WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

มูลนิธิเอสซีจีหนุนเด็กช่าง สร้างอนาคต!!ชวนรุ่นพี่แนะ 10 เคล็ดลับความสำเร็จในการเรียน

  บ้านเมือง : ความสำเร็จในชีวิตอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม'ตัวเรา'เท่านั้นเป็นผู้กำหนดเป้าหมาย แต่ก่อนจะก้าวไปถึงเป้าหมาย เราต้องสร้างรากฐานของเราให้แข็งแรง โดยเริ่มต้นที่ 'การศึกษา'เพราะหากเรามีความรู้มากพอ จุดมุ่งหมายที่เราฝันเอาไว้ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม

   การศึกษาในปัจจุบันมีทางเลือกอยู่มากมาย และ'สายช่าง' ก็เป็นอีกสายหนึ่งที่หลายคนมองข้าม แต่รู้หรือไม่ว่าปัจจุบันนี้สัดส่วนจำนวนผู้เรียนสายช่างสวนทางกับความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นทุกปี จากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้ว่าอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศต้องการผู้ที่จบการศึกษาระดับอาชีวะสำหรับภาคอุตสาหกรรมมากถึง 120,000 คน ซึ่งแรงงานช่างอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ สาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ช่างกลโรงงาน ช่างยนต์

   ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิเอสซีจีจึงไม่รอช้าเดินหน้าโครงการ'เด็กช่าง สร้างชาติ'ปีที่ 2 ทันที โดยในปีนี้ได้ มอบทุนการศึกษา 'เด็กช่าง สร้างชาติ'ภายใต้โครงการ SCG Sharing the Dream โดย มูลนิธิเอสซีจี จำนวน 250 ทุน มูลค่าทุนละ 20,000 บาท ให้กับนักเรียน ม.3 ที่ตั้งใจศึกษาต่อในระดับ ปวช. สาขาช่างอุตสาหกรรม และเป็นทุนต่อเนื่องจนจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยทุนนี้เป็นทุนให้เปล่า ไม่มีภาระผูกพัน และไม่ต้องใช้คืน

    นอกจากตัวเลขที่น่าสนใจที่บ่งบอกถึงความต้องการในสายงานนี้แล้ว มูลนิธิเอสซีจี ยังมีตัวอย่างความสำเร็จจากรุ่นพี่เด็กช่างมาฝากน้องๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาในชั้นมัธยมต้น และผู้ปกครองที่กำลังตัดสินใจเลือกเส้นทางเพื่ออนาคตของบุตรหลานมาฝากกับ 10 เคล็ดลับ ดีๆ จากรุ่นพี่เด็กช่างที่ประสบความสำเร็จด้วยวัยเพียง 26 ปี อย่างนายยุทธิพงศ์ โอชาพงค์ ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตและติดตั้งออฟฟิศ ร้านค้า ร้านกาแฟ และบ้านสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ 'สยาม โมบาย โฮม'โดยผลิตและติดตั้งไปแล้วทั่วประเทศกว่าหลายร้อยหลัง นายยุทธิพงศ์ โอชาพงค์ หรือบ่าว จบการศึกษาในระดับ ปวช. จากวิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช สาขาช่างก่อสร้าง และจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร คณะวิศวกรรมศาสตร์ เล่าถึงเคล็ดลับในการเรียนสายช่าง และเรื่องราวความสำเร็จเพื่อเป็นแรงบันดาลใจและแนวทางให้กับน้องๆ ที่กำลังก้าวเข้าสู่การเรียนสายช่าง ซึ่งรับรองว่าสนุก ได้ความรู้ และที่สำคัญสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ อนาคตสดใสรออยู่ไม่ไกล

   ผมก็เรียนมาเรื่อยๆ เป็นคนที่มีเกรดเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลางครับ และพอใกล้เรียนจบ ม.3 ก็เหมือนกับน้องๆ ทุกคน คือ ถึงเวลาที่ต้องเลือกว่าจะเรียนต่อ ม.ปลาย สายวิทย์-คณิต หรือสายศิลป์ หรือเรียนต่อสายอาชีวะ ซึ่งในเวลานั้นผมเกิดคำถามกับตัวเองหลายอย่าง และเป็นที่มาของเคล็ดลับทั้ง 10 ข้อที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ

   1.รู้จักตัวเอง คือ เราต้องรู้จักตัวเอง ทำความเข้าใจว่าเราเหมาะที่จะเรียนสายไหน บางคนเรียนเก่งมาตั้งแต่สมัย ม.ต้น ชอบเรียนทฤษฎี เขาก็จะพุ่งตรงไปเรียนสายสามัญกันเลย แต่สำหรับผม ผมคุยกับตัวเองจนแน่ใจแล้วว่าผมชอบอะไร อยากทำงานอะไร เมื่อเรียบเรียงความคิดทั้งหมดแล้ว ผมมองว่าผมเหมาะที่จะเรียนสายช่างมากกว่า ผมเลยเลือกเรียนทางนี้ จึงตัดสินใจขอโควตาเรียนจากวิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช

    2.เลือกช่างที่ถนัด วัดจากประสบการณ์ พอเข้ามาเรียนสายช่าง ก็จะมีสายงานช่างอีกหลายประเภทให้เลือกเรียน ทั้งช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง ฯลฯ เราก็ต้องหันมาดูตัวเราว่าถนัดสายช่างแบบไหน สำหรับผม ผมพบว่าช่างก่อสร้างน่าจะเหมาะกับตัวผมมากที่สุด เพราะก่อนหน้านี้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ ติดตามไปกับญาติๆ ที่เป็นช่างก่อสร้าง และรู้สึกชอบเป็นพิเศษ ทำให้ผมเลือกเรียนช่างก่อสร้างอย่างไม่ลังเล

    3.เรียนสายช่างสนุกปฏิบัติ บรรยากาศในการเรียนสายช่างสนุกมากครับ เพราะจะเน้นสอนปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี ได้ฝึก ได้ลงมือจริง ลองผิดลองถูก นำมาซึ่งความเข้าใจที่มากขึ้น แตกต่างจากสายสามัญที่จะเน้นทฤษฎี

  4.เรียนรู้+รายได้ ประโยชน์ 2 ทาง นอกห้องเรียน ในช่วงเรียน ปวช. ช่วงปิดเทอมผมก็ได้มีโอกาสมาช่วยงานญาติที่เป็นช่างรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งผมได้ลงมือทำงานจริงเลยครับ โดยอาศัยความรู้พื้นฐานที่ได้เรียนจากในห้องเรียน ผมเลยได้ประโยชน์ทั้งสองทาง คือ ได้เรียนรู้งานจริง และมีรายได้พิเศษระหว่างเรียน ช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว

   5.ประโยชน์ต่อที่ 3 ผลการเรียนดีเกินคาดจากการทำงานช่วงปิดเทอม จากการที่ได้ทำงานสัมผัสหน้างานจริงในช่วงปิดเทอม ส่งผลต่อเนื่องให้ผมมีผลการเรียนที่ดีขึ้นด้วยครับ เพราะเราได้ไปเจอกับประสบการณ์ทำงานจริง จากเดิมที่เกรดเฉลี่ยผมไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เทอมถัดมาเกรดผมพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 3.7 กลายเป็นอันดับต้นๆ ของห้องเลยครับ การได้ทำงานมันเหมือนเรียนทางลัด ได้จับเครื่องมือจริง ได้ซ่อมจริง มันช่วยได้มาก คือเราไม่ต้องนึกภาพครับ ลงมือทำเลย

   6.จบสายช่าง ต่อมหาวิทยาลัยก็ยังได้ พอจบ ปวช. ก็ถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเรียนต่อ ปวส. อีก 2 ปี หรือจะต่อมหาวิทยาลัยอีก 4 ปี ในที่สุดผมก็ตัดสินใจเลือกเรียนภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร วันที่มีเรียนผมก็ไปเรียนตามปกติ ส่วนวันไหนไม่มีเรียนผมก็ไปหน้างาน ทำงานเหมือนช่างทั่วไปเลยครับ เพื่อเป็นการฝึกทักษะความชำนาญให้แก่ตัวเอง ต้องไม่หยุดนิ่งครับ

