- Details
- Category: CSR
- Published: Saturday, 01 August 2015 19:25
- Hits: 6725
หลายท่านคงเคยได้ยินและรู้จัก 'โครงการเลี้ยงไก่ไข่อาหารกลางวันนักเรียน' ที่มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทและเหล่าพนักงาน ได้ดำเนินการภายใต้แนวพระดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ร่วมกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่ต้องการให้เยาวชนได้รับโภชนาการที่ดี มีอาหารอิ่มท้องพร้อมที่จะเรียนรู้
ระยะเวลากว่า 25 ปี ตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบันได้สนับสนุนโรงเรียนไปแล้ว 513 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน 113 แห่ง และโรงเรียนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 400 แห่ง มีเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการกว่า 120,000 คน ได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และครูกว่า 8,000 คน และชุมชนกว่า 600 หมู่บ้าน ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ และในปี 2559/2560 จะขยายผลในโรงเรียนเพิ่มอีก 50 แห่ง
จุดประสงค์ของโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ไม่เพียงแต่ต้องการผลผลิตไข่ไก่ให้เด็กๆ ได้รับประทาน ตลอดช่วงเวลาเปิดเทอมเท่านั้น แต่ยังต้องการให้เกิดการพัฒนาระบบบริหารจัดการ โครงการเพื่อให้แต่ละโรงเรียน สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ดังนั้น ก่อนที่โครงการจะมอบโรงเรือนพร้อมอุปกรณ์ตลอดจน แม่พันธุ์ ไก่สาวและอาหารในรุ่นแรกซึ่งมีระยะเวลา 13-14 เดือน แก่โรงเรียนแบบให้เมล็ดพันธุ์ โรงเรียนต้องจัดผู้รับผิดชอบตั้งแต่ระดับ ผู้อำนวยการ ครูผู้ดูแล โครงการ และนักเรียนผู้รับผิดชอบ ได้รับการอบรมก่อนการดำเนินโครงการและปฏิบัติการจริง เพื่อเป็นผู้ประกอบการทางสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อสาธารณะ คือ ภาวะทุพโภชนาการลดลง แต่บริหารจัดการเชิงธุรกิจ รู้ต้นทุน รู้กำไร รู้ขาดทุน รู้การตลาดระดับชุมชน
ขณะเดียวกันซีพีเอฟก็จะจัดส่งสัตวบาลเข้าติดตาม ให้คำปรึกษาอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ร่วมมือปลุกปั้นและสอนการเลี้ยงไก่ไข่อย่างถูกหลักวิชาการ กระทั่งได้ผลผลิตไข่ไก่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อการเลี้ยงดำเนินไปจนครบวาระในรุ่นแรก โรงเรียนจะมีทุนตั้งต้นเป็นกองทุนหมุนเวียนสำหรับดำเนินโครงการในรุ่นต่อไปทันทีอย่างน้อย 100,000 - 200,000 บาท (ขึ้นอยู่กับจำนวนแม่ไก่ที่จะสอดคล้องกับปริมาณนักเรียนในแต่ละโรงเรียนและขนาดของชุมชน)
การดำเนินการเลี้ยงไก่ไข่ในรุ่นที่ 2 จะเริ่มต้นขึ้น ด้วยการที่โรงเรียนต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนดังกล่าว ซื้อแม่ไก่สาวและอาหาร ไปเลี้ยงภายในโรงเรือนและอุปกรณ์ชุดเดิม ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ใช้ต่อเนื่องได้หลายปี น่าแปลกที่ตรงนี้กลับกลายเป็นประเด็นที่คนภายนอกโครงการมองว่า ทำไมต้องให้โรงเรียนซื้อ ทำไมจึงไม่มอบให้โรงเรียนแบบให้เปล่าไปเลยเหมือนรุ่นแรก บริษัทต้องการหากินกับเด็กนักเรียนหรือ? สิ่งเหล่านี้ นับเป็นการตั้งข้อสังเกตที่มีประเด็น สาระสำคัญ
