WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Uเอเชยอาคเนย

นักศึกษาและอาจารย์ ม.เอเชียอาคเนย์ เปิดนวตกรรมสิ่งประดิษฐ์ไฮเทคเพื่อสังคม

     มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ จุดประกายนวตกรรมต่อยอดเทคโนโลยี ประดิษฐ์ 4 ผลงานไฮเทค โดยนักศึกษาและอาจารย์ร่วมพัฒนานวตกรรมจนก่อให้เกิดผลงานคุณภาพสร้างสรรค์ ประกอบด้วย รถสอดแนมกู้ภัย ระบบบริหารร่างกายฤาษีดัดตนจาก Microsoft Kinect ระบบผู้เชี่ยวชาญเสมือนจาก Facebook Oculus Rift โดยพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีระดับสากลจากการเรียนการสอนในห้องเรียน เพื่อเพิ่มประสบการณ์และทักษะของผู้เรียน และเป็นการสะท้อนถึงศักยภาพของนักศึกษาไทยว่าไม่แพ้ชาติใดในโลก  

    อาจารย์ณัฏฐ์ โอธนาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเอเซียอาคเนย์ได้ร่วมกับคณาจารย์และนักศึกษาได้พัฒนางานเพื่อต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อความทันสมัย โดยสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ได้นำอุปกรณ์เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์สมาร์ทโฟน กล้อง Kinect ของ Microsoft หรือ Oculus Rift ของ Facebook และ Raspberry Pi ที่นำมาประยุกต์ใช้งานร่วมกัน จนก่อให้เกิดผลงานที่น่าภาคภูมิใจ

    สำหรับ สิ่งประดิษฐ์ 'รถสอดแนม IOIO' ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในเหตุการณ์ตึกถล่มหรือสถานการณ์เหตุการณ์ความไม่สงบต่าง ๆ เช่น  การวางระเบิด การจับคนเป็นตัวประกัน ซึ่งคนไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะอาจเกิดอันตราย ก็จะใช้รถนำรถสอดแนมเข้าไปสำรวจตามซอกเล็ก ๆ ที่สำคัญยังสามารถใส่อุปกรณ์อื่น ๆ เพิ่มเติมได้ เช่น อุปกรณ์ทำลายวัตถุระเบิด กล้องสอดแนม CCTV วิธีใช้งาน คือ จะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ในการเชื่อมต่อและบังคับทิศทาง โทรศัพท์เครื่องที่ 1 จะคอยสั่งการผ่านบลูทูธ ส่งคำสั่งเข้าโทรศัพท์เครื่องที่ 2 ที่ติดตั้งอยู่กับรถ มีรัศมีทำการเท่ากับรัศมีของ Wifi  ตัวแอพพลิเคชั่นที่ใช้ โดยใช้ร่วมกับโทรศัพท์มือถือ โดยพัฒนาต่อยอดมาจาก IOIO Board (อ่านว่า โยโย่ บอร์ด) ซึ่งถ้าเป็นรถบังคับทั่วไป คนคอนโทรลก็จะไม่เห็นอะไร แต่ตัวนี้จะเห็นมุมมองจากรถ ว่าวิ่งถึงไหน เข้าไปในไหนแล้ว อันนี้คือก้าวแรกของการพัฒนา

   อ.ณัฏฐ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมี 'ระบบการบริหารร่างกายฤาษีดัดตน' มีแนวคิดมาจากการที่ เห็นประเทศอื่นเขาทำท่าออกกำลังกายด้วยท่า บอดี้คอมแบต จี้กง โยคะ ทางมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ จึงมีแนวคิดพัฒนาท่าบริหารร่างกายของไทยขึ้นมาบ้าง เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยของเรา จึงพัฒนาระบบการบริหารฤาษีดัดตนขึ้นมา เพื่อให้คนไทยได้บริหารร่างกายในท่าฤาษีดัดตนอย่างถูกต้อง และไม่จำเป็นต้องไปที่วัดโพธิ์ เพราะระบบนี้จะทำให้เกิดความสนุกสนานกับการบริหารร่างกาย อุปกรณ์ที่ใช้จะเป็น กล้อง Kinect ของ Microsoft ที่จะคอยจับรายละเอียดร่างกาย พอเวลาอยู่ที่หน้าเครื่องนี้ มันก็จะเช็คว่าทำถูกหรือไม่ ก็จะมีคนสอนอยู่ แล้วก็ทำท่า ยกแขน ยกขา ตามท่า ทั้งหมด 18 ท่าหลัก ถ้าทำถูกมันก็จะมีคะแนนให้ ผู้ใช้ก็จะทำท่าเสมือนจริงได้เลย

