- Details
- Category: CSR
- Published: Saturday, 31 October 2015 13:45
- Hits: 3093
'คณะสถาปัตย์จุฬาฯ'จับมือ'แสนสิริ'ผลักดันเยาวชนคุณภาพ
สู่วงการสถาปนิกและอสังหาริมทรัพย์ไทย ในโครงการ “Knowledge Sharing ARCH CU / SANSIRI”
บรรยายภาพ: อภิชาติ จูตระกูล (ที่สองจากซ้าย) ประธานอำนวยการ และ มนู ตระกูลวัฒนะกิจ (ซ้ายสุด) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณาจารย์นิสิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผลงานชนะเลิศการประกวดออกแบบโครงการสถาปัตยกรรม
เร็วๆนี้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับแถวหน้าของประเทศไทย สานต่อความมุ่งมั่นด้านการแบ่งปันองค์ความรู้และแนวคิดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในการพัฒนาเยาวชนสู่วงการสถาปนิกและอสังหาริมทรัพย์ไทย ภายใต้โครงการ “Knowledge Sharing ARCH CU / SANSIRI” การประกวดออกแบบโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ โดยงานประกาศผลรางวัลจัดขึ้น ณ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)
โครงการ Knowledge Sharing ARCH CU / SANSIRI (โนวเล็จ แชร์ริ่ง อาร์ช ซียู / แสนสิริ) เป็นโครงการริเริ่มขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแสนสิริ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านสถาปัตยกรรมสู่วงการสถาปัตยกรรมและอสังหาริมทรัพย์ไทยในอนาคต รวมถึงขยายการเติบโตในตลาดแรงงานในกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของแสนสิริอันมุ่งมั่นในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมานานกว่า 31 ปี
โครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในสาขาวิชาออกแบบสถาปัตยกรรม4 (Architectural Design IV) ประจำปีการศึกษา 2558 ผ่านการจัดเวิร์คช็อปพัฒนาทักษะและให้คำแนะนำในสาขาวิชางานโดยทีมนักออกแบบฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์โครงการแนวราบของแสนสิริร่วมกับคณาจารย์ในคณะฯแก่นิสิตกว่า 110 คน เป็นระยะเวลา 45 วัน ตั้งแต่สิงหาคม – ตุลาคม 2558 รวมถึงประกวดออกแบบโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ภายใต้โจทย์ ‘3 Gens Twin house บ้านแฝดสาหรับครอบครัวขยาย 3-5 ชั้น ทำเลในเมือง’ โดยมีผู้บริหารของแสนสิริร่วมตัดสินผลงาน พร้อมมอบทุนการศึกษาจำนวน 3 รางวัล และรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 50,000 บาท โดยมีเกณฑ์พิจารณาตัดสินจากไอเดียความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าจริงได้ในอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จุลาสัย อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เรายินดีอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างแสนสิริ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ ทำให้นิสิตได้ขยายประสบการณ์มากขึ้นจากนอกเหนือจากตำราเรียน ทั้งนี้ ในภาพรวมการเรียนการสอนด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์รวมถึงอุตสาหกรรมสถาปนิกไทยยังต้องการแรงขับเคลื่อนจากหลายภาคส่วนอีกมากทั้งรัฐบาลและเอกชนเพื่อพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นไป ผมหวังว่าโครงการฯ นี้จะเป็นพลังเล็กๆที่จุดประกายให้เหล่านิสิต บุคคลากรในวงการสถาปนิกไทย และกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันยกระดับวงการสถาปนิกและอสังหาริมทรัพย์ไทยได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต”
ด้านนายมนู ตระกูลวัฒนะกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปัญหาปัจจุบันของตลาดแรงงานสถาปนิกไทย คือ เด็กจบมาแล้วไม่สามารถออกแบบให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้จริง รวมถึงเวทีที่เปิดโอกาสให้กับสถาปนิกไทยได้รับการสนับสนุนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ แสนสิริจึงตระหนักความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยให้สามารถแข่งขันในระดับเวทีต่างชาติได้ เราจึงได้ริเริ่มสนับสนุนโอกาสนี้ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับคณาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมงานนักออกแบบของแสนสิริร่วมเป็นครูพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำปรึกษาในการสร้างสรรค์ผลงานหลังได้รับโจทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้น้องๆได้สัมผัสประสบการณ์การทำงานอย่างใกล้ชิดกับคนทำงานจริงในแวดวงอสังหาริมทรัพย์”
ในมุมมองของตัวแทนนิสิตชั้นปีที่ 3 นางสาวพรรณอร ปิยะทัสสกร ผู้ชนะเลิศจากการประกวดจากโครงการ Knowledge Sharing ARCH CU / SANSIRI กับผลงานออกแบบ ‘The High’ (เดอะ ไฮ) กล่าวว่า “โครงการนี้ สอนให้เราได้คิดและเรียนรู้หลักการออกแบบที่อยู่อาศัยบนพื้นฐานโจทย์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในชีวิตจริง รวมถึงได้รับคำแนะนำจากพี่ๆที่แสนสิริถ่ายทอดประสบการณ์ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้นำไปปรับใช้ในชีวิตการทำงานต่อไปในอนาคต สำหรับผลงานที่ออกแบบนี้ใช้ชื่อว่า ‘เดอะ ไฮ’ นอกจากจะคิดให้ตอบโจทย์แง่ฟังก์ชันแล้ว ยังคำนึงถึงความสวยงามเมื่อเปิดแสงไฟยามกลางคืน รวมถึงสเน่ห์การอยู่อาศัยจริง”
ทั้งนี้ แสนสิริ ตั้งเป้าวางแผนต่อยอดโครงการฯโดยขยายความร่วมมือในการเป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ครอบคลุมไปยังเครือข่ายมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น ที่มุ่งเน้นด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั่วประเทศในปี 2559 โดยตั้งเป้านักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมโครงการฯกว่า 1,000 คน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเตรียมความพร้อมให้กับวงการการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์และสถาปนิกไทยในอนาคตต่อไป