ประเด็นแรก โครงการนี้ตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายให้เกิดความยั่งยืน ดังนั้น เมื่อมีการมอบทั้งโรงเรือน แม่ไก่ และอาหาร ในรุ่นแรก เป็นทุนตั้งต้นให้ทุกโรงเรียนแล้ว โรงเรียนต้องบริหารจัดการเอง ขายไข่ไก่เองผ่านระบบสหกรณ์ของโรงเรียน ทำให้เกิดการสร้างการคิดร่วมกัน ทำงานร่วมกันตั้งแต่ระดับประถมและส่วนหนึ่งขายเข้าโครงการอาหารกลางวันนักเรียนและบางส่วนจำหน่ายภายในพื้นที่ที่เป็นตลาดชุมชน โดยเน้นการขายปลีกเพื่อสร้างทักษะอาชีพให้แก่เด็กนักเรียน โรงเรียนต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ต้องประกอบไปด้วย 4 แผนก ได้แก่ แผนกผลิต แผนกขาย แผนกบัญชี-การเงิน แผนกคลังสินค้า และแผนกประชาสัมพันธ์และข้อมูล โดยต้องมีบุคลากรจากหลายฝ่ายมา ร่วมกัน ทั้งเด็กนักเรียน ครู ผู้ปกครอง หรือแม้แต่ผู้นำชุมชน โดยระบบสหกรณ์ของโรงเรียน ต้องมีการจดบันทึกทุกวัน และรายงานเดือนละครั้ง นอกจากนี้ โครงการต้องผ่านการเห็นชอบและการมีส่วนร่วมของชุมชน คือ กรรมการสถานศึกษา กรรมการหมู่บ้าน อบต. และ ผู้บริหารตามสายงานขององค์กร เช่น ตชด. หรือ สพฐ.เขตพื้นที่
การอบรม การสอน การติดตาม ตลอดจน มีกฎเกณฑ์การทำบัญชีเข้าออกที่สอนตั้งแต่เด็กนักเรียนว่าต้องบันทึกปริมาณไข่ที่เก็บได้ในแต่ละวัน การส่งไข่เข้าสหกรณ์โรงเรียน หรือแม้แต่การเบิกจ่ายไข่ไก่เข้าห้องครัว ฯลฯ ดังกล่าว ล้วนเป็นหลักการของวิชาบริหารธุรกิจ หรือ mini MBA ที่โครงการได้พยายามถ่ายทอดให้เด็กและโรงเรียนทำให้ได้รู้ต้นทุน กำไร และเงินสดหมุนเวียนหรือเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงทุกวัน working-based learning อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของโครงการได้ การมอบสินทรัพย์ เพียงอย่างเดียว โดยปราศจากการมอบวิชาบริหารจัดการให้ด้วย ไหนเลยโครงการจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้จนทุกวันนี้
ประเด็นที่สอง เมื่อโครงการมีทุนเริ่มต้น ต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะบริหารในรุ่นต่อๆ ไป การให้โรงเรียนซื้อปัจจัยการผลิตไข่ใน รุ่นที่ 2 เป็นต้นไป จึงเหมือนกุศโลบายและเป็นแบบฝึกหัด ให้โรงเรียนได้ทดลองปฏิบัติ โดยมีเงินทุนตั้งต้นเป็นเดิมพัน หลายโรงเรียนที่ทุกวันนี้ดำเนินการมาเป็นมากกว่ารุ่นที่ 10 ปริมาณเงินทุนของโครงการสูงขึ้นทุกรุ่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการอื่นภายในโรงเรียน เช่นโครงการปลูกผักปลอดสาร โครงการผลิตไข่เค็มไอโอดีน ที่สามารถมากู้ไปใช้ดำเนินโครงการ โดยไม่เสียดอกเบี้ย(แต่หมุนกลับคืนมาที่กองทุน) หากมอบไก่และอาหารให้ในทุกรุ่น จะเป็นการเพาะนิสัยการเป็น'ผู้รับ' แต่ไม่ได้สร้าง 'ผู้ปฏิบัติ' ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุนความยั่งยืนของโครงการ
ประเด็นที่สาม โครงการไม่มีข้อกำหนดใดๆ ว่า การเลี้ยงไก่ไข่ในรุ่นต่อๆ มา โรงเรียนจะต้องซื้อพันธุ์สัตว์และอาหารจากบริษัท แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าแทบทุกโรงเรียนตัดสินใจเลือกซื้อพันธุ์และอาหารจากซีพีเอฟ นั่นเป็นเพราะ คุณภาพของแม่ ไก่สาว ตลอดจนอาหารไก่ไข่ ของซีพีเอฟมีคุณภาพสูงและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ขณะที่บางโรงเรียนก็ได้ทดลองไปซื้อของแหล่งอื่น แต่สุดท้ายก็กลับมาซื้อของบริษัทอีกในที่สุด ในประเด็นนี้ยืนยันได้ว่าโรงเรียนจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะซื้อพันธุ์ไก่จากที่ใด
