- Details
- Category: CSR
- Published: Monday, 08 July 2024 12:27
- Hits: 5742
สกัดแนวคิด ‘เหตุผลที่เรามารวมกัน’ ตลอดเส้นทางกว่า 100 ปีของเอสซีจี
สกัดแนวคิดจากหนังสือ “เหตุผลที่เรามารวมกัน” ตลอดการเดินทางกว่า 111 ปีของเอสซีจี ชวนย้อนมองอดีตจากจุดเริ่มต้น ถึงปัจจุบัน และอนาคต การทำธุรกิจควบคู่กับดูแลสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม พร้อมปรับตัวตามทิศทางโลก
เมื่อความยั่งยืนกลายเป็นกติกาสากล ที่จำเป็นต่อการก้าวไปข้างหน้าของโลกอนาคต ถึงเวลาที่ผู้คนทั่วโลกต้องร่วมมือร่วมใจกันทำอะไรสักอย่างเพื่อโลก เพราะไม่มีใครสามารถเดินไปข้างหน้าได้เพียงลำพัง
หนังสือ “เหตุผลที่เรามารวมกัน” ได้ฉายภาพการเดินทางของเอสซีจีตลอด 111 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2456 ว่าได้พัฒนาธุรกิจควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง จากจุดเริ่มต้นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: CSR) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มาจนถึงปัจจุบันที่ยกระดับสู่แนวทาง ESG (Environmental, Social, Governance) โดยเอสซีจีได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาตั้งแต่แรกเริ่ม และปรับเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมโลก ทั้งในแง่ความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม สังคม หรือแม้แต่ยามเกิดวิกฤตต่างๆ โดยยึดพื้นที่ชุมชนใกล้โรงงานเป็นโจทย์แรกก่อน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน ขยายไปสู่สังคมภายนอก ซึ่งการทำทุกกิจกรรมไม่ได้เกิดขึ้นจากเอสซีจีฝ่ายเดียว แต่มาจากความร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงาน องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน ที่รับรู้และเข้าใจปัญหา มีความเชื่อมั่นศรัทธาเหมือนกัน สามัคคีทำงานด้วยกัน จึงเป็นเหตุผลที่เรามารวมกัน ซึ่งเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้สะท้อนแนวคิดออกมาหลายด้าน ดังจะยกตัวอย่างต่อไปนี้
ธุรกิจที่ดีต้องไม่ทำลายศีลธรรมและสิ่งแวดล้อม
การทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นแนวคิดที่เริ่มมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ตามคำบอกเล่าของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ว่าหากย้อนไปในช่วงเริ่มต้นเมื่อร้อยปีก่อน เอสซีจีก่อตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ต้องซื้อจากต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 เมื่อถึงสมัยของรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงไปศึกษาต่างประเทศ และทรงได้รู้ว่าถ้ายังต้องพึ่งพาคนอื่นต่อไป เราก็จะไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ จึงให้มีการสำรวจดูว่าดินที่ไหนทำปูนซีเมนต์ได้บ้าง และต่อมาจึงเกิดการตั้งเอสซีจี พร้อมกับถอดพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 6 ออกมาจนเกิดปรัชญา “ต้องรับผิดชอบต่อแผ่นดิน” ซึ่งหมายถึงจะทำอะไรก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย และสิ่งสำคัญของการทำธุรกิจคือ “ต้องไม่ทำลายศีลธรรมและสิ่งแวดล้อม”
ทั้งนี้ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมถือเป็นหนึ่งใน “อุดมการณ์ 4” ที่คนเอสซีจียึดถือเป็นหลักในการทำงาน ประกอบด้วย 1. ตั้งมั่นในความเป็นธรรม ต้องมีความรับผิดชอบ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องได้รับความเป็นธรรม เช่น ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุดทั้งด้านคุณภาพและราคา พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี 2. มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ มุ่งทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความตั้งใจ 3. เชื่อมั่นในคุณค่าของคน โดยเฉพาะพนักงานที่เป็นทรัพยากรที่มีค่า 4. ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบในทุกพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินงาน
ไม่คบเพื่อนที่ไม่มีจรรยาบรรณ
นอกจากนี้ เอสซีจียังมี “จรรยาบรรณเอสซีจี” เพื่อให้พนักงานทุกระดับใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน มีการทบทวนและปรับให้เข้ากับยุคสมัยและประเด็นที่สังคมให้ความสำคัญ ทั้งความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิมนุษยชน ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม โดยทำให้ลึกซึ้งยิ่งกว่ากฎหมาย เพราะอะไรก็ตามที่อยู่ในข้อกฎหมาย ถ้าละเมิดก็เท่ากับทำผิด แต่บางเรื่องอาจไม่ผิดกฎหมาย แต่เป็นเรื่องไม่เหมาะสม ไม่ควรทำ ซึ่งพนักงานจะต้องเรียนรู้หลักและแนวปฏิบัติตามจรรยาบรรณเอสซีจี นอกจากนี้ยังมี “จรรยาบรรณคู่ธุรกิจ” สำหรับเครือข่ายธุรกิจนับหมื่นราย เป็นเหมือนหลักการคบเพื่อน ไม่ว่าจะธุรกิจไหนถ้าจะคบกันระยะยาว ก็ควรเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน
การช่วยเหลือสังคม ต้องไม่ใช่การหยิบยื่นให้
ในทุกโครงการที่เอสซีจีช่วยเหลือชุมชน จะต้องทำให้เขาอยู่ได้ด้วยตนเอง โดยเอสซีจีน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ที่ว่า “สอนคนให้ตกปลา หาอาหารได้ด้วยตนเอง มิใช่หยิบยื่นปลาให้” เช่น โครงการ ‘รักภูผามหานที’ สร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อฟื้นน้ำคืนป่า แก้ปัญหาไฟไหม้ป่าบ่อย โดยเริ่มต้นจากพื้นที่รอบโรงงานเอสซีจี ซึ่งเอสซีจีจะชวนพนักงาน ชุมชน มาคลายปมว่าสาเหตุไฟป่าคืออะไร จนพบว่าพื้นที่ขาดความชุ่มชื้น เลยเกิดเป็นการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อชะลอน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา ให้ต้นไม้ได้กักเก็บความชุ่มชื้น ชักชวนชาวบ้านเข้ามาทำฝาย หรือโครงการ ‘พลังชุมชน’ ที่ตั้งใจช่วยให้คนไทยเลิกจน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าในตนเอง และเชื่อมั่นว่าสามารถพึ่งพาตนเองได้ และยังเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้ด้วย ด้วยการให้ความรู้คู่คุณธรรม ใช้หลักการตลาดแปรรูปผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่ม ตรงใจลูกค้า หาวิธีการและช่องทางจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย
ปรับตัวตลอดเวลา อยู่ที่ไหนเป็นพลเมืองดีของที่นั่น
เอสซีจีมีวัฒนธรรมของการปรับตัวตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ในด้านการทำธุรกิจ แต่เมื่อไปอยู่ที่ไหนก็ต้องเป็นพลเมืองดีของที่นั่นด้วย ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ อย่างโครงการ CSR แรกๆ ก็เป็นการบริจาคเหมือนบริษัทอื่น จากนั้นเริ่มขยายความรับผิดชอบต่อสังคมกว้างขึ้นไปสู่ระดับประเทศ และต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจอยู่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมและสร้างความร่วมมือกับคนในพื้นที่และหน่วยงานต่างๆ เช่น ร่วมกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์กรมหาชน) ดำเนินโครงการ ‘SCG Sharing the Brighter Vision’ ผ่าตัดรักษาผู้ป่วยต้อกระจกชาวเมียนมา คืนแสงสว่างให้การมองเห็น
“CSR ผ่านไป 30 ปีก็อาจจะต้องปรับ ผ่านไป 50 ปีก็ต้องปรับ แต่มีหลักการที่ต้องเหมือนเดิมคือ ไม่สร้างผลกระทบด้านลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างผลบวก คือ 1. ไม่ทำลาย 2. เพิ่มศักยภาพ เพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มคุณภาพสิ่งแวดล้อม” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม กล่าว
เมื่อเกิดวิกฤตเรือต้องแล่นไปข้างหน้า ขณะเดียวกันก็ต้องอุดรูรั่วของเรือไปด้วย
ในหนังสือยกสถานการณ์โควิด 19 ปี 2563 ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ และไม่มีใครมีความเชี่ยวชาญหรือความรู้มากพอ สิ่งที่เอสซีจีทำอย่างแรกคือ ทำความเข้าใจสถานการณ์ และดูว่าวิกฤตนี้จะส่งผลต่อธุรกิจในมิติไหนบ้าง จะลงมือทำอะไรได้บ้าง โดยสิ่งแรกที่ทำคือ ดูแลพนักงานให้ปลอดภัยก่อน แยกพนักงานออกเป็นกลุ่มๆ
คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ปี 2559-2566 กล่าวว่า การประคับประคองตอนนั้นสถานการณ์ไม่ต่างจากการแล่นเรือที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องอุดรูรั่วของเรือไปด้วย และนอกจากการดูแลพนักงานในองค์กรแล้ว ได้ต่อยอดไปสู่การช่วยเหลือสังคม ซึ่งจะเห็นว่าในยามวิกฤตนั้น เอสซีจีได้นำนวัตกรรมมากมายออกมาช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นห้องตรวจหาเชื้อ ห้องไอซียูโมดูลาร์ แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ เตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี และที่สำคัญคือการประสานเรื่องวัคซีนโควิด 19 กับต่างประเทศ
โลกแปรปรวน หาแนวทางกู้โลก และสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ
เอสซีจีเริ่มจากธุรกิจปูนซีเมนต์ จากนั้นเป็นวัสดุก่อสร้าง กระดาษ บรรจุภัณฑ์ และปิโตรเคมี ธุรกิจเหล่านี้มีส่วนช่วยในการพัฒนาบ้านเมือง ให้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้ทรัพยากรและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ทุกๆ ปีจะมีการทบทวนกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน และได้ยกระดับสู่ “ESG 4 Plus” ประกอบด้วย มุ่ง Net Zero - Go Green - Lean เหลื่อมล้ำ - ย้ำร่วมมือ Plus เชื่อมั่น โปร่งใส เริ่มจากกู้โลกเดือดโดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด ซึ่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดสามารถเป็นได้ทั้งโอกาสและความท้าทาย ถ้าปรับตัวช้า จากความท้าทายจะกลายเป็นปัญหา แต่ถ้าเริ่มตั้งแต่วันนี้จากเล็กไปใหญ่ จากน้อยไปมาก ทำในส่วนที่เอื้ออำนวย จะเป็นโอกาส
ตัวอย่างเรื่องพลังงานสะอาด เช่น ร่วมกับชุมชนรอบโรงงานรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย มาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลใช้ในโรงงานปูนซีเมนต์ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ในหลายพื้นที่ของบริษัท ทั้งโซลาร์บนหลังคา โซลาร์ฟาร์ม โซลาร์ลอยน้ำ
ภารกิจบทใหม่ ลุกขึ้นมาร่วมมือ สร้างโลกให้น่าอยู่
ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมไม่เคยเป็นเรื่องเก่า แต่ละปีจะมีประเด็นเร่งด่วนที่แตกต่างกันตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เอสซีจีมีการจัดเวทีความร่วมมือด้านความยั่งยืน หรือ SD Symposium มาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อเป็นแพลตฟอร์มรวมพลระดับสากล แต่พอปี 2565 ปัญหาโลกร้อนรุนแรงขึ้น จึงยกระดับเป็น ESG Symposium และยิ่งปี 2566 องค์การสหประชาชาติประกาศว่าโลกเข้าสู่วิกฤตโลกเดือด การหารือจึงยกระดับความเข้มข้นขึ้นอีก
คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี กล่าวว่า ESG Symposium เป็นพื้นที่ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง อย่างปี 2566 ได้เปิดเวทีให้ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ มาระดมสมอง หารือเพื่อร่วม เร่ง เปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่าน 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1. สร้างสระบุรีแซนด์บอกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย 2. ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ 3. เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน 4. เปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งข้อเสนอจากการหารือได้ถูกเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนต่อไป
นับเป็นภารกิจบทใหม่ในการเดินทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่ยังมีความท้าทายอยู่มาก เรื่องราวต่างๆ ในหนังสือ “เหตุผลที่เรามารวมกัน” เป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนบนเส้นทางการขับเคลื่อนความยั่งยืนของเอสซีจี ที่ร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วนตลอดกว่าศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งหวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจและมุมมองใหม่ๆ ให้กับผู้ร่วมทางทุกคนไม่มากก็น้อย ติดตามอ่านหนังสือเล่มนี้ โดยดาวน์โหลดได้ที่ https://www.scg.com/pdf/th/the-power-of-collaboration.pdf
7221