- Details
- Category: CSR
- Published: Wednesday, 03 June 2015 15:48
- Hits: 2293
ประเทศไทย จับมือ เอฟเอโอ เปิดตัวแคมเปญ 'โครงการรณรงค์ลดการกินทิ้งกินขว้าง'หรือ Save Food
ประเทศไทย – รัฐบาลไทยร่วมกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เปิดตัว’โครงการรณรงค์ลดการกินทิ้งกินขว้าง’ หรือ Save Food เพื่อสร้างจิตสำนึกครั้งใหญ่ เพื่อลดปริมาณอาหารที่สูญเสีย และเหลือทิ้งในประเทศไทย
แคมเปญ 'โครงการรณรงค์ลดการกินทิ้งกินขว้าง' หรือ Save Food ในประเทศไทย ซึ่งสนับสนุนโดยพันธมิตรของเครือข่ายลดการกินทิ้งกินขว้าง (SFNET หรือ เซฟเน็ต) ถือเป็นแคมเปญแรกในภูมิภาคอาเซียน จัดเปิดตัวโครงการในงานวันนี้ที่เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมี ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ มร.ฮิโรยูกิ โคนูม่า ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้แทนเอฟเอโอประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ให้เกียรติเป็นประธาน
มร.ฮิโรยูกิ โคนูม่า กล่าวว่า “ทั่วโลกมีอาหารสูญเปล่าไปคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 32 ล้านล้านบาทในระหว่างกระบวนการเก็บเกี่ยว การจัดการ การขนส่ง การจัดจำหน่าย และการจัดเก็บ หรือแม้กระทั่งการทิ้งไปเสียเฉยๆ โดยผู้บริโภคเอง โดยผู้ค้าปลีก หรือโดยผู้ให้บริการเกี่ยวกับอาหาร ซึ่งนั่นเทียบเท่ากับอาหารถึง 1.3 พันล้านตัน หรืออีกนัยหนึ่งคือ อาหารที่สูญเปล่าไปคิดเป็นหนึ่งในสามของอาหารที่ผลิตได้ในโลก”
“แม้เรื่องนี้จะเป็นปัญหาระดับโลก และแม้จะไม่มีตัวเลขที่แน่นอนว่าเสียอาหารไปเท่าไหร่ในระดับผู้บริโภคภาคส่วนการบริการอาหาร หรือภาคส่วนค้าปลีก แต่ก็เห็นได้ไม่ยาก เช่น ตามภัตตาคารหลายแห่งที่เตรียมวัตถุดิบไว้รองรับลูกค้า สั่งมาจำนวนหนึ่ง แต่ก็มักจะเหลือและทิ้งไปในแต่ละวัน”นางโรซ่า โรลล์ ผู้ประสานงานด้านเทคนิคของเอฟเอโอในแคมเปญ Save Food กล่าว
“การสูญเปล่าของอาหารยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย แม้ว่าพัฒนาการของห่วงโซ่อาหาร จะช่วยลดปริมาณการสูญเปล่าลง แต่การสูญเปล่าที่เกิดขึ้นจากระบบการจัดหาอาหารปริมาณมากเข้าสู่ตลาดแบบเดิมๆ ก็ยังสูงอยู่ดี เพราะขาดความรู้พื้นฐานในการดูแลอาหาร หรือเทคโนโลยีในการจัดการดูแลอาหารเหล่านี้มีราคาสูงมาก และการบรรจุก็ยังไม่เหมาะสม ดังนั้น แผนการหรือกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาคอขวดแบบนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น”นางโรซ่า โรลล์ กล่าวเสริม