ประเด็นที่สี่ เหตุผลสำคัญอีกประการคือ ทุกโรงเรียนที่ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน จะซื้อพันธุ์และอาหารจากบริษัทในราคาต้นทุน แม้ในบางช่วงเวลาที่เกิดภาวะแม่ไก่สาวในท้องตลาดมีไม่เพียงพอ แต่บริษัทจะดำเนินการจัดหาแม่พันธุ์มาส่งมอบให้โรงเรียนก่อนที่จะจัดขายให้ลูกค้า (แม้การขายให้ลูกค้าจะได้กำไรก็ตาม) นั่นเป็นเพราะเด็กๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลต้องได้รับประทานโปรตีนไข่เป็นประจำ บริษัทจึงถือเป็นหน้าที่ที่ต้องจัดหา และส่งมอบพันธุ์ไก่แก่โรงเรียนต่างๆ ให้ได้ นับเป็นความรับผิดชอบของบริษทที่ผู้บริหารตลอดจนสัตวบาลทุกคนตระหนักดี
ปัจจุบัน โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในด้านการนำผลผลิตไข่ไก่ มาประกอบอาหารให้เด็กทุกคนได้รับประทานปีละ 120 ฟองต่อคนต่อปี เป็นอย่างน้อย และยังต่อยอดไปถึงการ บูรณาการสู่การเรียนการสอน เรื่องการจัดการอาชีพเกษตร แก่เด็ก ครู และชุมชนถือเป็นผลพลอยได้ที่สำคัญในการผลิต 'ยุวเกษตรกร' และ 'เกษตรกรยุคใหม่' ให้แก่ประเทศไทย ประเทศเกษตรกรรมผู้ผลิตอาหารป้อนโลก
กล่าวโดยสรุป โครงการนี้เป็นการให้อย่างมีวิธีการ มีระบบ ก่อให้เกิดคุณค่า 5 ประการ ทั้งด้านสังคม ด้านการศึกษา ด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นั่นคือ 1. ขนาดของโครงการพอเหมาะกับจำนวนนักเรียน ชุมชน 2. เป็นแหล่งผลิตอาหารของชุมชนที่ห่างไกลเมือง 3. การออกแบบโครงการ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน หากหน่วยงานภายนอกไม่ให้ความช่วยเหลือ โรงเรียนต้องสามารถดำเนินการต่อไปได้ นั่นคือ ต้องมีกองทุนหมุนเวียนของตนเองที่เพียงพอที่จะทำในรุ่นต่อไป พึ่งพาตนเองได้ 4. มีองค์ความรู้และถ่ายทอดต่อไปได้ จนเกิดความชำนาญ และ ประเด็นสำคัญ คือ มีคุณธรรม เป็นการสร้างระเบียบวินัย ความรับผิดชอบแก่เด็กๆเยาวชน และโปร่งใสสามารถ ตรวจสอบได้...
สุดท้าย...วันนี้โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งผลิตอาหารของชุมชนแล้ว ยังเป็นรูปแบบหนึ่งของโครงการพัฒนาที่เน้นการมาชีส่วนร่วมของชุมชน และเป็นโครงการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิตของชุมชนที่ห่างไกล เป็นแหล่งบ่มเพาะด้านการคิดร่วมกัน ทำงานร่วมกัน และคิดถึงส่วนรวม เสียสละต่อส่วนรวม เพราะการทำงานโครงการนี้จะมีทั้งวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วันปิดเทอมของการเลี้ยง 1 รุ่น 13-14 เดือน.... และเป็นห้องเรียนด้านการจัดการอาชีพเกษตรกรเชิงธุรกิจ...จากรุ่นนี้...สู่รุ่นต่อไป โดยมีผลิตภัณฑ์สำคัญคือ “อาหารอิ่มท้อง...จากผลผลิต จากฝีมือการทำงานของลูกหลาน ของชุมชน... เป็นความสุขจากการให้ตอนเริ่มต้น และเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในระยะยาวในทุกมิติ..ในตอนท้ายของแต่ละรุ่น และรู้ว่า'จะเรียนรู้ต่อไปอย่างไร?' ในอนาคต
โดย CP Group / วันที่โพสต์ 3 ก.ค. 2558 โดย สุปรี เบ้าสิงห์สวย กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท