- Details
- Category: CSR
- Published: Friday, 10 July 2015 08:41
- Hits: 4216
BANPU ส่งมอบฟอสซิลเหมืองเชียงม่วน อายุ 13-15 ล้านปี สู่ภาครัฐ ปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งถ่านหินบ้านสระเพื่อการเรียนรู้และท่องเที่ยว
บ้านปูฯ ส่งมอบฟอสซิลเหมืองเชียงม่วน อายุ 13-15 ล้านปี สู่ภาครัฐ ปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งถ่านหินบ้านสระเพื่อการเรียนรู้และท่องเที่ยว พร้อมบริจาคสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินมูลค่ากว่า 2.7 ล้านบาท
บรรยายภาพ นายชูชาติ กีฬาแปง (ที่ 3 จากขวา) ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยนายทศพร นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (ที่ 4 จากขวา) ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี "บ้านปูฯ ส่งมอบฟอสซิลเหมืองเชียงม่วนให้แก่ภาครัฐ พร้อมบริจาคสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินมูลค่ากว่า 2.7 ล้านบาท" โดยมี ดร. สถิตพงษ์ วัฒนานุชิต (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – บริหารและพัฒนาองค์กร นายอมฤต สุวรรณเศวต (ที่ 2 จากซ้าย) อดีตกรรมการผู้จัดการเหมืองเชียงม่วน และนายวรพล พงษ์สุวรรณ (ซ้ายสุด) ผู้อำนวยการสายธุรกิจถ่านหินประเทศไทย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมส่งมอบให้กับนายสังคม สืบแสน (ที่ 2 จากขวา) นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระ และศักดิ์ชัย หาญสุข (ขวาสุด) ปลัดอำเภอเชียงม่วน
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านธุรกิจพลังงานแห่งเอเชีย ส่งมอบซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) ที่ค้นพบบริเวณเหมืองเชียงม่วน จังหวัดพะเยา จำนวน 65 รายการ ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลสระ อำเภอเชียงม่วนจังหวัดพะเยา พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งถ่านหินบ้านสระเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเรียนรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบริจาค อาคารนิทรรศการ สิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 2.7 ล้านบาท ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลสระ และโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ป่าแขมวิทยา เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนและประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากเหมืองแร่เก่าที่หมดสัญญาสัมปทานของบริษัทเหมืองเชียงม่วนได้อย่างเต็มที่
ดร.สถิตพงษ์ วัฒนานุชิต ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารและพัฒนาองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "บ้านปูฯ ดำเนินธุรกิจด้วยปณิธานที่ว่าอุตสาหกรรมที่ดี จะต้องเติบโตควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญกับการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมในทุกประเทศที่เราดำเนินกิจการอยู่ โดยนับตั้งแต่ขั้นแรกของการริเริ่มโครงการใหม่ เราจะมีการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงแผนพัฒนาชุมชน โดยเรียนรู้และทำความเข้าใจความต้องการของบุคคลในชุมชนและดำเนินการสนับสนุนในทิศทางที่ตอบโจทย์ เพื่อให้ผู้คนในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน"
เหมืองแร่เชียงม่วน เป็นเหมืองถ่านหินประเภทลิกไนต์ ได้เปิดทำการขุดถ่านหินเมื่อปี 2539 และปิดทำการนับตั้งแต่ปี2552 โดยภายในบริเวณเหมือง ได้มีการขุดพบซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีชีววิทยาของประเทศไทยหลากหลายชนิด อาทิ ซากกระดูกและฟันของช้างไตรโลโฟตอน กอมโฟแทร์ ซึ่งเป็นช้างโบราณที่มี 4 งา จระเข้ ปลา อีเก้ง หมู ลิงอุรังอุตัง เต่า หอยชนิดต่างๆ และเมล็ดพืชโบราณ ซึ่งฟอสซิลเหล่านี้มีอายุในช่วงยุคไมโอซีนตอนกลาง หรือ 13-15 ล้านปีก่อน
ทางด้าน นายวรพล พงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสายธุรกิจถ่านหินประเทศไทย กล่าวว่า "ฟอสซิลที่ขุดค้นพบ ณ เหมืองเชียงม่วนนั้นมีจำนวนมาก และไม่อาจประเมินมูลค่าออกมาเป็นตัวเงินได้ บ้านปูฯ จึงได้สร้างอาคารนิทรรศการบริเวณจุดชมวิวขอบบ่อเหมืองขึ้นเพื่อเก็บรักษาและจัดแสดงวัตถุล้ำค่าเหล่านี้ พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สามารถรองรับการท่องเที่ยวเยี่ยมชมเพื่อศึกษาเรียนรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และส่งมอบให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลสระเป็นผู้ครอบครอง รวมทั้งดูแลพื้นที่และอาคารนิทรรศการเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและผู้สนใจต่อไป"
นอกจากนี้ เมื่อปี 2556 นิสิตปริญญาเอกสาขาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ศึกษาฟอสซิลเต่าจากเหมืองเชียงม่วน พบว่าเป็นเต่าชนิดใหม่ของโลกชื่อว่า 'คูโอร่า เชียงม่วนเอนซิส'หรือ'เต่าหับแห่งเหมืองเชียงม่วน'ซึ่งเป็นบรรพบุรุษเต่าหับที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่อาศัยอยู่ในไทยเมื่อ 12 ล้านปีก่อน