- Details
- Category: CSR
- Published: Saturday, 16 March 2024 17:24
- Hits: 6939
กรุงไทยรักชุมชน พัฒนาเกาะปูโมเดล ส่งเสริมชุมชนพึ่งพาตนเอง ด้วยภูมิปัญญา ดูแลรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล
ธนาคารกรุงไทย ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ พัฒนา “เกาะปูโมเดล” จ.กระบี่ โดยกลุ่มจิตอาสาพนักงานธนาคารกรุงไทย (VVE Vayu Volunteer) ผู้แทนจาก ม.เกษตรศาสตร์ จาก อ.เหนือคลอง ชาวบ้าน ครู นักเรียน ร.ร.บ้านเกาะปู จัดกิจกรรมวางปะการังเทียมโดมทะเล (Sea dome) เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ มุ่งมั่นก้าวสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน ได้ดำเนินโครงการ กรุงไทยรักชุมชน อย่างต่อเนื่อง โดยเล็งเห็นศักยภาพของชุมชนบ้านเกาะปู จ.กระบี่ จึงนำโมเดลต้นแบบโครงการ UNDP กรุงไทยรักเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี มาเป็นแนวทางในการยกระดับเกาะปู ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารพื้นถิ่น และจุดเช็คอิน โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ดำเนินโครงการ กรุงไทยรักชุมชนเกาะปู เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเองและเติบโตอย่างเข้มแข็ง บนพื้นฐานภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างสมดุล
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาโครงการ “เกาะปูโมเดล” โดยจัดเก็บข้อมูลทางชีวภาพและสำรวจพื้นที่พบว่า บริเวณทิศตะวันตกของเกาะมีภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมในการวางปะการังเทียมโดมทะเล (Sea dome) หรือซั้งปลา ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้คิดค้นทำจากปูนซีเมนต์สูงประมาณ 1.2 เมตร รูปทรงโดมฐานเปิด ลักษณะเป็นรูพรุนเพื่อเป็นที่ยึดเกาะของแนวปะการัง มีพื้นที่หลบภัยกว้างขวาง เหมาะเป็นแหล่งอนุบาลเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ สามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ดี มีต้นทุนต่ำแต่เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้ถ่ายทอดวิธีการทำปะการังเทียมโดมทะเลให้ชาวบ้านลงมือทำและดูแลบำรุงรักษาในระยะยาว รวมถึงขยายผลเป็นอาชีพสร้างรายได้สู่ชุมชน ภายหลังจากวางปะการังเทียมโดมทะเล 1 ปี ธนาคารจะติดตามประเมินผล การเพิ่มขึ้นของพันธุ์ปลา การยึดเกาะของปะการัง การประเมินรายได้ของชุมชนจากการประกอบอาชีพที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากการจับสัตว์น้ำรอบปะการังโดมทะเล โดยไม่ต้องออกเรือไปไกล ช่วยลดเวลา ลดต้นทุนจากการใช้น้ำมัน และลดมลภาวะทางทะเล
ทั้งนี้ ภาคีเครือข่าย ได้แก่ กลุ่มจิตอาสาพนักงานธนาคารกรุงไทย (VVE Vayu Volunteer) ผู้แทนจาก ม.เกษตรศาสตร์ จากอำเภอเหนือคลอง ชาวบ้าน ครูและนักเรียน โรงเรียนบ้านเกาะปู ได้ร่วมกันนำปะการังเทียมโดมทะเล (Sea dome) จำนวน 60 โดม วางกระจายครอบคลุมพื้นที่จำนวน 1 ไร่ เพื่อให้ชาวบ้านทราบแนวเขตการทำประมงชายฝั่งบริเวณโดยรอบซั้งปลา และป้องกันปัญหาการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ทำลายระบบนิเวศ
ขณะเดียวกัน ธนาคารได้นำจุดแข็งด้านการเงิน มาถ่ายทอดผ่านกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (Financial Literacy) เพื่อวางรากฐานความรู้ ความเข้าใจ ส่งเสริมวินัยการออมให้แก่ชุมชนและเยาวชนในการบริหารจัดการทางการเงิน สามารถต่อยอดการลงทุนเพิ่มรายได้ โดยสนับสนุนการเลี้ยงปลิงทะเล 4,000 ตัว รวมถึงปลูกหญ้าทะเล 15,000 ต้น เพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะหอยชักตีน สัตว์เศรษฐกิจของชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งฟักไข่ตัวอ่อนของปลิงทะเล นอกจากนี้ เชฟอิน ณรงค์ฤทธิ์ แซ่ซอ เชฟชื่อดัง ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เชฟชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าสร้างอัตลักษณ์อาหารพื้นถิ่น โดยรังสรรค์เมนูปลิงทะเลและหอยชักตีนเป็นวัตถุดิบ อาทิ เมนูชักจะรัก เมนูกระทงทองสองเกลอ เมนูลัดเลาะเกาะปู เมนูมรกตอันดามัน เมนูต้มส้มหมึกเกลียวเหลียวหลัง
ในปี 2567 ธนาคารวางกรอบแนวทางการพัฒนาชุมชนเกาะปูอย่างต่อเนื่อง โดยยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและเมนูอาหารพื้นถิ่น เพื่อเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยว ส่งเสริมการจัดตั้งธนาคารปลิงทะเล ธนาคารปูม้า เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชน จัดตั้งธนาคารต้นกล้าหญ้าทะเล วางแผนจัดการขยะแบบ Zero Waste ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบเกาะ และออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมถอดบทเรียนสู่การเป็นชุมชนต้นแบบและขยายไปสู่ชุมชนอื่นต่อไป สอดคล้องกับกรอบการทำงานและสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) จำนวน 7 เป้าหมาย ประกอบด้วย ข้อ 1 ขจัดความยากจน ข้อ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม ข้อ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ข้อ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อ 14 อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ข้อ 15 ปกป้องระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ และข้อ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนำเป้าหมายดังกล่าวมาเป็นกรอบการดำเนินงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน เพื่อให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามวิสัยทัศน์ กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน
3597