ซีพีเอฟ ตั้งเป้าก้าวสู่มาตรฐาน AEMAS ระดับ 2 ดาว ภายในปีนี้ และพร้อมเดินหน้าสู่ระดับสูงสุด 3 ดาวอีก 2 ปีข้างหน้า พร้อมต่อยอดพัฒนาบุคลากรเป็นผู้ตรวจสอบจัดการพลังงานมืออาชีพ หลังเป็นผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารไทยรายแรกที่คว้ามาตรฐานนี้ในภูมิภาคอาเซียน
นายอนันต์ วงศ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า โรงงานแปรรูปสุกรแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ของซีพีเอฟ ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการพลังงานมาตรฐานสังคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEMAS ในระดับ Gold Standard เป็นรายแรกของอุตสาหกรรมอาหารของไทย และนับเป็นผู้นำรายแรกใน 10 ประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) พร้อมตั้งเป้ายกระดับมาตรฐานดังกล่าวสู่ Gold Standard 2-Star หรือระดับ 2 ดาว ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ หลังผ่านการตรวจประเมินจาก AEMAS เป็นที่เรียบร้อย และขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังผลอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะทราบผลเร็วๆนี้ คาดว่าจะสามารถก้าวสู่ระดับสูงสุด Excellent / Best Practice in Energy Management System หรือ Gold Standard 3-Star ภายในปี 2559
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่ได้นำมาตรฐาน AEMAS มาปรับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 จนถึงเดือนมกราคม 2557 ปรากฏว่าโรงงานมีผลประหยัดด้านพลังงานกว่า 11.1 ล้านบาท โดยระบบ AEMAS มีจุดเด่นที่การติดตามค่าการใช้พลังงานและผลประหยัดอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี ทำให้โรงงานแปดริ้วฯ ต้องมีแนวทางการประหยัดพลังงานที่สามารถดำเนินการจนเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีความต่อเนื่อง
“หัวใจสำคัญที่ทำให้สามารถคว้ามาตรฐาน AEMAS มาได้ คือ การสร้างความร่วมมือของพนักงานทุกระดับ โดยจัดให้มี Motivation Plan เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้ทุกคนช่วยกันคิดปรับปรุงกระบวนการทำงานจากสิ่งเล็กๆ จนเกิดเป็นนวัตกรรมและโครงการด้านพลังงานต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีการทวนสอบ Energy Baseline และ Energy Efficiency Improvement โดยผู้จัดการพลังงาน และผู้ตรวจประเมินที่เป็นบุคคลที่สาม ทำให้ทราบสถานะของการจัดการพลังงานอย่างแท้จริง”นายอนันต์ กล่าว
ส่วนระบบบริหารจัดการด้านพลังงานที่ช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรมได้แก่ ระบบผลิตนํ้าร้อนแบบผสมผสานจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Hybrid System Energy Saving Hot WaterGenerator) ที่สามารถช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า 26,455 กิโลวัตต์ต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 16 ตันคาร์บอนต่อปี, การปรับเปลี่ยนใบพัด Evaporative Condenser จากเดิมตัวใหญ่ 4 ตัว ให้เป็นตัวเล็ก 10 ตัว เพื่อกระจายการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ประหยัดได้ถึง 76,632 เมกะจูลต่อปี, การติดตั้งไฟสนามและไฟถนนด้วยระบบโซลาร์เซลล์ ช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ 37,850 เมกะจูลต่อปี และการนำระบบ 3 R คือ Recycle Reuse Reduce มาใช้ในการบริหารจัดการของเสีย อาทิ การบำบัดนํ้าเสียแล้วนำกลับมาใช้ใหม่สำหรับรดนํ้าต้นไม้ และการคัดแยกขยะเพื่อนำไป Recycle
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจาก AEMAS Thailand ในการอบรมหลักสูตรผู้จัดการพลังงานมืออาชีพ แก่บุคลากรทุกหน่วยงานของซีพีเอฟที่เข้าร่วมโครงการ คาดว่าจะสามารถสร้างผู้จัดการพลังงานมืออาชีพได้กว่า 90 คน ซึ่งรวมถึงผู้จำหน่ายของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการด้วย ถือเป็นการผลักดันให้ภาคเอกชนมีศักยภาพและความสามารถในการลดการใช้พลังงานอย่างเป็นรูปธรรม
มาตรฐาน AEMAS ได้พัฒนามาจากมาตรฐาน EMAS Energy Management Scheme ของยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนด้านเทคนิคและให้คำปรึกษาพัฒนาระบบ AEMAS ให้มีประสิทธิภาพ จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งการจะผ่านระบบ AEMAS ได้ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินหลายข้อ เช่น ต้องมีนโยบายด้านพลังงาน, มีการกระจายการลงทุนให้ครอบคลุมทั้งโรงงาน, พนักงานทุกระดับต้องมีส่วนร่วม, มี Energy Account Centre (EAC), จัดสัมมนากลุ่มย่อยด้านพลังงานให้กับพนักงานทุกปี และมีผู้จัดการพลังงานที่ได้การรับรองด้านพลังงานจาก AEMAS สำหรับบริษัทที่ได้รับมาตรฐานต้องมีความชัดเจนในด้านแผนงานการปรับปรุงการใช้พลังงาน หากบริษัทใดที่ได้รับมาตรฐานแล้วแต่ไม่มีการพัฒนาในระยะเวลาที่สมควร ก็จะถูกถอนใบประกาศทันที
|