“การจัดการที่ไม่ถูกวิธีในแต่ละห่วงโซ่อาหาร และอาหารที่เหลือทิ้งในระดับผู้บริโภคเอง ส่งผลกระทบมากกว่าแค่ต่อระบบเศรษฐกิจ” มร.ฮิโรยูกิ โคนูม่า กล่าว “เรื่องนี้ทำให้สูญเสียทั้งเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า ตั้งแต่ขั้นตอนในการปลูก เก็บเกี่ยว ผลิต และการขนส่งอาหารให้ เราควรจะตระหนักถึง เกษตรกรชาวนา ชาวประมง ที่ต้องใช้แรงงานในการปลูก ใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เพื่อนำมาทำเป็นอาหาร เป็นความจริงที่ว่าเมื่อผู้บริโภคไปรับประทานอาหารที่ร้านหรือภัตตาคาร มักจะสั่งมากเกินความพอดี หรือซื้อของมาทานมากไป เมื่อทานไม่หมดก็ต้องทิ้งอาหารเหล่านั้นไป ซึ่งจุดนี้ทำให้มองได้ว่าเป็นเรื่องของความไม่ใส่ใจว่าทำให้สูญเสียทรัพยากร และไม่ตระหนักถึงความเหนื่อยยากของชาวนา ชาวไร่ ซึ่งเป็นผู้ที่หาอาหารให้เราได้รับประทาน” มร.ฮิโรยูกิ โคนูม่า กล่าวเพิ่มเติม
“โครงการรณรงค์ลดการกินทิ้งกินขว้าง” ที่เซ็นทรัลเวิลด์นี้ ได้จัดนิทรรศการ แสดงถึงห่วงโซ่อาหาร และการสูญเปล่าของอาหารในแต่ละขั้นตอน หรือการทิ้งขว้างอาหารเป็นอย่างไร มีวีดีโอแสดงให้เห็นถึงความคิดเห็นและทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อการสูญเสียอาหารและการกินทิ้งกินขว้าง รวมถึงคำแนะนำที่เราทุกคนนำไปปฏิบัติได้ง่ายๆ เพื่อลดการสูญเสียทรัพยากรต่างๆ เพียงแค่เราคิดก่อนสั่ง คิดก่อนซื้อ คิดก่อนกินทิ้งกินขว้าง เท่านั้น จากนิทรรศการนี้ จะพบว่า ผักและผลไม้ร้อยละ 30 – 50 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่ถึงมือผู้บริโภค เนื่องจากเน่าเสียระหว่างการบรรจุ และการขนส่ง ขณะที่ข้าวร้อยละ 12 – 37 ที่ผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูญเสียระหว่างการเก็บเกี่ยว แปรรูป ขนส่ง และจัดเก็บ
ในแง่ของผู้บริโภคสามารถทำได้ง่ายๆ อย่างเช่น จดรายการซื้อของก่อนไปจ่ายตลาด และไม่ควรซื้อของจำนวนมากเกินไป ซึ่งถือเป็นวิธีที่ฉลาดและประหยัด เมื่อรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์หรืออาหารตามสั่ง ก็ควรตักอาหารหรือสั่งแต่พอดี และค่อยสั่งหรือตักเพิ่มภายหลังหากไม่พอ มาตรการง่ายๆ เหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริโภคลดอาหารเหลือทิ้งลงได้ ในแง่ของผู้อยู่ในห่วงโซ่ของการผลิตจนมาถึงโต๊ะอาหารของเรา ควรจะสร้างมาตรฐานในการเก็บเกี่ยว การบรรจุ และการขนส่งอาหาร จะช่วยลดปริมาณของอาหารที่สูญเสียลง ทำให้ประหยัดเงินและเลี่ยงการสูญได้
นอกจากนี้ ยังมีเหล่าดารา-ศิลปินเข้าร่วมงานเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้ มีมินิคอนเสิร์ตจาก ว่าน ธนกฤต พานิชวิทย์, การเสวนากับ ตุ๊ก ชนกวนันท์ และเชฟอิ๊ก บรรณ บริบูรณ์ จะมาเผยเคล็ดลับในการทำกับข้าวแบบประหยัดอาหารและการเก็บถนอมอาหาร พร้อมด้วยพอธีกรชื่อดัง หนิง ศรัยฉัตร