังเป็นแหล่งที่มีโอกาสพบปะพูดคุยเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันในชุมชน ช่วยลดปัญหาสังคมให้น้อยลง โดย สบร.ได้ให้การสนับสนุนภายใต้งบประมาณจำนวน 300,000 บาท โดยออกแบบให้สนามเด็กเล่น BBL เป็นบ้านบนต้นไม้ มีถ้ำลอด สระว่ายน้ำ ลานการอ่าน บ้านปั้นดิน ราวเชือกสำหรับโหนและปีนป่ายอยู่ในบริเวณ โดยชาวบ้านในชุมชนจะมาสนับสนุนในเรื่องแรงงาน และการจัดหาวัสดุท้องถิ่นหลักมาจัดสร้างมากกว่าที่จะเน้นรับเหมาก่อสร้าง เพราะเรามุ่งหวังให้เกิดการร่วมมือร่วมแรง ความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชน เพื่อได้ช่วยกันดูแลต่อไป จึงคาดว่าสนามเด็กเล่น BBL นี้ จะทำให้เด็กจะได้รับการพัฒนาการเรียนรู้และความคิดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นภูมิคุ้มกันที่มั่นคงในการดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขต่อไป
ด้านนางธรรมพร แข็งกสิการ ผู้อำนวยการโรงเรียนเขาทอง กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่โครงการนี้ได้จัดทำให้กับโรงเรียนทั้งสามแห่งในจังหวัดนครสวรรค์มาก่อนหน้านี้และประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก ทุกชุมชนได้รับประโยชน์และให้การตอบรับอย่างดี สำหรับโรงเรียนเขาทองเป็นโรงเรียนขนาดกลาง เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาลกับประถมศึกษา มีนักเรียนทั้งสิ้น 530 คน และยังมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของอบต.ตั้งอยู่ในภายโรงเรียนมีเด็กประมาณ 102 คน ทางโรงเรียนมีความเชื่อมั่นในเรื่องการส่งเสริมให้เด็กเล่นกับธรรมชาติ ตามรอยพระยุคลบาท เพราะมีหลักฐานจากงานวิจัยพบว่าพัฒนาการของสมองขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเด็ก การเล่นกับธรรมชาติ จะทำให้สมองสามารถแตกแขนงและเจริญงอกงามได้มากกว่าที่เล่นกับสื่อไม่มีชีวิต เช่น เกมส์ หรือคอมพิวเตอร์ ที่จะทำให้กลายเป็นคนชอบความรุนแรงและขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
“สำหรับ สนามเด็กเล่น BBL นี้ โรงเรียนมีเป้าหมายเพื่อสร้างพัฒนาการรอบด้านของผู้เรียน ทั้งด้านสมอง ร่างกาย อารมณ์ สังคมสติปัญญา นอกจากเด็กจะเกิดการพัฒนาการเรียนรู้แล้ว สิ่งที่ตามมาคือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น นอกจากนี้คือเกิดความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน โรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วม ได้เห็นความสำคัญของการเล่นในลักษณะนี้และหันมาส่งเสริมกันมากขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาการของสมอง และยังช่วยป้องกันไม่ให้เด็กออกนอกลู่นอกทาง จึงเป็นผลที่ได้ในระยะยาว ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าในการจัดสร้างสนามอย่างมากจากความร่วมมือร่วมแรงของทุกฝ่าย โดยเฉพาะชุมชนที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงพร้อมช่วยกันพัฒนาปรับปรุงต่อไป ซึ่งโรงเรียนจะมีมาตรการในเรื่องความปลอดภัย ด้วยการให้ความรู้กับเด็กเพื่อให้เกิดทักษะในการดูแลตนเองไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในขณะเล่นอีกด้วย” ดร.อภิชาติ กล่าวทิ้งท้าย