   7.เข้ามหาวิทยาลัยปีแรก ต้องเร่งพัฒนาทฤษฎี เนื่องจากเรียนสายช่าง ทฤษฎีไม่ค่อยหนักเท่าไหร่ แต่พอมาเรียนต่อมหาวิทยาลัยก็ต้องเจอทฤษฎีหนักๆ ตำราเล่มใหญ่ๆ ผมต้องรวมกลุ่มช่วยกันติวครับ ปีแรกก็จะหนักหน่อย เพราะเราต้องปรับตัวและพยายามผ่านไปให้ได้ ผมจะตามติดเพื่อนที่เขาเก่งทฤษฎีและเรียนรู้จากเขาอย่างเต็มที่

   8.ภาคปฏิบัติของสายอาชีพไม่สามารถสอนกันได้ในระยะเวลาอันสั้น พอเรียนมาถึงช่วงปฏิบัติก็จะมีจุดต่างอย่างหนึ่งว่า เพื่อนสายสามัญสามารถสอนทฤษฎีให้เราได้ แต่เราสายอาชีพไม่สามารถที่จะสอนให้เพื่อนเรียนรู้การปฏิบัติจริงได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ เพราะเขาไม่เคยทำมาก่อน ภาคปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องของการฝึกฝน ทำบ่อยๆ เพื่อให้เกิดทักษะและความชำนาญ

    9.เรียน+ทำงาน จบมามั่นใจในอาชีพ พอมาถึงช่วงปี 3 และปี 4 ผมทำงานระหว่างเรียนเพิ่มขึ้น มีรายได้พิเศษจากการรับเขียนแบบ ช่วยออกแบบรีสอร์ท ซึ่งก็ช่วยเป็นการฝึกฝนฝีมือช่างไปในตัว และเป็นการเพิ่มรายได้ระหว่างเรียนไปด้วย ผมทำควบคู่กันมาเรื่อยๆ จนจบปี 4 พอเรียนจบ ก็พร้อมทำงานจริง มีความรู้สึกมั่นใจมากๆ

    10.สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แล้วเริ่มงานได้เลย พอผมเรียนจบ ก็ไปสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม และผมก็เริ่มงานแรกด้วยการเป็นโฟร์แมนให้กับบริษัทรับเหมาก่อสร้างของญาติที่ผมทำงานด้วยเลย

    เคล็ดลับทั้ง 10 ข้อ ที่บ่าวได้เล่ามาถือเป็นการปูพื้นฐานในการเดินไปสู่จุดมุ่งหมายและเป็นตัวอย่างสำหรับน้องๆ ที่เลือกเรียนสายช่างได้ดีทีเดียว ถึงแม้มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันก็ไม่ยากเกินความสามารถที่มุ่งมั่นตั้งใจอย่างแน่นอน ขอแค่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และบ่าวยังได้เล่าถึงก้าวสำคัญในชีวิตที่เริ่มขึ้นอีกครั้งว่า

     "พอผมทำงานเก็บประสบการณ์มาประมาณปีกว่าๆ ผมก็อยากมีกิจการเล็กๆ เป็นของตัวเอง ตอนนั้นที่ญาติๆ ของผมเริ่มนำตู้คอนเทนเนอร์มาดัดแปลงเป็นเหมือนตู้ไซด์งานครับ จนเมื่อปลายปี 2555 ผมจึงตัดสินใจแยกตัวออกมา แล้วผมก็เลยนำแนวคิดตรงนั้นมาคิดต่อยอด นำไปสู่การเริ่มต้นธุรกิจรับทำบ้านน็อกดาวน์ เพราะผมคิดว่ามันสามารถพัฒนารูปแบบ ดีไซน์ไปได้อีก และใช้คนงานน้อย ซึ่งเหมาะสำหรับธุรกิจของผมที่กำลังอยู่ในระยะเริ่มต้นครับ

   ผมเริ่มจากการเช่าที่ เช่ารถ และลงทุนซื้อเครื่องมือต่างๆ ประมาณ 1 แสนกว่าๆ มีคนงานแค่ 2 คน โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ที่เราเรียนมา ทั้งเรื่องการก่อสร้างและการออกแบบพัฒนาธุรกิจตัวเองมาเรื่อยๆ เริ่มมีการประชาสัมพันธ์ธุรกิจ โดยอาศัยการโฆษณาผ่านทางโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ค เพราะผมเห็นว่าสามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ในจำนวนมาก จากตรงนั้นก็เริ่มมีคนสนใจมากขึ้นและติดต่อกลับมาเพื่อใช้บริการเรา ลูกค้ากลุ่มแรกๆ จะเป็นธุรกิจเล็กๆ อย่างร้านกาแฟ หรือออฟฟิศเล็กๆ ช่วงเริ่มต้น ก็จะมีงานอยู่เดือนละ 3-4 หลัง และเมื่อเริ่มมีลูกค้า เราก็เริ่มมีผลงาน งานมากขึ้น และผมก็เริ่มสะสมผลงานเก็บไว้เพื่อให้ลูกค้าคนอื่นๆ ได้ดูผลงานของเราครับ" บ่าว กล่าวเมื่อเป็นสัจธรรมที่ว่าทางเดินไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป การทำงานทุกอย่างย่อมเจอปัญหา พี่บ่าวก็เช่นกัน เขาได้เล่าถึงปัญหาที่เจอว่า ในช่วงแรกๆ ต้องยอมรับว่างานเรายังไม่ละเอียดมากเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราได้มีการพัฒนาฝีมือ พัฒนาคุณภาพจนเป็นที่พอใจของลูกค้าอย่างมากในปัจจุบัน

   นอกจากนั้น แล้วเราก็มีข้อดีกว่าที่อื่นๆ คือ สามารถให้ราคาที่ถูกกว่า และมีการผลิตที่เร็วกว่า จากเดิมใช้ระยะเวลาผลิตประมาณ 10 วันต่อหลัง ปัจจุบันพัฒนาจนสามารถผลิตได้ 3 วันต่อหลัง ทำให้เฉลี่ย 1 เดือนสามารถผลิตได้ถึง 10 หลังครับ ต้องขอขอบคุณความรู้และทักษะสายช่างที่ได้เรียนมา เพราะมันเป็นประโยชน์กับการทำงานของผมทุกวันนี้

  ความสำเร็จในปีแรก สามารถสร้างบ้านน็อกดาวน์ออกสู่ท้องตลาดรวมทั้งสิ้นไปประมาณ 80 หลัง โดยมีการจัดส่งทั่วประเทศ ตอนนี้รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาทต่อเดือน และมีลูกน้องจากเดิม 2 คน ปัจจุบันมี 9 คน และอนาคตพี่บ่าวก็มีแผนที่จะพัฒนารูปแบบบ้านน็อกดาวน์ให้มีความโมเดิร์นและหลากหลายมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

   ความสำเร็จอยู่ตรงหน้า อยู่ที่ว่าใครจะก้าวไปคว้า ขอเพียง'เรียนรู้ ศึกษา มุ่งมั่น ตั้งใจ และอดทน'เชื่อว่าทุกคนสามารถก้าวสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างและเคล็ดลับในการก้าวสู่ความสำเร็จ มูลนิธิเอสซีจีพร้อมเดินหน้าเป็นส่วนหนึ่งในการสานฝันให้เด็กช่างไทยได้มีอนาคตที่ก้าวไกลผ่าน โครงการ "เด็กช่าง สร้างชาติ" ปีที่ 2 ไม่เพียงมอบทุนการศึกษาฯ นักเรียนทุน 'เด็กช่าง สร้างชาติ'ของมูลนิธิเอสซีจีจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งการส่งเสริมทักษะอาชีพและทักษะที่จำเป็น อาทิ ฝึกงานกับหน่วยงานชั้นนำทั้งในไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน ฝึกทักษะภาษาอังกฤษสำหรับช่าง ตลอดจนยังได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อส่งเสริมจริยธรรม คุณธรรม ปลูกจิตสำนึกสาธารณะ เพื่อให้น้องๆ เป็นช่างมืออาชีพที่เก่งและดีในอนาคตอีกด้วย สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.scgfoundation.org หรือ www.facebook.com/SCGF.scholarships

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!