- Details
- Category: CSR
- Published: Wednesday, 12 August 2015 09:23
- Hits: 3141
สมาคมเพื่อนชุมชน'ปั้นบุคลากร รองรับแพทย์ขาดแคลนในนิคม
บ้านเมือง : ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยหรือผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกปี และเมื่อเทียบกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ พบว่ามีจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา ก่อให้เกิดปัญหาแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางด้านสาธารณสุขไม่เพียงพอ ปัจจัยดังกล่าวเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านได้รับการบริการทางด้านสาธารณสุขยังไม่ทั่วถึง
ระยอง เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน แต่ปัจจุบันได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดและทันท่วงที โดย "สมาคมเพื่อนชุมชน" เข้ามาร่วมรับรู้ปัญหาและเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องช่วยเหลือชาวบ้านให้สามารถรับบริการทางด้านสาธารณสุขได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของตลอดระยะ
เวลา 5 ปีที่สมาคมฯ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพ ด้วยการสนับสนุนการให้ทุนเรียนพยาบาลตั้งแต่ปี 2554-2556 จำนวน 300 ทุน โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองจะจัดสรรพยาบาลวิชาชีพให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั้ง 9 แห่งในจังหวัดระยอง
ขณะนี้ ผลิตผลดังกล่าวได้งอกเงยเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เมื่อนักเรียนพยาบาลรุ่นแรก จำนวน 200 ทุนได้จบการศึกษาและพร้อมปฏิบัติงานในโรงพยาบาลแล้ว 7 แห่ง และในปี 2559 จะจบการศึกษาเพิ่มอีก 52 คน
จากนั้น ในปี 2560 จะจบการศึกษาอีก 48 คน นับเป็นกำลังสำคัญต่อการสาธารณสุขในจังหวัดระยองเป็นอย่างยิ่ง
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นายกสมาคมเพื่อนชุมชน กล่าวว่า จากการการผลิตพยาบาลทุนเพื่อนชุมชนออกมาช่วยเติมเต็มหน่วยงานสาธารณสุขได้จนเป็นผลสำเร็จในรุ่นที่ผ่านมา ทำให้ล่าสุด
สมาคมฯ ได้สานต่อการดำเนินการดังกล่าวโดยสนับสนุนการบริการด้านสาธารณสุขแบบครบวงจรในจังหวัดระยองอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 ทางสมาคมฯ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) 4 ฉบับ เพื่อสนับสนุนทุนการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขเพิ่มเติม รวมเป็นเงินสนับสนุนทั้งสิ้น 50.8 ล้านบาท
"สมาคมเพื่อนชุมชน เป็นการรวมตัวกันของ 5 องค์กรใหญ่ ได้แก่ กลุ่ม ปตท. เอสซีจี บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และกลุ่มบริษัท โกลว์ ในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จังหวัดระยอง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบ้านที่พวกเราจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการสนับสนุนบุคลากรสาธารณสุขที่ยังมีไม่เพียงพอในพื้นที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการบริการและการเติมเต็มในพื้นที่ระยองอย่างทั่วถึงต่อไป" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
"ระยองประสบปัญหาประชากรแฝงมีมากถึง 1 เท่าตัว จากจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ที่มีอยู่ 6.6 แสนคน ทำให้ประชากรที่แท้จริงในจังหวัดระยองมีกว่า 1 ล้านคน ดังนั้นจึงเกิดการขาดแคลนบุคลากรทางด้านสาธารณสุข จากการตรวจสอบยังมีโรงพยาบาลขาดพยาบาลอีกมาก เช่น โรงพยาบาลระยอง ยังขาดพยาบาลกว่า 200 คน ถึงจะครอบคลุมการให้บริการ ดังนั้นนับเป็นโอกาสดีของคนในจังหวัดระยอง ที่มีสมาคมเพื่อนชุมชนเข้ามาช่วยสนับสนุนการผลิตพยาบาลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นับเป็นโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์โดยรวมต่อชุมชนเป็นอย่างมาก"
ขณะที่โรงพยาบาลนิคมพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ได้รับการจัดสรรพยาบาลทุนเพื่อนชุมชน นายแพทย์โกมล ภู่ถาวรทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนิคมพัฒนา กล่าวว่า โรงพยาบาลนิคมพัฒนาเป็นโรงพยาบาลน้องใหม่ของ จ.ระยอง มีบุคลากรเพียง 26 คน ซึ่งพยาบาลมีเพียง 16 คน ไม่เพียงพอที่จะให้บริการประชาชนที่มีจำนวนมาก ได้รับการร้องเรียนด้านการให้บริการอยู่เสมอ ตัวอย่างของการขาดแคลนบุคลากรอย่างเห็นได้ชัดคือ ที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีห้องทำคลอด มีอุปกรณ์พร้อม แต่เปิดให้บริการไม่ได้ เนื่องจากบุคลากรไม่เพียงพอ จนเมื่อสมาคมเพื่อนชุมชนผลิตพยาบาลออกมาและสาธารณสุขจังหวัดได้จัดสรรมาประจำที่โรงพยาบาลนิคมพัฒนา 19 คน เมื่อเข้ามาประจำการ ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่จนปัญหาการร้องเรียน เริ่มคลี่คลาย
นอกจากนี้ ยังมีเสียงสะท้อนของผู้ปกครองนักเรียนทุนพยาบาลซึ่งแทบทุกคนต่างรู้สึกดีใจและภูมิใจที่ลูกหลานได้ทุนเรียนพยาบาล ได้มีอาชีพที่มั่นคง และเป็นความหวังว่าลูกหลานจะกลับมาดูแลพ่อแม่พี่น้องในจังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง โดยนางเอมอร เดชดี อายุ 54 ปี ซึ่งเป็นคุณแม่ของน้องนลินทิพย์
เดชดี อายุ 20 ปี ที่ได้รับทุนพยาบาลของเพื่อนชุมชน ระหว่างปี 2557-2560 กล่าวว่า ขอบคุณเพื่อนชุมชนที่เข้ามาสนับสนุนทุนการศึกษาพยาบาลให้กับเด็กนักเรียน ทำให้เด็กที่มีความตั้งใจเรียน และเรียนดี แต่ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาเพราะติดปัญหาด้านค่าเล่าเรียน ได้ก้าวเข้ามาเรียนและมีความมั่นคงทางอาชีพในอนาคต โดยส่วนตัวเห็นว่าที่ผ่านมาโรงพยาบาลในจังหวัดระยองมีคนไข้มาก ต้องรอคิวนาน แต่เมื่อเพื่อนชุมชนผลิตพยาบาลมาเสริมใน โรงพยาบาลต่างๆ ทำให้การบริการไวขึ้น และคนไข้ได้รับการเอาใจใส่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงอยากให้โครงการนี้มีอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อดูแลสุขภาพคนจังหวัดระยองได้อย่างทั่วถึงเรื่อยๆ
สำหรับ มุมมองของนางนงนุช พิทักษ์รัตน์ อายุ 45 ปี หนึ่งในผู้ปกครอง ที่บุตรได้รับทุนการศึกษาพยาบาล กล่าวว่า อยากให้มีโครงการนี้ตลอดไป เพราะที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีบุคลากรไม่เพียงพอ การรับบริการต้องรอนาน จนเพื่อนชุมชนเข้ามาผลิตพยาบาลเพิ่มขึ้นในจังหวัดระยอง การบริการก็รวดเร็วขึ้นการเข้าถึงการรักษาก็ง่ายขึ้น ซึ่งการที่ลูกหลาน จ.ระยองเองได้ทุนและประกอบอาชีพพยาบาลก็จะเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่บ้านเกิดด้วยความเต็มใจและตั้งใจให้พ่อแม่พี่น้อง จ.ระยองได้มีสุขภาพที่ดีขึ้น
จังหวัดระยองเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของผู้ประกอบการโรงงานต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดระยอง ดังนั้นการที่สมาคมเพื่อนชุมชนได้ก้าวเข้ามาช่วยสร้างและดูแลคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็เปรียบเสมือนการดูแลคนในครอบครัวให้มีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและเป็นไปตามเป้าหมายที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชาวระยอง ดังเจตนารมณ์ของสมาคมเพื่อนชุมชน "บ้านเราน่าอยู่ สังคมยั่งยืน"
http://www.banmuang.co.th/news/economy/23561