- Details
- Category: CSR
- Published: Friday, 12 January 2024 01:12
- Hits: 3766
PTG เซ็น MOU ศาลเยาวชนและครอบครัว จ.ชลบุรี เปิดโครงการ ‘สร้างอาชีพ ปั้นบาริสต้า กับกาแฟพันธุ์ไทย’ สร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ
นางสุขวสา ภูชัชวนิชกุล (ที่ 4 จากขวา) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในโครงการ “สร้างอาชีพ ปั้นบาริสต้า กับกาแฟพันธุ์ไทย” เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ ร่วมกับ นายชุติเดช ศิริมงคล (ที่ 5 จากขวา) ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชลบุรี โดยมี นายอุดม ลาภิเศษพันธุ์ (ที่ 7 จากขวา) ประธานผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชลบุรี นางสาวรสสุคนธ์ ตันติวุฒิ (ที่ 7 จากขวา) ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชลบุรี นายอนันต์ รัตนมั่นคง (ที่ 3 จากขวา) ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด และคุณอรุณพงษ์ ทิพย์คงคา (ที่ 2 จากขวา) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยพิธีลงนามฯ จัดขึ้น ณ ห้องประชุมเฟื่องฟ้า องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี อ.เมือง จ.ชลบุรี
บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชลบุรี ในโครงการ “สร้างอาชีพ ปั้นบาริสต้า กับกาแฟพันธุ์ไทย” เพื่อส่งเสริม สนับสนุนเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลฯ ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ พร้อมเรียนรู้ ฝึกฝน รับผิดชอบและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในการประกอบอาชีพในธุรกิจร้านกาแฟ เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตในครอบครัว สังคม ได้อย่างปกติสุขและไม่ก่อให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ
นายชุติเดช ศิริมงคล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า “จากภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ซึ่งเยาวชนส่วนหนึ่งไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เกิดการกระทำที่ผิดไปจากกฎหมายบัญญัติหรือกติกาของสังคม ในขณะเดียวกันช่วงวัยรุ่นก็เป็นช่วงวัยที่สามารถดูแลตนเองได้ดีและมีความรับผิดชอบมากขึ้น พร้อมเข้าสู่สังคมของการทำงาน ดังนั้นการสร้างความมั่นคงด้านความเป็นอยู่ให้กับเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถือเป็นวิธีการแก้ไข บำบัดและฟื้นฟูอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนได้อย่างยั่งยืน”
อีกทั้งในปัจจุบันธุรกิจร้านกาแฟ เป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย การดื่มชา กาแฟ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทั้งในสถานที่ราชการ สถานที่ทำงานต่างๆ อาชีพบาริสต้าจึงเป็นอาชีพที่มีความต้องการสูงในท้องตลาด อีกทั้งยังเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความมุ่งมั่นและการฝึกฝนทักษะเพื่อให้สามารถก้าวสู่การเป็นบาริสต้าที่มีความเชี่ยวชาญได้ ต้องขอขอบคุณ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) สำหรับความร่วมมือในการร่วมเป็นเครือข่ายในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้ฝึกฝนทักษะการประกอบอาชีพและสามารถไปหาเลี้ยงชีพได้แม้ว่าจะออกจากกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว”
นางสุขวสา ภูชัชวนิชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า “ด้วยความมุ่งมั่นของ พีทีจี ที่อยากเห็นคนไทย ‘อยู่ดีมีสุข’ ซึ่งนอกเหนือจากการสนับสนุนเกษตรกรไทยแล้ว ในด้านการศึกษายังได้พัฒนาโครงการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการมอบพื้นที่การเรียนรู้ให้แก่นิสิต นักศึกษา ระดับอุดมศึกษาได้ทดลองลงสนามปฏิบัติงานจริงและเตรียมความพร้อมสู่การบริหารธุรกิจในอนาคต และโครงการที่จะเปิดประสบการณ์นอกห้องเรียนให้แก่นักเรียนในโรงเรียนต่างๆ เพื่อถ่ายทอดความรู้และทักษะอาชีพผ่านรุ่นพี่บาริสต้ากาแฟพันธุ์ไทย เพื่อให้เด็กๆ ได้ทดลองฝึกฝนทักษะและค้นพบศักยภาพในตนเอง”
“ความร่วมมือระหว่าง พีทีจี กับ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชลบุรี ในครั้งนี้ เป็นอีกก้าวครั้งสำคัญที่ได้ร่วมกันมอบโอกาสให้เด็กและเยาวชน เหมือนได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยร่วมกันจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมอาชีพบาริสต้า ณ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชลบุรี เพื่อมอบโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลฯ และผ่านการคัดเลือกจากเจ้าหน้าที่ของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดชลบุรี ได้เรียนรู้ ฝึกฝน ทักษะการประกอบอาชีพบาริสต้าผ่านการปฏิบัติงานจริง สามารถก้าวสู่การเป็นบาริสต้าที่มีความเชี่ยวชาญและสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคตเพื่อเป็นการบำบัดและฟื้นฟูเยาวชนอย่างครบวงจร ต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัว ดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข” นางสุขวสา กล่าวเสริม
1257