    สิ่งประดิษฐ์อีกชิ้นที่เป็นผลงานของนักศึกษาก็คือ 'ระบบผู้เชี่ยวชาญเสมือน Oculus' เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นมุมมองของอาจารย์ผู้สอนให้เห็นเป็นภาพ 3 มิติ โดยสมมุติอาจารย์เป็นวิศวกร สำรวจตึกใส่หมวกที่มีกล้องติดอยู่ นักศึกษาก็จะได้เห็นมุมมอง 3 มิติ ของอาจารย์ ประโยชน์ก็คือเด็กจะได้ความเชี่ยวชาญ ได้ประสบการณ์ ของอาจารย์ผู้สอนไปด้วย โดยใช้อุปกรณ์ Oculus Rift ของ Facebook เชื่อมต่อกับ Raspberry Pi ซึ่งทำหน้าที่เก็บบันทึกข้อมูล โดยเอากล้องเว็บแคม ใส่กับหมวก แต่ตัวนี้เราใส่กับเฮดการ์ด แล้วกล้องตัวนี้จะเหมือนกับลูกตา 2 ข้าง เพราะมนุษย์เราสามารถเห็นภาพสามมิติได้จากการเห็นของ 2 ตา กล้องตัวนี้จะเสมือนตาเรา แล้วก็จะบันทึกภาพเป็นสามมิติพร้อมเสียงของอาจารย์ผู้สอน ซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์ในการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก  นอกจากนี้ที่มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ยังมีการนำ 'พริ้นเตอร์ 3มิติ' มาใช้สำหรับนักศึกษาวิชาออกแบบ เพราะจะเห็นรูปร่างของชิ้นงานอย่างเป็นรูปธรรมในทุก ๆ ด้าน ไม่ใช่แค่ด้านเดียวเหมือนในกระดาษ หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยการทำงานใช้ร่วมกับกล้อง Kinect ที่สามารถถ่ายภาพตื้นลึก เป็นภาพสามมิติได้  นำมาสแกน object หรือวัตถุรอบด้าน ก็จะได้ออกมาเป็น  3D โมเดล ได้ทันที”อ.ณัฏฐ์ กล่าว

   ผศ.ดร.วีรพันธ์ ม่วงทองสุข ผู้อำนวยการสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า“วัสดุที่ใช้ในการสร้างชิ้นงานสำหรับพรินเตอร์ 3 มิติ คือ PLA เป็นไฟเบอร์จากอ้อย ซึ่งจะไม่เป็นอันตราย มันจะละลายแล้วหลอมออกมาเป็นชิ้นงานโดยใช้ความร้อน ซึ่งตัวนี้เป็นโครงการ ที่ต้องการให้นักศึกษานำรายวิชาที่เรียนมาปรับและพัฒนาให้เกิดประโยชน์ ยกตัวอย่างนักศึกษาวิศวกรรมเครื่องกล จะมีวิชาออกแบบหรือว่าเขียนแบบวิศวกรรม ปกติเขียนแบบจะแค่ดราฟอยู่ในคอมพิวเตอร์ แต่หากออกแบบก็จะคำนวณรูปร่างของวัสดุต่าง ๆ  แต่ก็จะไม่เห็นของจริง โดยเครื่องมือนี้สามารถช่วยสร้างความเข้าใจให้กับนักศึกษามากขึ้น เราเรียกว่า Rapid Modeling คือการทำการออกแบบแล้วพริ้นโมเดลออกมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันนี้มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มนุษย์เราใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย มากขึ้น”

     นายฉัททวุฒิ พีชผล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทางมหาวิทยาลัย จะมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้มีโอกาสลงมือปฎิบัติจริง เพื่อพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถในการเรียนร้สูง โดยการให้โอกาสนักศึกษาได้คิด ฝึกฝน พัฒนากับของจริง เพื่อพัฒนาต่อยอดด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ที่ทันสมัย มาตรฐานสากล ย่อมมีส่วนช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ และช่วยเตรียมพร้อมพัฒนาให้นักศึกษาของ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ มีทักษะด้านเทคโนโลยีที่ต้องใช้ในการทำงานจริงในศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี”โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://innovation.sau.ac.th

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!