- Details
- Category: CSR
- Published: Tuesday, 17 October 2023 17:10
- Hits: 1891
ไทยยูเนี่ยนคว้าอันดับ 1 ดัชนีอาหารทะเลยั่งยืน SSI 3 ปีซ้อน ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ UN
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดอันดับในดัชนี Seafood Stewardship Index หรือ SSI อยู่ในอันดับที่ 1 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ในฐานะผู้นำในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและมีการทำงานสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
โดยดัชนี Seafood Stewardship Index นี้มีองค์กร World Benchmarking Alliance (WBA) เป็นผู้ประเมินและจัดอันดับจาก 30 บริษัทด้านอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดและทรงอิทธิพลที่สุดในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ในแง่ของหลักธรรมภิบาล กลยุทธ์ ระบบนิเวศ ความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับได้ และความรับผิดชอบต่อสังคม
องค์กร World Benchmarking Alliance (WBA) กล่าวว่าไทยยูเนี่ยนได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่ “มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรม ในความพยายามของบริษัทเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเรือประมงที่จัดหาวัตถุดิบให้นั้นมีสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่ดี และยังคงมีการเฝ้าสังเกตเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับและมีการแสดงหลักฐานในการพัฒนาปรับปรุงต่างๆ”
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ที่ไทยยูเนี่ยน เรามีวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำธุรกิจอาหารทะเลที่ได้รับความไว้วางใจที่สุดในโลก ดังนั้นเราจึงตระหนักดีว่า สิ่งที่จะทำให้เราบรรลุวิสัยทัศน์นี้ก็คือเราจะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ในการผลิตของเราเท่านั้นแต่ยังรวมถึงการจัดหาวัตถุดิบทั่วโลกทั้งหมดของเรา เราภูมิใจกับผลงานความสำเร็จที่ผ่านมาแต่ก็ยังมองว่ายังมีความท้าทายอีกมากรอเราอยู่ข้างหน้า ไทยยูเนี่ยนยังคงมุ่งมั่นในการทำงานผ่านโครงการและแนวทางต่างๆ ที่จะสร้างผลลัพธ์ที่เกิดประโยชน์แก่ผู้คนและสิ่งแวดล้อมบนโลก”
ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับต้นๆ ด้านความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับได้ ส่วนหนึ่งจากการทำงานอย่างสม่ำเสมอของบริษัทและการเปิดเผยข้อมูลภายใต้โครงการของ Ocean Disclosure ที่ส่งเสริมด้านความโปร่งในใสอุตสาหกรรมอาหารทะเลโดยบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจอาหารทะเลสามารถแสดงข้อมูลการจัดหาอาหารทะเลสู่สาธารณชนได้ นอกจากนี้ยังรวมถึงข้อมูลและขั้นตอนการทำงานต่างๆ ของหลักธรรมาภิบาลและกลยุทธ์ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านความยั่งยืนตามกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัท ไทยยูเนี่ยนยังทำผลงานได้ดีในการเปิดเผยการทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และรายงานผลจากการทำงานร่วมกันนั้น
ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของดัชนี SSI ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 2 ปี และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วนับจากครั้งแรกในปี 2562 และครั้งที่ 2 ในปี 2564 โดยการที่ไทยยูเนี่ยนสามารถคว้าอันดับที่ 1 ได้ในการจัดอันดับดัชนี SSI ในครั้งที่ 3 นี้เป็นการตอกย้ำความสำเร็จของกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ที่ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีการขยายเป้าหมายถึงปี 2573 เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารทะเลโลก
นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การที่ไทยยูเนี่ยนได้รับการจัดอันดับในดัชนี SSI ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานด้านความยั่งยืนของเราได้ส่งผลบวกต่อธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลก ไทยยูเนี่ยนได้คะแนน 47.5 จาก 100 คะแนนเต็ม แสดงให้เห็นว่ายังมีความท้าทายรอเราและอุตสาหกรรมอยู่อีกมาก ไทยยูเนี่ยนมีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าการทำงานของเราผ่านกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ที่ได้ขยายขอบเขตการทำงานผ่านพันธกิจ 11 ประการจะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับสากลและยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติถึง 10 ข้ออีกด้วย กลยุทธ์ SeaChange® 2030 ยังมีเป้าหมายใหม่ๆ ในด้านที่ SSI ทำการประเมิน ไม่ว่าจะเป็น ระบบนิเวศและความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับได้ ทำให้เรามองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาการทำงานของเราต่อไป”
นอกจากนี้ดัชนี Seafood Stewardship Index ยังการวัดว่าบริษัทอาหารทะเลชั้นนำของโลกได้ทุ่มเทในการจัดการอย่างยั่งยืนให้กับมหาสมุทรและระบบนิเวศชายฝั่งอย่างไร ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่ามาตรการต่างๆ ที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมีการดำเนินการ เพราะบริษัทเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการหล่อเลี้ยงผู้คนหลายพันล้านทั่วโลก ซึ่งทาง Seafood Stewardship Index ยังระบุว่าทั้ง 30 บริษัทที่ได้รับการประเมินนี้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อธุรกิจการประมงในโลกและสามารถเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้
ในการประเมินนี้ SSI กล่าวว่าไทยยูเนี่ยนยังมีแง่มุมในการทำงานที่สามารถพัฒนาอีกได้ เช่น ในด้านสิ่งแวดล้อมในการลดผลกระทบต่อระบบนิเวศจากการผลิตทั้งหมดได้อย่างไร
ทั้งนี้ กลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ยังมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 42 เปอร์เซ็นต์ในขอบเขตที่ 1, 2 และ 3 ภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 รวมถึงจัดสรรงบประมาณ บริษัทเป็นจำนวน 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่สำคัญ การเริ่มดำเนินการลดการปล่อยน้ำเสียเป็นศูนย์ ลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ในโรงงานหลัก 5 แห่งทั้งในและต่างประเทศ กุ้งเพาะเลี้ยงทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ของเรา จะต้องผลิตขึ้นโดยส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด ขยายขอบเขตการทำงานในเรื่อง อาหารทะเลที่จับจากธรรมชาติจะผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ ให้ครอบคลุมสายพันธุ์สัตว์น้ำหลักๆ ของธุรกิจ และสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย มีคุณค่า ยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย มีความเท่าเทียม
A10555