- Details
- Category: CSR
- Published: Wednesday, 29 May 2024 17:14
- Hits: 4659
บ้านปู หนุนพัฒนาศักยภาพคน อัปสกิล SE รุ่นใหม่ เปิดตัว 7 ทีม ‘พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม’
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ย้ำความมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพคน จับมือ ChangeFusion ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลลัพธ์ทางสังคมและการตลาด ร่วมอัปสกิลผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) รุ่นใหม่ ภายใต้โครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” หรือ Banpu Champions for Change (BC4C) รุ่นที่ 13 มุ่งพัฒนาศักยภาพ SE ให้สามารถสร้างการเติบโตทั้งในด้านรายได้และผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ พร้อมเปิดตัว 7 กิจการเพื่อสังคมที่ผ่านเข้ารอบ Incubation Program ปี 2567
นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปีนี้โครงการ BC4C ได้รับความสนใจจาก SE ในหลากหลายพื้นที่ภายหลังที่เราได้ลงพื้นที่และประชาสัมพันธ์กิจกรรมในหลายภูมิภาค ซึ่งตรงกับความตั้งใจของเราตามธีมในปีนี้คือ ‘Impactful Locals, National Boost: ชุมชนแกร่ง ไทยแกร่ง’ ที่ต้องการส่งเสริมให้มี SE หน้าใหม่ที่เข้มแข็งทั่วประเทศ จาก 15 ทีมที่ผ่านเข้ารอบในรอบแรก ทุกทีมมาด้วยแพสชันเต็มเปี่ยม สิ่งที่โครงการฯ ช่วยเพิ่มเติมให้คือการขยายผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาแผนการตลาด รวมถึงเทคนิคการนำเสนอแผนธุรกิจ ซึ่งทักษะเหล่านี้จะทำให้ SE สามารถพัฒนาแนวการทำกิจการของตนเองได้อย่างมีระบบ มีหลักการที่จับต้องได้และใช้ได้จริง เป็นแนวทางพื้นฐานสำหรับนำไปสร้างการเติบโตของกิจการอย่างชัดเจน”
เวิร์กชอปการอัปสกิล SE ใน Incubation Program ของโครงการฯ ในรุ่นที่ 13 ประกอบด้วย
1. การพัฒนาแผนการจัดการผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดย นางไฮดี้ เหลิ่ง ผู้จัดการฝ่ายบริหารธุรกิจ สถาบัน ChangeFusion เน้นส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถวิเคราะห์ผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนและสังคม อาทิ การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียและกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุด รวมถึงการวางแบบจำลองผลกระทบ (Impact Model) และตัวชี้วัดที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกิจการ
2. การพัฒนาแผนธุรกิจและแผนการทดสอบตลาด โดย นายภาวินท์ สุทธพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ธุรกิจดิจิทัล ที่มาถ่ายทอดกลยุทธ์นวัตกรรมและการวางแผนธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยผู้บริโภค กลยุทธ์เชิงปฏิบัติการ (Operation Strategy) การหามูลค่าของโครงการ (Value Creation) และวิธีการวัดผลอย่างต่อเนื่อง (Innovation Accounting)
3. เทคนิคการนำเสนอแผนธุรกิจ หรือ Business Pitching เพื่อเรียนรู้ทักษะการนำเสนอแผนธุรกิจโดยเน้นการนำเสนอทั้งด้านธุรกิจและด้านผลกระทบต่อสังคม โดยมี BC4C Alumni ประกอบด้วย นายนรินทร์ จิตต์ปราณีชัย จาก a-chieve BC4C Alumni รุ่นที่ 1, นายสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ จาก toolmorrow BC4C Alumni รุ่นที่ 5, และนายบุตรพจน์ พลพิพัฒนพงศ์ จาก ม้งไซเบอร์ BC4C Alumni รุ่นที่ 10 มาแสดงตัวอย่างการนำเสนอและให้คำปรึกษากับผู้เข้าร่วมโครงการฯ
นางสาวจีรพันธุ์-นายชุณวัณ บุญมา สองพี่น้องเจ้าของกิจการเพื่อสังคม “Karen Design” หนึ่งใน SE ที่ผ่านเข้ารอบ 7 ทีมสุดท้าย กล่าวว่า “ที่ผ่านมา Karen Design ไม่สามารถสร้างยอดขายได้มากพอที่จะช่วยเหลือคนในชุมชนเป็นจำนวนมาก การเข้าร่วมเวิร์กชอปการพัฒนาแผนธุรกิจและแผนการทดสอบตลาดทำให้มองเห็นแนวทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้ โดยสิ่งที่เรายังไม่ชัดเจนคือการสร้างแบรนด์ การเข้าใจลูกค้า และการสื่อสารไปยังลูกค้า สิ่งที่จะต้องพัฒนาต่อไปในระยะเวลาอันใกล้นี้คือ การระบุและทำความเข้าใจลูกค้าของเรา การเพิ่มความถี่และพัฒนาคอนเทนต์ การเพิ่มช่องทางการขายทางออนไลน์ รวมถึงดึง TikToker ชาวกะเหรี่ยงร่วมกระตุ้นยอดขาย เมื่อมียอดขายมากขึ้น เราก็จะช่วยเหลือชาวบ้านได้มากขึ้น และยังเป็นการขยายเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมอนุรักษ์ผ้าทอพื้นถิ่นในอนาคต”
ด้าน นายกิตติเดช-นายธันวา เทศแย้ม สองพี่น้องเจ้าของกิจการเพื่อสังคม “คนทะเล” อีกหนึ่ง SE ที่ผ่านเข้ารอบ 7 ทีมสุดท้าย กล่าวว่า “หลังได้เข้าร่วมเวิร์กชอปการพัฒนาแผนการจัดการผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้ คนทะเล เห็นภาพการสร้างอิมแพคต่อสังคมที่สามารถขยายได้กว้างขึ้น เช่น การเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชนผ่านการรับซื้ออาหารทะเลแปรรูปเพื่อนำมาใส่บรรจุภัณฑ์สวยงามและจำหน่ายเป็นของฝากให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงการขยายกลุ่มผู้นำเที่ยวทริปท่องเที่ยววิถีชุมชน โดยเราจะจัดอบรมให้ความรู้และทำสื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้ นอกจากนี้ ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เราจะนำกำไรส่วนหนึ่งจากทริปท่องเที่ยวฯ มาเป็นเงินทุนในการเพิ่มจำนวน ‘บ้านปลา’ หรือ ‘ซั้งกอ’ แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก”
สำหรับ 7 กิจการเพื่อสังคมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย (โดยไม่เรียงลำดับคะแนน) ใน Incubation Program ได้นำเสนอโซลูชันแก้ปัญหาสังคมที่ครอบคลุมหลายมิติสำคัญ ดังนี้
● ชันโรง: อนุรักษ์ป่าชายเลน จ.กระบี่ สร้างมูลค่าเพิ่มผึ้งจิ๋ว “ชันโรง” สู่การฟื้นฟูป่าของชุมชน การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากชนิด และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
● คนทะเล: อนุรักษ์อ่าวทุ่งน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผนึกชุมชนขยายเครือข่ายประมงยั่งยืน สู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่สร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการท่องเที่ยว
● Refield Lab: ออกแบบพื้นที่สีเขียวด้วยภูมิสถาปัตย์ สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย สู่การวางแนวทางพัฒนาพื้นที่ด้วย Nature-Based Solutions คืนสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์สู่ชุมชน
● Zeefedz: ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากธุรกิจบ่อเลี้ยงกุ้ง ด้วย “นวัตกรรมอาหารเสริมชีวภาพ” ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ไร้สารเคมีตกค้าง สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร
● Karen Design: แก้ปัญหาความยากจนของชนเผ่ากะเหรี่ยงในพื้นที่แม่ฮ่องสอน สร้างรายได้เสริมชุมชนด้วยงานคราฟต์ “ผ้าทอมือ-โคมไฟจากเปลือกข้าวโพด”
● CHICK VILLAGE: คอมมูนิตี้ของคนเลี้ยงไก่ ที่ส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้ที่สม่ำเสมอ ลดภาระหนี้สินครัวเรือน ผ่านการอัปสกิลเลี้ยงไก่ไข่เพื่อจำหน่ายและการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
● สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง: ติดปีกความฝัน “ผู้พิการไทย” สู่เส้นทาง “นักเขียน” เปิดพื้นที่แห่งโอกาสที่พร้อมเปิดให้คนพิการได้แสดงศักยภาพและสร้างสรรค์ผลงานเขียน ต่อยอดสู่สินค้าที่ระลึกต่างๆ ในอนาคต
ร่วมติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรม ตลอดจนร่วมลุ้นกับการประกาศผลผู้ชนะ Incubation Programภายใต้โครงการ Banpu Campions for Change ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/banpuchampions
5922