- Details
- Category: CSR
- Published: Monday, 29 December 2014 19:54
- Hits: 3475
PTTGC บทพิสูจน์ 'พีทีที จีซี'ดาวโจนส์ ยกเครดิตบริษัทคนไทย
บ้านเมือง : ในแวดวงธุรกิจชั้นนำระดับสากลต่างก็รู้จักถึงความสำคัญของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices : DJSI ) ที่มีการประเมินโดย RobecoSAM และนำมาใช้ในการวัดผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development : SD) และได้รับการยอมรับในระดับโลก DJSI จึงเป็นดัชนีหลักทรัพย์ที่ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก เป็นเกณฑ์ที่กองทุนทั่วโลกใช้ในการพิจารณาการลงทุน โดยมั่นใจว่าบริษัทที่ได้รับการรับรอง DJSI จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนให้กับผู้ลงทุน
ด้วยเหตุนี้ บริษัทในตลาดทุนหลายแห่งทั่วโลกจึงต่างมุ่งหวังที่จะได้รับคัดเลือกให้ติดอันดับ DJSI ในแต่ละปี แต่จำนวนบริษัทเหล่านี้มีเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่สามารถฝ่าด่านขึ้นมาได้
ทั้งนี้ เนื่องจาก DJSI คือการจัดอันดับความยั่งยืนทางธุรกิจระดับโลก ที่ไม่ได้คำนึงถึงเพียงแนวทางด้านธุรกิจเท่านั้นแต่ยังมองครอบคลุมไปยังเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อม ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น จรรยาบรรณทางธุรกิจ การบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เป็นต้น
ในปีนี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC บริษัทของคนไทย ได้รับคัดเลือกและถูกจัดให้เป็น 1 ใน 10 บริษัทชั้นนำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ (Chemical Sector) ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนไปดูวิธีการประเมินและจัดอันดับ DJSI จะพบว่าไม่ง่ายเลยที่จะก้าวมาถึงจุดนี้ เพราะต้องผ่านการคัดเลือกจากบริษัทในตลาดทุนทั่วโลกที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนประมาณ 2,500-3,000 ราย และประเมินผลจากข้อมูลของบริษัทเพื่อคัดเลือกให้เหลือเพียงบริษัทที่มีการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างชัดเจน
จากกลุ่มผู้ผลิตเคมีภัณฑ์จำนวน 93 บริษัท จากนั้นถูกคัดเลือกเพียงประมาณ 10% ที่มีความเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกลุ่มนี้มีผู้นำระดับโลกเพียงจำนวน 11 บริษัทเท่านั้น และ PTTGC เป็น 1 ใน 11 ในบริษัทชั้นนำ เมื่อเทียบกับทั่วโลกและยังเป็นหนึ่งเดียวในเอเชียที่ถูกจัดอันดับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในระดับสากลต่อการทุ่มเทในการดำเนินงานเพื่อสร้างความสมดุล
สำหรับใน 3 ประเด็นหลักตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนี้เศรษฐกิจ-คิดค้นนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ตามความต้องการของลูกค้า สอดรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก (Innovation and Product Development) ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Products) เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร (Bioplastics) ชนิด Polylactic Acid (PLA) เป็นต้น
ด้านสังคม-สร้างการยอมรับและความไว้วางใจจากชุมชนเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น นำไปสู่การเติบโตไปด้วยกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนด้วยแนวคิด Creating Shared Value (CSV) ผ่านโครงการ CSR ในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและสังคมที่แท้จริง เช่น โครงการด้านการศึกษา : การจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระยอง (RAIST) และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KWIT) เป็นต้น
ด้านสิ่งแวดล้อม-ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Process) โดยการติดตั้งตัวหน่วยดักจับไอไฮโดรคาร์บอน (Vapor Recovery Unit : VRU) ที่จะปล่อยสู่บรรยากาศและติดตั้งหอเผาระบบปิดระดับพื้นดิน (Enclosed Ground Flare : EGF) ช่วยลดเขม่าและควันจากการเผาไหม้ เป็นต้น
ปัจจัยสำคัญที่ PTTGC สามารถก้าวมายืนในจุดนี้ เริ่มต้นนับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อ 19 ตุลาคม 2554 เพื่อก้าวขึ้นเป็นแกนนำธุรกิจเคมีภัณฑ์ของ กลุ่ม ปตท. ด้วยกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ รวม 8.8 ล้านตันต่อปี และกำลังการกลั่นน้ำมันดิบและคอนดอนเสท รวม 280,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นครบวงจรที่ใหญ่สุดในไทย และเป็นบริษัทชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สะท้อนวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต
ส่วนพร้อมกับกำหนดพันธกิจที่สำคัญ ได้แก่ ผู้ถือหุ้น (Shareholder) : ส่งมอบผลตอบแทนที่เป็นธรรมและยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหุ้น ด้วยการบริหารผลประกอบการที่เป็นเลิศอย่างน่าเชื่อถือ สังคม (Society) : ผสานความรับผิดชอบต่อสังคมและความใส่ใจสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน คู่ค้า (Business Partner) : เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแก่คู่ค้าด้วยสินค้าและบริการเชิงนวัตกรรม และสุดท้าย คือ พนักงาน (Employee) : สร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้วยบรรยากาศการทำงานที่เป็นสุข ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรให้ความเป็นเลิศอย่างมืออาชีพ
อย่างไรก็ตามปี 2558 ภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ จึงนับเป็นความท้าทายสำคัญของ PTTGC ในการดำเนินงาน ที่มุ่งมั่นดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กัน เพื่อสร้างความเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน